svasdssvasds

“สามก๊ก ฉบับชาติวิบัติ” หนังสือที่อยากให้ “บิ๊กตู่” อ่าน

“สามก๊ก ฉบับชาติวิบัติ” หนังสือที่อยากให้ “บิ๊กตู่” อ่าน

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ถึงหนังสือ “สามก๊ก ฉบับชาติวิบัติ” ที่สะท้อนและเสียดสีการเมืองไทยได้อย่างมีอารมณ์ขัน และน่าจะเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่หลายๆ คนอยากให้บิ๊กตู่อ่าน

แม้เหตุการณ์ในวรรณกรรมในสามก๊ก จะผ่านมาเนิ่นนานหลายร้อยปี แต่ก็ยังมีการนำมาเล่าสู่กันทุกยุคทุกสมัย เพราะทำให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ที่ต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายหลอกล่อกันอย่างซับซ้อน ที่สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของผู้คนในแวดวงการเมืองได้เป็นอย่างลุ่มลึก

ส่วนสามก๊กในเวอร์ชั่นของ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต อดีต กกต. ที่ SpringNews จะพาไปทำความรู้จักนี้ เป็นเวอร์ชั่นที่เขียนขึ้นมาผ่านเพจเฟซบุ๊กของอาจารย์เอง เพื่อเสียดสีการเมืองไทย แต่ขณะเดียวกันก็เสมือนเป็นการบันทึกความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยได้อย่างน่าสนใจ

ซึ่งในวันนี้อาจารย์ได้รวบรวมบทความดังกล่าว รวมเล่มเป็นหนังสือที่ใช้ชื่อว่า “สามก๊ก ฉบับชาติวิบัติ” เล่ม 1 และ เล่ม 2 โดยอาจารย์ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจ กลวิธีการนำเสนอ และความน่าสนใจทั้งในส่วนของสามก๊กเวอร์ชั่นออริจินัล กับสามก๊ก ฉบับชาติวิบัติ ไว้ดังต่อไปนี้

“สามก๊ก ฉบับชาติวิบัติ” เล่ม 1 และ เล่ม 2 ผลงานของ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต อดีต กกต.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเปรียบเทียบวรรณกรรมสามก๊ก กับการเมืองไทย

วรรณกรรมสามก๊ก ได้อ้างอิงเหตุการณ์ในพงศาวดารสามก๊ก ช่วงปี พ.ศ. 727 - 823 ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นกำลังอ่อนแอ ทำให้เกิดผู้ตั้งตนเป็นใหญ่มากมาย แบ่งออกเป็นหลายก๊ก และได้สู้รบกัน จนเหลือเพียงสามก๊ก และเหลือเพียงก๊กเดียวในที่สุด

เนื้อหาในวรรณกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้ตรงตามพงศาวดารแบบเป๊ะๆ แต่ว่ากันว่า เป็นเรื่องจริง 7 ใน 10 ส่วน โดยอาจารย์ได้เล่าคร่าวๆ ถึงเนื้อในวรรณกรรมสามก๊กเวอร์ชั่นออริจินัล ที่เชื่อมโยงมายังการเมืองไทย จนกลายเป็นสามก๊ก ฉบับชาติวิบัติ ไว้ว่า

“ทุกคนที่เคยอ่านวรรณกรรมสามก๊ก ได้เห็นบทบาทของตัวละคร ก็จะเห็นถึงบุคลิก ลักษณะ ความสามารถ ความเป็นผู้นำ ตลอดจนเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมันก็เป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน (ระหว่างการทำสงคราม) ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญก็คือกลยุทธ์ในทางการศึก หรือกลยุทธ์ในการปกครองของแต่ละฝ่าย  

“หลายคนก็พูดว่า เวลาอ่านสามก๊ก มันสามารถสะท้อนให้เห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นคล้ายคลึงกับการเมืองในประเทศต่างๆ ซึ่งพอนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ผมว่าก็มีความละม้ายคล้ายคลึงอยู่หลายอย่าง

