เกิดเป็นกระแส หลังชาวเน็ต รู้สึกว่าจ่ายค่ามือถือเท่าเดิมแต่ความเร็วไม่เท่าเดิม ทำให้ กสทช. สั่งคณะอนุฯตามติดเรื่องนี้ ก่อนปีใหม่ต้องได้คำตอบ ชี้! ถ้าชาวเน็ต เชื่อว่าคุณภาพลดลงหลังควบรวม ทรูดีแทค ต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์อย่าใช้ความรู้สึก
กรุงเทพธุรกิจ อ้างอิงแหล่งข่าวภายใน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) หลังมีรายงานว่า ผู้ใช้บริการโทรคมนาคมหลายราย ถูกลดความเร็วอินเทอร์เน็ต 5G โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หลังมีค่ายโทรคมนาคมหนึ่งควบรวมกิจการกับผู้ให้บริการอีกราย
แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะหลังมีรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน หรือ dtac กล่าวว่า ปัญหาความเร็วอินเทอร์เน็ต 5G ที่มีกระแสว่า ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในบางพื้นที่นั้น ต้องอธิบายว่าในบางพื้นที่มีความหนาแน่นของการใช้ความจุโครงข่าย หรือ capacity ต่างกันแม้เอกชนจะเพิ่มสถานีฐานเคลื่อนที่หรือตัวรับสัญญาณแล้วก็ไม่เพียงพอในบางเวลาการใช้งานที่แบ่งเป็นช่วง Peak และ ช่องไม่หนาแน่น Off Peak
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งเพราะ สำนักงาน กสทช. ยังไม่เริ่มดำเนินการตรวจสอบความเร็วหลังเกิดการควบรวมบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค แม้จะมีกำหนดให้ส่งรายงานรอบ 6 เดือนคือ ตั้งแต่ 1 มี.ค.-30 ก.ย. 2566 เพราะเอกชนยังไม่ส่งมา ทำให้สำนักงาน กสทช.ได้ดำเนินการตรวจสอบเพียงแค่เบื้องต้นตามมาตรฐานเดิมคือการไดร์ฟ เทส ขับรถตระเวนไปทดสอบความเร็ว
โดยจะซื้อซิมการ์ดในแพคเก็จ 5G ของแต่ละค่ายในราคาที่แพงสุดคือราว 2,000 บาท มาทดสอบซึ่งก็พบว่าผ่านมาตรฐานความเร็ว
แหล่งข่าวระบุว่า จริงๆแล้วจะ สำนักงาน กสทช. จะต้องทำ Quality of service (QoS) ในทุกแพคเก็จตั้งแต่เริ่มต้น 399 บาท แพคเก็จกลาง 999 บาททำให้เกิดช่องโหว่ว่าในแพคเก็จ 5G ที่ไม่ใช่ราคาสูงสุดจะมีความเร็วลดลงได้บ้าง หากมีผู้ใช้งานที่เป็นแพคเก็จแพงอยู่ใกล้เคียงกัน เพราะเกิดการดึงคาปาซิตี้ไปใช้ก่อน
"การตรวจแบบไดร์ฟเทสต์ มันใช้มาเทียบเคียงว่าได้ทดสอบความเร็วของสปีดของค่ายมือถือแล้วสรุปว่าผ่านมันใช้ไม่ได้ เรื่องนี้สำนักงาน กสทช.ก็รู้ดี แต่ก็ยังไม่แก้ไข และทางอนุฯผู้บริโภคได้ทำเรื่องแจ้งไปยังบอร์ดให้รู้ถึงปัญหาและให้เร่งกำกับดูแลผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างจริงจัง"
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ตนได้มอบให้นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็นประธานคณะอนุฯติดตามผลการดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะแล้ว และคาดว่าก่อนปีใหม่น่าจะได้รู้ข้อเท็จจริงตามที่มีการร้องเรียนกันในโลกออนไลน์นั้น
"ต้องมีเอกสารใดมายืนยันได้ว่าค่าโทรแพงขึ้นจริงหรือคุณภาพสัญญาณแย่ลงจริง เพราะการเป็น กสทช.ไม่สามารถตอบได้ตรงนี้ ต้องมีข้อมูลเข้ามาสนับสนุน จะยึดเอาความรู้สึกไม่ได้"
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง