svasdssvasds

มองเกมอย่างสมชัย : บิ๊กตู่ปลดธรรมนัสด้วยอารมณ์ ระวังสึนามิทางการเมือง

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. การเมืองไทยนับจากนี้ หลังบิ๊กตู่ปลดธรรมนัส จะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจารย์มองว่า นี่คือก้าวที่พลาดของบิ๊กตู่ ที่อาจจะทำให้เกิดสึนามิทางการเมืองตามมา

สถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้ มีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาแบบไม่คาดคิด ซึ่งอาจเป็นตัวแปรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างกรณีล่าสุด บิ๊กตู่ทุบกล่องดวงใจบิ๊กป้อม ปลดฟ้าผ่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ และ ดร. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ ออกจากตำแหน่ง รมช.แรงงาน

SpringNews สัมภาษณ์ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต และอดีต กกต. อย่างเจาะลึก ซึ่งอาจารย์บอกกับเราว่า คลื่นลมที่สงบในเวลานี้ อาจเป็นปรากฏการณ์ก่อนเกิดสึนามิ...

บิ๊กตู่ใช้อารมณ์ ปลดธรรมนัส กับนฤมล

SpringNews เปิดฉากด้วยการถาม รศ.สมชัย แบบตรงๆ จากกรณีบิ๊กตู่ปลด ร.อ.ธรรมนัส กับนฤมล จาก ครม. นั้นจะส่งผลดีหรือผลเสียอย่างไร กับตัวบิ๊กตู่เอง โดยอาจารย์ได้วิเคราะห์ดังนี้   

“ต้องยอมรับว่า ทั้งสองคงยังมีบทบาทสำคัญภายในพรรค และก็กุมตำแหน่งสำคัญด้วย คือ เป็นเลขาธิการพรรค เป็นเหรัญญิก รวมทั้งก็มีคนของเขาเป็นนายทะเบียนพรรค ไม่รวมกรรมการบริหารนะว่า เป็นคนของเขาอีกกี่คน

“และก็เป็นคนที่เคยมีบทบาทในอดีตมาตลอด สามารถทำให้การเลือกตั้งซ่อมหลายๆ ครั้ง หรือทุกครั้งของพลังประชารัฐ ได้รับชัยชนะ ก็เป็นคนที่มีฝีมือ เป็นคนที่ต่อกับ ส.ส.ฝ่ายต่างๆ เป็นคนที่ลงไปแก้ปัญหาต่างๆ ที่คนอื่นแก้ไม่ได้

“ดังนั้นผมจึงคิดว่า การตัดสินใจเอา 2 คนนั้นออกเนี่ย เป็นเรื่องซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อารมณ์ อาจจะได้ข่าวคราวมา ได้รายงานมาบางอย่าง แม้จะมีการเคลียร์กันแล้วก็ตาม กลับไม่จบ ซึ่งจริงๆ แล้ว มันควรจะจบ ตั้งแต่ตอนที่อภิปรายเสร็จแล้ว แล้วก็ผ่านเรียบร้อยแล้ว

“หลังโหวตฯ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ใจใหญ่ คือได้คะแนนน้อย ไม่เป็นปัญหา ใจใหญ่พอ แต่ว่าการตัดสินใจเอาธรรมนัสออกเนี่ย ใจไม่ใหญ่ ก็คือเป็นการทำให้เกิดปัญหาขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ ยิ่งไม่ไปปรึกษาหารือกับทาง พล.อ.ประวิตร ก่อนเนี่ย ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นทั้งสองคน (ธรรมนัส กับนฤมล) ลึกๆ เขาคงไม่มีใจแล้วแหละ ที่จะทำงานให้กับพรรค

“ความจริงเนี่ย การให้ออกจากตำแหน่งมันก็สามารถทำได้ ในจังหวะที่เหมาะสม เช่น อาจจะรอปรับพร้อมๆ กัน ปรับไปในคราวเดียวกัน คนก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องของการลงโทษ

“หรือถ้าต้องการจะปรับออก ก็ต้องให้เขามีที่เดินบ้าง เช่น บอกว่าเป็นการลาออก ไม่ใช่เป็นการไล่ออก คือขนาดเขาแถลงว่าลาออกนะ ยังไปแถลงทับว่าปลดออก เพราะฉะนั้นมันคือการไม่ไว้หน้ากัน จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่เดินต่อไปด้วยกันได้ลำบาก นี่คือจุดที่ผมเรียกว่า ความผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์”