“เบื้องต้นเมื่อเราพูดถึงสามก๊ก ต้องปูพื้นหลังก่อนนะครับว่า มันประกอบด้วยก๊กสามก๊ก ถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ทำให้จีนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

“ราชธานีส่วนกลาง เรียกว่าวุยก๊ก (ก๊กของโจโฉ) เมืองหลวงอยู่ทางตอนเหนือ มีตัวละครหลักคือ มหาอุปราชโจโฉ ที่เปรียบได้กับนายกรัฐมนตรี

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต อดีต กกต. เปรียบเทียบการเมืองไทย กับยุคสามก๊ก แม้เวลาจะเนิ่นนานห่างกัน แต่มุนษย์ก็ยังคงกระหายอำนาจ ไม่เปลี่ยนแปลง

“ในวรรณกรรมสามก๊กจะพูดถึงบทบาทโจโฉ เป็นตัวร้ายสักนิดนึง แต่ความจริงแล้ว เขามีฐานะเป็นผู้ปกครองประเทศนะ เปรียบได้กับนายกรัฐมนตรี บางคนก็จะตีความว่า นี่คือสิ่งที่เขาจำเป็นต้องทำ แต่ว่าฝ่ายที่เขียนวรรณกรรม (หลอก้วนจง) ก็อาจเป็นฝ่ายตรงข้าม ละครตัวนี้จึงกลายเป็นตัวร้าย มีเล่ห์เหลี่ยม มีกระบวนการต่างๆ ในการขึ้นสู่อำนาจ

“อีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นฝ่ายตรงข้าม ผมก็เปรียบเหมือนเป็นพรรคฝ่ายค้าน ก็คือจ๊กก๊ก (ก๊กของเล่าปี่) ซึ่งเขาอาจจะอยู่ในดินแดนที่อยู่ห่างไกลออกไป อยู่ทางภาคตะวันตกของจีน อยู่ในทะเลทราย เดินทางไปลำบาก ก็เปรียบเทียบเหมือนกับพรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องพยายามรบสู้กัน เช่น พรรคเพื่อไทย ก็จะอยู่ฝั่งนี้

“อีกฝั่งหนึ่งเนี่ย ซึ่งเป็นก๊กที่สาม เรียกว่าง่อก๊ก (ก๊กของซุนกวน) จะอยู่ทางตอนใต้ของจีน แถบที่เป็นลุ่มแม่น้ำ เช่น เซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ง่อก๊กจะมีลักษณะอย่างหนึ่งคือ บางครั้งก็รบกับจ๊กก๊ก บางครั้งร่วมกับเล่าปี่ เพื่อไปรบกับโจโฉ แต่บางครั้งก็รวมกับโจโฉ รบกับเล่าปี่ แล้วท้ายที่สุดเนี่ยเขาบอกว่า ง่อก๊กสร้างความเสียหายให้กับเล่าปี่มากที่สุด เป็นก๊กซึ่งอยู่ระหว่างกลาง พร้อมที่จะแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับฝั่งใดฝ่ายหนึ่งได้ทุกเมื่อ

“เพราะฉะนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองไทย ราชธานีที่เป็นเมืองหลวง ก็เหมือนกับพรรคพลังประชารัฐ โจโฉก็จะเหมือนกับ พล.อ.ประยุทธ์ (โจตู่) ที่มีขุนพลที่สำคัญก็คือ สุมาอี้ แต่ท้ายสุด (สุมาเอี้ยนหลานของ) สุมาอี้ กลายเป็นคนซึ่งมาล้มราชวงศ์ของโจโฉ อันนี้เราก็ยังมองไม่เห็นนะครับว่า จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ แต่ก็มีความน่าสนใจอยู่ มีเรื่องราวหลายอย่างซึ่งเกือบคล้ายคลึงกันแล้ว

