svasdssvasds

5G เพิ่งได้ใช้ แต่จีนเร่งพัฒนา 6G แล้ว คาดได้ใช้งานจริง ปี 2030

5G เพิ่งได้ใช้ แต่จีนเร่งพัฒนา 6G แล้ว คาดได้ใช้งานจริง ปี 2030

ล้ำหน้าไปอีก เมื่อจีนกำลังพัฒนาสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคม 6G บนคลื่นความถี่ที่จะทำให้เราใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้เร็วกว่าเดิมและหน่วงน้อยลง คาดพร้อมใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2030

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า หวัง จื้อฉิน ผู้นำกลุ่มฯ และรองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศจีนกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี โดยคาดว่าจีนจะทำการกำหนดมาตรฐาน 6G ในปี พ.ศ. 2568 และคาดว่าจะพร้อมใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573

ทางด้านกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน ประกาศว่า จีนได้ทำการจัดสรรคลื่นความถี่ 6 กิกะเฮิรตซ์สำหรับระบบ 5G และ 6G แล้ว

กระทรวงฯ ระบุว่า คลื่นความถี่ย่าน 6 กิกะเฮิรตซ์เป็นทรัพยากรคุณภาพสูงชนิดเดียวที่มีปริมาณการรับส่งข้อมูล (bandwidth) ขนาดใหญ่ในย่านความถี่กลาง ทั้งมีความครอบคลุมและจุดแข็งด้านความจุ พร้อมเสริมว่า คลื่นความถี่ดังกล่าวเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานกับระบบ 5G หรือระบบ 6G ในอนาคต

จาง อวิ๋นหมิง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่า ในขั้นถัดไปนั้น ทางกระทรวงฯ จะเสริมสร้างรากฐานสำหรับการใช้งาน 6G และเกื้อหนุนการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศ 6G ที่แข็งแกร่ง และขับเคลื่อนการกำหนดมาตรฐาน 6G ที่มีเอกภาพในระดับโลก

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน จีนประกาศข้อบังคับฉบับใหม่ ที่ระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนจะทำให้คลื่นความถี่ 6 กิกะเฮิร์ตซ์ พร้อมใช้งานกับระบบ 5G และ 6G ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ทำให้จีนเชื่อว่าตนเองเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 6 กิกะเฮิร์ตซ์ (6,425-7,125 เมกะเฮิร์ตซ์) หรือ ส่วนหนึ่งจากย่านความถี่ดังกล่าว เพื่อให้บริการด้านโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ซึ่งจะเอื้อต่อการส่งเสริมการแบ่งคลื่นความถี่ระดับโลกและระดับภูมิภาคที่สอดคล้องกัน และเพื่อจัดเตรียมทรัพยากรย่านความถี่กลาง (Mid Band) ที่เพียงพอต่อการพัฒนา 5G และ 6G

ปัจจุบันมีบริษัทผู้ประกอบการสัญชาติจีนจำนวนมากที่มีส่วนร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 6G อาทิ แซดทีอี (ZTE) หัวเหวย (Huawei) ยูนิซอค (UNISOC) วีโว (Vivo) และดีทีโมบายล์ (DTmobile)

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

 

related