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร

ข่าวที่เกี่ยข้อง

สถานการณ์เหมือนก่อนเกิดสึนามิ

รศ.สมชัย ได้เปรียบเทียบสถานการณ์ทางการเมือง กับสึนามิ ไว้อย่างน่าสนใจ ยิ่งนิ่ง ยิ่งสงบ ยิ่งมีโอกาสเกิดพายุใหญ่

“สถานการณ์มาถึงจุดที่ต้องเดินอย่างไรต่อเนี่ย ผมคิดว่าจะต้องปรับเอาคนอื่นมาทำหน้าที่เลขาธิการ เหรัญญิก หรือกรรมการบริหารในตำแหน่งที่สำคัญ จะให้คนซึ่งไม่มีใจ มาอยู่ในตำแหน่งสำคัญ มันก็อันตรายเกินไป

“เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่มีการประชุมพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัสก็เข้าร่วมด้วย ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความราบเรียบ คือ คุยกันดี ร่วมกันทำงานต่อ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มีการแต่งตั้ง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มาเป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรค

“ผมคิดว่าสิ่งนี้ ถ้ามองในสายตาของคนที่ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด มองเห็นเรื่องราวทางการเมืองมาโดยตลอดเนี่ย ผมว่าเป็นคลื่นลมสงบที่น่ากลัว เหมือนกับพายุใหญ่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

“ก่อนสึนามิมาเนี่ย จะนิ่งมากๆ ทะเลจะนิ่งจะเงียบ ไม่มีลม คล้ายคลึงกันมากๆ ดังนั้น ณ วันนี้ ต้องประเมินให้ดีๆ ครับว่า แม้ภายนอกจะบอกไม่มีอะไรต่อกัน ภายในคืออะไร ? แล้วมันจะก่อให้เกิดผลอะไรตามมาบ้าง ?

“มันอาจจะสงบชั่วคราว เพราะว่าสมัยประชุมของสภาจะจบลงภายในสัปดาห์นี้ กว่าที่จะไปเปิดประชุมใหม่ ก็ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน ระหว่างนี้มีเวลาที่จะเคลียร์เรื่องราวต่างๆ ประมาณ 2 เดือน ต้องเคลียร์ให้ได้

“ถ้าเคลียร์ไม่ได้ ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ เปิดสภามาแล้ว ส.ส.ของคุณจำนวนหนึ่ง ใจไม่อยู่ด้วยแล้วเนี่ย อันตรายมาก การลงมติต่างๆ การขาดประชุมทำสภาล่ม การลงมติในกฎหมายที่สำคัญ ถูกคว่ำได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลอยู่ยาก”

ธรรมนัส พรหมเผ่า

หลังถูกปลด รมช.เกษตรฯ ธรรมนัส จะลาออกจากเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่ ?

SpringNews ถามต่อไปว่า เมื่อสถานการณ์มาถึงขั้นนี้ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ รอ.ธรรมนัส จะลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ โดย รศ.สมชัย ได้ให้คำตอบดังนี้

“ต้องดูท่าทีคุณประวิตรที่เป็นหัวหน้าพรรค คือการที่เขาอยู่เนี่ย เขาเป็นผู้ใหญ่ที่ทำให้ทุกฝ่ายอยู่นิ่ง แล้วก็ไม่มีปัญหาต่อกัน แต่เขาจำเป็นต้องมีเครื่องมือ มีบุคคลที่ช่วยเขาทำงาน ซึ่งขณะนี้ เขาคิดว่า เขายังต้องพึ่งคุณธรรมนัสอยู่ และขอว่าให้อยู่ด้วยกันไป

“แต่ลึกๆ ของคุณธรรมนัสเนี่ย เขาไม่อยากอยู่ เขาอาจจะอยู่เพื่อไว้หน้า พล.อ.ประวิตร อยากให้อยู่ก็อยู่ แต่ในใจเขาจะคิดตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรที่จะให้ตัวเองมีอนาคตทางการเมือง ถ้าอยู่ที่นี่ มันไม่มีอนาคตอยู่แล้ว