“พล.อ.ประวิตร เนี่ย ผมสมมติให้ก็เป็นสุมาป้อม เป็นขุนพลคู่ใจ แล้วเวลาเดินเรื่อง ทั้งสองคนเนี่ยแม้จะทำงานด้วยกัน แต่ก็คล้ายๆ จะมีอะไรที่มันแอบๆ ซ่อนๆ กันอยู่ลึกๆ

“อย่างในวรรณกรรมสามก๊ก สุมาอี้ทำงานให้โจโฉ แต่ก็มีอาเจนด้า มีบางอย่างที่แฝงอยู่ภายใน เพราะฉะนั้นวิกฤตของพลังประชารัฐ ที่ผ่านมาเนี่ย ถ้าสมมติว่า ร.อ.ธรรมนัส กระทำภายใต้การส่งเสริมจากคุณประวิตรเนี่ย มันเข้าเรื่องสามก๊กเลยนะ เหมือนกับว่าสองฝั่งนี้ โจโฉ สุมาอี้ แม้เป็นพวกเดียวกัน แต่ก็พร้อมที่จะต่อสู้กัน

“ในฝ่ายของจ๊กก๊ก ก็เปรียบเหมือนพรรคเพื่อไทย หรือพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ผมก็เปรียบตัวละครว่าเล่าปี่ อาจจะเหมือนคุณทักษิณ ที่ต้องพลัดพรากไปอยู่แดนไกล

“ส่วนง่อก๊ก ผมก็เปรียบเหมือนพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพร้อมจะอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ก็เหมือนกับที่มีการเรียกร้องให้เขาถอนตัวจากรัฐบาล เป็นต้น

“ซุนหนู (อนุทิน ชาญวีรกูล) ก็คือซุนกวนนั่นเอง ในฝั่งง่อก๊ก ส่วนของเรื่อง ร.อ.ธรรมนัส ที่อยู่ในหนังสือของผม จะใช้ชื่อว่า ขุนพลแป้งมัน ยังเป็นแค่ขุนพลคนหนึ่ง แต่ว่าหลังจากนี้ต่อไปเนี่ย ผมจะพยายามเปิดตัวอีกบทบาทหนึ่งของเขาขึ้นมา แล้วผมจะบอกว่า เขาคือ ตระกูลสุมาคนหนึ่ง

“นั่นหมายความว่าเป็นส่วนหนึ่งของสุมาป้อม ไม่ฆ่ากัน เป็นเครื่องมือซึ่งกันและกัน และก็ส่งเสริมซึ่งกันและกันด้วย ก็ไม่แน่ใจว่า จะเป็นการประเมินถูกหรือไม่”

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต อดีต กกต. เล่าถึงการเปรียบเทียบตัวละครต่างๆ อาทิ เปรียบเทียบ โจโฉ กับ บิ๊กตู่เปรียบเทียบ สุมาอี้ กับ บิ๊กป้อม เป็นต้น

เล่าเรื่องการเมืองไทย ในสไตล์สามก๊ก

อาจารย์กล่าวว่า การเขียนสามก๊ก ฉบับชาติวิบัติ เน้นให้เห็นความเชื่อมโยงของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ แม้ห้วงเวลาจะห่างกันหลายร้อยปี แต่ความกระหายในอำนาจของมนุษย์ ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด

“พอจับธีม จับกลุ่มต่างๆ ได้แล้วเนี่ย ก็เริ่มเขียนเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็ไม่ได้ยึดแนวของสามก๊กเป็นหลัก เพียงแค่ใช้สำนวนการเขียนแบบสามก๊ก และเรื่องราวที่มันเกิดขึ้นในแต่ละวัน เพราะฉะนั้นหนังสือของผมมันก็จะเป็นเหมือนกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือเล่าเรื่องราวที่มันเกิดขึ้นในบ้านเมืองเวลานี้ เพียงแต่ถ่ายทอดผ่านสำนวนโวหารแบบสามก๊ก

