svasdssvasds

“แท็กซี่บินได้” มาแน่! รัฐบาลอังกฤษเร่งผลักดันให้เป็นจริงภายในสองปี

“แท็กซี่บินได้” มาแน่! รัฐบาลอังกฤษเร่งผลักดันให้เป็นจริงภายในสองปี

กระทรวงคมนาคม (DfT) แห่งสหราชอาณาจักร ได้เปิดแผนปฏิบัติการการบินแห่งอนาคต ซึ่งเสนอให้มี "แท็กซี่บินได้" ภายใน 2 ปี และจะมีอากาศยานที่ไม่มีนักบินภายในปี 2030

SHORT CUT

  • รัฐบาลอังกฤษผลักดันแผนแท็กซี่บินได้ใน 2 ปี และอากาศยานไร้นักบินภายในปี 2030 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • แผนนี้จะขยายขอบเขตการใช้งานโดรน ทั้งด้านความปลอดภัยและการขนส่งทางการแพทย์ โดยไม่ติดข้อจำกัดของน่านฟ้า
  • ความท้าทายสำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานและการยอมรับของสาธารณชน รวมถึงความสะดวกและความปลอดภัยในกระบวนการก่อนขึ้นเครื่อง

กระทรวงคมนาคม (DfT) แห่งสหราชอาณาจักร ได้เปิดแผนปฏิบัติการการบินแห่งอนาคต ซึ่งเสนอให้มี "แท็กซี่บินได้" ภายใน 2 ปี และจะมีอากาศยานที่ไม่มีนักบินภายในปี 2030

แผนการดำเนินการในอนาคตของการบินของรัฐบาลอังกฤษนี้ ยังรวมถึงการใช้โดรนต่อสู้กับอาชญากรรม และการส่งสินค้าหรือพัสดุสำคัญภายในสิ้นทศวรรษนี้ 

โดย “แผนงาน” หรือแผนการบินที่ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น จะหมายถึงการนำเทคโนโลยี “ที่เคยถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตของการทดลองทางวิทยาศาสตร์” มาใช้งานจริง ซึ่งตามข้อมูลของ DfT การใช้เทคโนโลยีโดรนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ถึง 45 พันล้านปอนด์ภายในปี 2030

รัฐมนตรีกระทรวงการบินและเทคโนโลยี แอนโทนี่ บราวน์ กล่าวว่า "เทคโนโลยีแบตเตอรี่สมัยใหม่จะปฏิวัติการขนส่งอย่างที่เรารู้กัน แผนนี้จะทำให้แน่ใจได้ว่าเรามีโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบเพื่อทำให้มันเกิดขึ้นจริง ตั้งแต่แท็กซี่บินได้ไปจนถึงโดรนบริการฉุกเฉิน เรากำลังทำให้แน่ใจว่า สหราชอาณาจักรเป็นแนวหน้าของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านการขนส่ง ปรับปรุงชีวิตของผู้คน และส่งเสริมเศรษฐกิจ"

ข้อเสนอดังกล่าวจะอนุญาตให้โดรนบินได้เหนือ Visual Line of Sight (BVLOS) หมายความว่าผู้ที่ควบคุมโดรนไม่สามารถมองเห็นมันในอากาศได้ เพื่อให้ภาคส่วนนี้สามารถเติบโตได้โดยไม่ติดข้อจำกัดของน่านฟ้าเหมือนเครื่องบินลำอื่น

และยังตั้งเป้าที่จะฟื้นฟูสนามบินขนาดเล็ก ด้วยการกำหนดให้มันทำหน้าที่เป็นจุดกลับตัวสำหรับเครื่องบินไฟฟ้าที่บินขึ้นในแนวตั้ง (รู้จักกันในชื่อเครื่องบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งด้วยไฟฟ้าหรือเครื่องบิน eVTOL)

แผนดังกล่าวของอังกฤษ มุ่งหวังต่อยอดการใช้เทคโนโลยีโดรนในปัจจุบัน เช่น การใช้งานของตำรวจเวสต์มิดแลนด์เพื่อจัดการกับอาชญากรรมรุนแรงและพฤติกรรมต่อต้านสังคม ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ทีมโดรนสามารถระบุตัวผู้กระทำผิดสองคนและผู้ต้องสงสัยอีกคนได้สำเร็จด้วยความเร็วและระยะทางจนเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการติดตาม

ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการโดรน Skyfarer ได้ร่วมมือกับ University Hospitals Coventry และ Warwickshire NHS Trust และ Medical Logistics UK เพื่อทดสอบโดรนเพื่อส่งตัวอย่างการผ่าตัดและพยาธิวิทยาระหว่างไซต์งาน ช่วยลดเวลาในการจัดส่งได้ถึง 70%

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการนำแท็กซี่บินได้ขึ้นฟ้าคือโครงสร้างพื้นฐานและการยอมรับของสาธารณชน เคร็ก โรเบิร์ต หัวหน้าฝ่ายโดรนของบริษัทที่ปรึกษา PwC กล่าว

เมื่อปีที่แล้ว เขาได้ร่วมเขียนรายงานในหัวข้อนี้ โดยร่วมมือกับรัฐบาล เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี

“มันท้าทาย แต่เป็นไปได้ที่จะเริ่มแท๊กซี่บินได้ในปี 2026 โดยอาจเริ่มต้นจากการทดแทนเฮลิคอปเตอร์” ก่อนที่ความต้องการจะค่อยๆ แพร่กระจายไปยังประชาชนในวงกว้าง ความสะดวกสบายจะต้องเป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจน ผ่านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการคัดกรองความปลอดภัย

รายงานของ PwC สันนิษฐานว่าต้องใช้เวลา 10 นาทีตั้งแต่มาถึงจุดจอดแท็กซี่บินได้จนถึงเวลาขึ้นเครื่อง ซึ่งขณะนี้มีความท้าทาย เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการผ่านสนามบินทั่วไป

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เอริก อดัมส์ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กเปิดเผยแผนเดียวกัน เพื่อใช้แท็กซี่ไฟฟ้าทางอากาศภายในปี 2025/26 เพื่อขนส่งผู้คนไปและกลับจากสนามบินเช่นกัน

ที่มา : gov.uk

related