“เพราะฉะนั้นในแต่ละวันที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐเนี่ย โอกาสที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรค ก็มีมาก เพราะมีฐานะเป็นเลขาธิการ ซึ่งเป็นคนรู้เห็นเรื่องราวต่างๆ จัดการเรื่องราวต่างๆ

“สิ่งที่พลังประชารัฐต้องทำในขณะนี้ คือจะต้องฟื้นฟู ทำให้พรรคมีเอกภาพ ให้ ส.ส.รวมตัวกัน และพรรคยังมีเสน่ห์เพียงพอที่จะดึงนายทุนให้เข้ามาสนับสนุนให้มากขึ้น ดึงผู้สมัคร ส.ส.ที่มีคุณภาพ หรือมีโอกาสชนะเลือกตั้งเข้ามาให้มากขึ้น นี่คือสิ่งที่พลังประชารัฐต้องแสดงให้เห็น

“ไม่เช่นนั้นแล้วเนี่ย ภายใต้กติกาใหม่ที่แก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตร 2 ใบ มันจะกลายเป็นว่า ยกเอาประโยชน์ทั้งหมดนี้ให้กับพรรคเพื่อไทย ไม่ได้แก้เพื่อตัวเอง แต่แก้เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามได้ประโยชน์ ผมถึงบอกว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เป็นจุดเปลี่ยนจากสถานการณ์ที่เกิดจากการปลดรัฐมนตรี 2 คน และถ้าบริหารจัดการได้ไม่ดี โอกาสที่จะแพ้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะมีสูงมาก

“สิ่งที่มันมีแนวโน้มอยู่ด้วยกันขณะนี้ มันคือพร้อมออก แต่ไม่เปิดเผยท่าทีเท่านั้นเอง ซึ่งคนเป็นประธานยุทธศาสตร์ คนเป็นหัวหน้าพรรค ต้องอ่านเกมนี้ให้ออก ถ้าอ่านไม่ออก แล้วปล่อยให้เป็นแบบนี้ ผมคิดว่าจะเป็นจุดที่จะเสียเปรียบในอนาคต”

บิ๊กป้อม

บิ๊กป้อม จะอยู่ต่อ หรือพอแค่นี้ ?

จากเหตุการณ์ถูกน้องรักหักเหลี่ยมโหด แม้จะไม่แตะต้องบิ๊กป้อม แต่การทุบกล่องดวงใจด้วยการปลดธรรมนัส-นฤมล ก็ทำให้บิ๊กป้อมกระอักในระดับต้องกลืนเลือด ฉะนั้นแล้ว บิ๊กป้อมจะตัดสินใจอย่างไรในทางการเมืองต่อไป ? รศ.สมชัย ได้วิเคราะห์ว่า

“พล.อ.ประวิตร คงประคองสถานการณ์ไปก่อน โดยที่มีประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐคนใหม่ ผมไม่แน่ใจว่าเขาคิดเอง หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งมาเพื่อควบคุม เพราะบรรยากาศการประชุมวันที่ 15 กันยายน พล.อ.ประวิตรนั่งอยู่ ถัดมาเป็น พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่เข้ามาใหม่ เป็นประธานยุทธศาสตร์ แล้วค่อยมาธรรมนัส

“นั่นแปลว่าอะไรครับ มีตัวกลางแทรก มีคนมาคั่นกลาง คนที่คอยคุมเกม คนที่จะคอยบอก พล.อ.ประวิตร ว่าอย่าไปทำอย่างนู่น อย่าไปทำอย่างนี้ นั่นคือความพยายามยื่นมือเข้ามา ถ้าคุณประยุทธ์เป็นคนส่งมาเอง ก็แสดงถึงความไม่ไว้วางใจที่มีต่อคุณประวิตรแล้วว่า ปล่อยให้อยู่กับนักการเมืองมากเกินไปไม่ได้ ต้องมีคนที่เข้ามาคุมสถานการณ์ เข้ามาดูแล ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น

“ถ้า พล.อ.ประวิตร เห็นแก่มิตรภาพ ก็จะประคองกันอยู่ต่อไปแบบนี้ แต่ถ้าถึงวันหนึ่งที่ท่านทำประโยชน์ไม่ได้ คงคิดแหละครับว่า จะอยู่อย่างนี้ต่อไป หรือเปิดทางให้คนอื่นเข้ามาทำงานอย่างเต็มที่ อย่างที่ข่าวบอกว่า คุณประยุทธจะลงมาเอง มันก็อาจถึงจุดนั้นก็ได้”

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร

หากบิ๊กป้อมลาออก ต้องดูว่า ลาออกทางเทคนิค หรือลาออกเพราะถอดใจ ?