“ซึ่งมันมีความละม้ายกับการเมืองไทย ที่ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร แต่ละคนก็จะมีเล่ห์เหลี่ยมภายในของตัวเองอยู่ ถ้าจะอ่านอย่างเอาจริงเอาจัง หนังสือก็มีสาระ หากอ่านอย่างเล่นๆ ก็เป็นหนังสือซึ่งทำให้เกิดความเพลิดเพลิน

“โดยผมพยายามจะเชื่อมของเก่าก่อนนะ คืออย่างน้อยที่สุดในแต่ละตอน จะมีการพูดถึงสามก๊กในอดีตก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็เทียบกับสามก๊กที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันก็จะมีกรณีที่ว่า ในอดีตมีคนอย่างนี้เกิดขึ้น มีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แล้วปัจจุบันก็จะมีปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงกันเกิดขึ้น อันนี้จะพยายามเปรียบเทียบออกมา ทำให้คนอ่านได้เรียนรู้วรรณกรรมสามก๊กไปด้วย

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต อดีต กกต. เล่าถึงหลายเหตุการณ์ในสามก๊ก ที่คล้ายคลึงกับการเมืองไทย เป็นอย่างมาก

ยกตัวอย่าง การเชื่อมโยงเหตุการณ์ในวรรณกรรมก๊กสามก๊ก กับการเมืองไทย

และเพื่อให้เห็นภาพว่า เสน่ห์ของสามก๊ก ฉบับชาติวิบัติ คืออะไร ? ทำไมคนเขียนก็สนุก จนเขียนมาแล้วกว่าร้อยตอน ส่วนคนอ่านก็ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง อาจารย์จึงได้หยิบยกตัวอย่างตอนหนึ่งขึ้นมา ดังนี้  

“อย่างเรื่องตอนล่าสุดที่เขียน ผมพูดถึงโจโฉว่า ตอนที่หนีการไล่ล่าของตั๋งโต๊ะ ถ้าใครอ่านวรรณกรรมสามก๊ก จะจำได้ โจโฉจะลอบสังหารตั๋งโต๊ะ จึงเตรียมมีดไปอันหนึ่ง กำลังจะเข้าไปแทงในห้องนอน ปรากฏว่า ตั๋งโต๊ะตื่นขึ้นมาพอดี โจโฉก็เลยทำทีว่า เอามีดมาฝาก พอผ่านสถานการณ์ตรงนั้นไปได้ ก็รีบขี่ม้าหนี ตั๋งโต๊ะเพิ่งมานึกออก สงสัยมันจะมาฆ่าเรา ก็สั่งให้มีการไล่ล่า

“ในช่วงของการหลบหนี มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น โจโฉไปหาคนที่เขารู้จัก ชื่อแปะเฉีย ซึ่งแปะเฉีย ก็รับรองอย่างดี แต่อาหารอาจจะไม่เพียงพอ ก็ขอตัวไปตลาด จึงสั่งพ่อครัวให้ดูแลอาหารการกินให้กับโจโฉ แล้วโจโฉไปได้ยินพ่อครัวคุยกันว่า จะมัดก่อนแล้วค่อยเชือดดีไหม (พ่อครัวหมายถึงหมู ที่จะนำมาทำอาหารให้กับโจโฉ และตันก๋ง) 

“ด้วยประโยคนี้เพียงแค่ได้ยินว่า จะมัดก่อนค่อนเชือดดีไหม ก็เกิดความรู้สึกกังวล ไอ้เนี่ยเป็นฝ่ายของตั๋งโต๊ะ จะมัดแล้วเชือดเราส่งตั๋งโต๊ะหรือเปล่า ก็เลยฆ่าครอบครัวของแปะเฉียหมดเลย (ฆ่าแปะเฉียด้วย) ซึ่งมันเป็นที่มาของประโยคของโจโฉที่ว่า “ข้าพเจ้ายอมทรยศคนทั้งโลก แต่ไม่ยอมให้ใครทรยศข้าพเจ้า”

“ผมก็เลยคิดว่า เออนะ คล้ายกับเหตุการณ์หนึ่ง แอบได้ยินมาหรือเปล่าว่าคนนี้เขาจะล้มเรา เลยสั่งฆ่าซะ นี่คือการเปรียบเทียบให้เห็น บางเหตุการณ์ก็อาจจะนำมาเทียบเคียงได้ว่า บางครั้งเนี่ย พอเราไปได้ยินเรื่องราวบางเรื่องมา เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่จะฆ่าเรานะ ถ้านั้นสั่งฆ่ามันก่อน ไม่ยอมสืบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ก็สั่งดำเนินการไปเลย ก็คล้ายๆ กับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น (บิ๊กตู่สั่งปลดธรรมนัส จาก ครม.)

“อาจได้ยินมาจากหูหรือใครเล่าให้ฟังก็ไม่รู้ ว่าคนนี้เขาเตรียมจะฆ่าเรา ซึ่งอาจจะใช่ หรืออาจไม่ใช่ก็ได้ แต่ว่าหนังสือผม ผมก็พยายามเขียนออกมาในเชิงตลกน่ะ ให้ฟังผิดคำผิดความหมาย

“ยกตัวอย่าง เช่น ธรรมนัส ขุนพลแป้งมัน กับเล่าซือตั้วมัก เล่าซือ หมายถึง อาจารย์ใหญ่ / ตั้วมัก หมายถึง ตาโต คือ บิ๊กอาย ขุนพลแป้งมันก็คุยกับเล่าซือตั้วมักว่า เห็นคราวนี้ต้องสัประยุทธ์ คำว่าสัประยุทธ์ คือรบกับฝ่ายตรงข้าม

“แต่โจตู่ได้ยินว่า สับประยุทธ์ ซึ่งคำๆ หนึ่งถ้าฟังไม่ดี มันก็เป็นอีกความหมายหนึ่ง เพราะสัประยุทธ์ หมายความว่า จะไปต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม เราต้องร่วมมือกันเพื่อไปสัประยุทธ์ แต่ถ้าฟังไม่ดี ก็อาจเข้าใจว่า จะสับประยุทธ์”

“สามก๊ก ฉบับชาติวิบัติ” เล่ม 1 และ เล่ม 2 ผลงานของ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต อดีต กกต. หนังสือที่หลายคนลุ้นอยากให้บิ๊กตู่ได้อ่าน

สัจธรรมทางการเมืองที่เรียนรู้ จากวรรณกรรมสามก๊ก

แน่นอนว่า ในแง่ของวรรณกรรม สามก๊กก็ได้พิสูจน์คุณค่าผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน จนได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมระดับโลก ส่วนสิ่งที่เรียนรู้ในแง่ของการเมืองนั้น รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวว่า

“มันเป็นเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องของการที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ โดยที่อาจไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม นี่คือจิตใจมนุษย์น่ะ ว่าต้องการสิ่งนี้

“แล้วคนที่มีคุณธรรม คนที่ตรงไปตรงมาในวรรณกรรมเนี่ย อยู่ไม่ได้นะ ซึ่งมันมีหลายต่อหลายฉาก ที่มีคนพยายามจะสื่อสาร บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นไม่ถูกต้อง แต่รัฐบาลก็แปลความหมายว่า จะเป็นฝ่ายที่มาทำลายรัฐบาล ก็จะไปทำร้ายเขา

“เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ ก็คือว่า ถ้าทุกคนได้พยายามมองจากมุมที่กว้างลงไปว่า เหตุการณ์จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร เสียงวิจารณ์ต่างๆ ที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล มันอาจจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องนำมาขบคิด นำไปปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น