รศ.สมชัย มองว่า พรรคพลังประชารัฐไม่อาจปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังอยู่อย่างนี้ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงกรรมการและตำแหน่งภายใจพรรค ต้องเริ่มที่ พล.ประวิตร ลาออก เพื่อล้างไพ่ใหม่ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องจับตา หากบิ๊กป้อมลาออกนั้น มีวัตถุประสงค์ใด ลาออกทางเทคนิค หรือว่าเพราะถอดใจจริงๆ ?

“ผมพยายามวิเคราะห์ครับว่า การลาออกของ พล.อ.ประวิตร อาจมีความเป็นไปได้ 2 ประการ ประการที่ 1 ก็คือ เป็นเรื่องของเทคนิค เพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกรรมการบริหารพรรค

“เพราะข้อบังคับของพลังประชารัฐกำหนดไว้ว่า ตำแหน่งของกรรมการบริหารพรรค จะสิ้นสุดลง ถ้าประธาน หรือหัวหน้าพรรคลาออก พอ พล.อ.ประวิตรลาออก กรรมการคนอื่นก็จะพ้นสถานภาพไปด้วย และต้องมีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ ภายใน 45 วัน จากที่ประชุมใหญ่ของพรรค

“ฉะนั้นถ้าลาออก อาจจะเป็นเทคนิค เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหาร ล้างคุณธรรมนัสออก ล้างคุณนฤมลออก ล้างนายทะเบียนออก เป็นต้น

“หรืออาจจะเป็นประการที่ 2 พล.อ.ประวิตรเองก็เหนื่อย รู้สึกว่าอายุมากพอสมควรแล้ว และถึงเวลาที่ควรให้คนอื่นเข้ามาดูแลแทน

“เพราะฉะนั้นเราจะรู้ว่าเป็นแบบใด ลาออกเพราะน้อยใจ หรือลาออกทางเทคนิค เพื่อให้เกิดการเลือกกลับมา ให้ดูว่าหลังจากลาออกแล้วเนี่ย พล.อ.ประวิตรจะเสนอตัวเอง หรือยอมรับการเสนอชื่อตัวเองให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกหรือไม่

“ถ้าออกแล้วยอมกลับมา แปลว่าเป็นเทคนิค ถ้าลาออกแล้วลาออกเลย ไม่เอาอีกแล้วนี่ ก็เป็นความน้อยใจที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องรอดู แต่ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ไม่มีทางหรอกครับที่จะปล่อยให้ทุกอย่างราบเรียบ เหมือนไม่มีอะไรต่อกัน

“และก็ผมขอชมคุณธรรมนัส ณ วันนี้ ว่าเป็นคนที่ลึกจริงๆ หมายความว่า สามารถที่จะเก็บอารมณ์ความรู้สึก เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย น่ากลัวมาก น่ากลัว”

บิ๊กตู่

ความสัมพันธ์ของ 3 ป. จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ?

จากการปลด ร.อ.ธรรมนัส และนฤมล จะส่งแรงกระเพื่อมให้กับกลุ่ม 3 ป. ในระดับใด จะถึงขั้นแตกแยกกันเลยหรือไม่ ? ซึ่ง รศ.สมชัย ได้แสดงความคิดเห็นว่า

“ผมว่าเป็นความขุ่นเคือง แต่จะเป็นความแตกแยกหรือเปล่า ยังไม่รู้ เพราะความขุ่นเคืองที่เกิดขึ้น ในอารมณ์ความรู้สึกของคุณประวิตร เหมือนกับว่า ไม่เห็นหัว คือให้มาทำงานทางด้านการเมือง ก็เพื่อให้พรรคดังกล่าวชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องมีคน มีตัวช่วย มีมือ มีแขนซ้าย แขนขวา ที่จะช่วยในการทำงาน แต่ทางฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์กลับใช้อารมณ์ ไม่ปรึกษาหารือกันก่อน