“มีหลายเรื่องที่ผมแทรกเข้าไป อย่างตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้ทีมงานกฎหมายไปฟ้องคุณจอห์น วิญญู ซึ่งคุณจอห์น วิญญู เขาก็วิจารณ์ทุกรัฐบาล เพื่อสะท้อนว่า ประชาชนคิดอย่างไร ผมก็นำไปเปรียบเทียบกับสามก๊กได้อีก

“โดยในวรรณกรรมสามก๊กจะมีตัวละครตัวหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะพูดตรงไปตรงมา ทำให้ไม่ถูกหูโจโฉ ชื่อ ยี่เอ๋ง เป็นบัณฑิต แต่ว่าเขาไม่สนใจสังคม แต่งตัวมอซอ โจโฉไม่พอใจขุนนางคนนี้ จึงไล่ให้ไปทำงานต่ำที่สุด คือตีกลอง

“ปรากฏว่าวันที่มีงานเฉลิมฉลอง ยี่เอ๋งก็มาตีกลอง แล้วตีได้ท่วงทำนองไพเราะมาก โจโฉก็ขอดูตัว ยี่เอ๋งก็มาด้วยชุดซอมซอ โจโฉก็ถามว่า ทำไมใส่ชุดสกปรกมอมแมมแบบนี้

“ยี่เอ๋งก็บอกว่า ใจเขาสะอาด ก็มาตีกลองต่อหน้าโจโฉ แล้วก็ถอดเสื้อผ้าทิ้งหมดเลย เพื่อให้เห็นว่า ร่างกายของเขาก็สะอาด  

“โดยประโยคหนึ่งที่เขาพูดกับโจโฉ มันแทบจะเอามาพูดให้ พล.อ.ประยุทธ์ ฟังได้เลย โจโฉถามว่า แล้วเรือนร่างใครสกปรก คำตอบของยี่เอ๋งจึงเสียดใจผู้เป็นมหาอุปราชอย่างยิ่ง หูของท่านสกปรก เพราะประสงค์ได้ยินแต่คำเยินยอ ตาของท่านสกปรก เพราะประสงค์จะเห็นเพียงแต่สิ่งที่สวยงาม ใจของท่านสกปรก เพราะไม่คิดฟังความเห็นของอาณาประชาราษฎร์

“แต่ตายนะครับ ตอนหลังโดนสั่งประหาร ไม่รอดหรอกครับ จุดจบอายุเพียง 25 ปี ก็คือถูกประหารชีวิต แต่มันก็สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองประสงค์เพียงแค่ฟังเสียงเยินยอ มองแต่สิ่งสวยงาม แล้วก็ไม่ฟังเสียงของอาณาประชาราษฎร์ว่า เขาคิดกันอย่างไรบ้าง แต่พอมีบัณฑิตพูดความจริง ก็กลับกลายเป็นว่าคนๆ นี้เป็นผู้ไม่หวังดี

“ก็สะท้อนให้เห็นว่า คนเป็นผู้ปกครองของรัฐ ต้องใจกว้าง และต้องฟังเสียงประชาชน อย่ามองแต่สิ่งที่สวยงาม ฟังแต่รายงานของพวกเดียวกันเอง สถานการณ์โควิดดีแล้ว ทุกอย่างดีขึ้น อย่างนี้เป็นต้น

“คนรอบข้างจะพูดแต่สิ่งดีๆ ให้เราสบายใจ เพราะเขารู้สึกว่า ถ้าพูดในสิ่งที่เราสบายใจแล้ว เราจะรักใคร่ เราจะส่งเสริมเขา เขาก็จะเยินยอเราสารพัด แต่คำเยินยอดังกล่าว มันไม่ใช่คำเยินยอที่เป็นจริง เพราะฉะนั้นต้องฟังเสียงของประชาชนว่า เขาคิดเห็นอย่างไรกัน”

related