“ซึ่งอย่างที่ผมบอกน่ะครับว่า มันมีจังหวะ โอกาสที่จะทำได้ภายหลังเมื่อไหร่ก็ได้ วันนี้มันจบไปแล้วอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จบลงไป เคลียร์แล้วก็ถือว่าเคลียร์แล้ว ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องแสดงออกมา

“แล้วถึงจังหวะเมื่อไหร่เนี่ย จะจัดการก็ไม่เป็นปัญหาหรอกครับ จังหวะที่ปรับ ครม.ทั้งคณะ หลายๆ ตำแหน่ง ค่อยๆ เอาออก ปรับเปลี่ยน โยกไปตำแหน่งที่อาจจะไม่มีอำนาจ แต่อย่างน้อยที่สุด ยังมีหน้ามีตา แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ลงโทษ มันก็สามารถทำได้

“หรืออาจจะบอกว่า ร.อ.ธรรมนัสมีภารกิจในพรรคมาก ในฐานะที่เป็นแม่บ้าน เป็นเลขาธิการพรรค ดังนั้นก็ให้ธรรมนัสแสดงจุดยืนเองว่า ผมไม่ขอรับตำแหน่งรัฐมนตรี ผมจะมุ่งมั่นทำงานในพรรคอย่างเต็มที่

“มันมีวิธีการพูดที่ดีกว่านี้ แล้วก็สามารถทำให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้ แต่คุณประยุทธ์ทำไม่เป็น นี่คือจุดอ่อนของคุณประยุทธ์ ที่เขาบริหารด้วยอารมณ์ เพราะฉะนั้นมันก็จะเกิดปัญหาว่า คนก็จะค่อยๆ ไหลออกไปเรื่อยๆ

“ตั้งแต่ อดีตรองนายกฯ สมคิด , คุณอุตตม , ตั้งแต่สี่กุมาร แต่ละคนคือคนที่มีคุณภาพทั้งสิ้น และคนเหล่านี้ช่วยคิดนโยบายให้พรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้ง แต่เวลานี้คนเหล่านี้ไม่มีแล้ว หรือแม้กระทั่ง อ.แหม่ม (ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) ก็เป็นมือเขียนนโยบาย เสนอแผนงานโครงการต่างๆ บัตรสวัสดิการคนจนนี่ มาจาก อ.แหม่ม แต่วันนี้ เขาไปหมดแล้ว คำถามคือ คุณจะเอาใคร ? คุณจะเอาทหารเหรอ ? นโยบายอะไร ? ซื้ออาวุธเหรอ ? ซึ่งมันคงไม่มีใครเอาด้วยอยู่แล้ว”

ธรรมนัส พรหมเผ่า

การยุบสภา จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้หรือไม่ ?

หลายคนมองว่า การยื่นขอแก้รัฐธรรมนูญ ที่พรรคพลังประชารัฐเป็นตัวตั้งตัวตี เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อาจจะมีการยุบสภาภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

แต่เมื่อขุนพลคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ ถูกนายกฯ ปลดออกจาก ครม. และไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ ร.อ.ธรรมนัส ยังคงเป็นเลขาธิการพรรคอยู่หรือไม่

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน มีความเป็นไปได้ไหม ที่บิ๊กตู่จะปรับแผนเป็นอยู่ยาวจนครบเทอม แต่ รศ.สมชัย กลับมองอีกมุมหนึ่งว่า ไปๆ มาๆ อาจมีการยุบสภาเร็วกว่าที่คาดไว้  

“มัน 2 เรื่องเลยนะครับ เรื่องที่ 1 คือ กติการที่แก้ มันเป็นประโยชน์ต่อใคร หากคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับอีกฝ่าย ก็จะเร่งให้เกิดการยุบสภาก่อนกติกาใหม่ (บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ) จะประกาศใช้ เพื่อให้ใช้กติกาเดิม แต่ ณ วันนี้ เขาอาจจะประเมินไม่ออกว่า เอ๊ะ มันได้ หรือมันเสีย

“ยกตัวอย่างการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ (10 กันยายน) ในฝั่งวุฒิสภาเนี่ย เราก็จะเห็นว่า สาย คสช. โหวตรับหลักการหมดเลย เห็นชอบหมดเลย แต่ส่วนที่เป็นพลเรือน 40 ส.ว.เก่า ก็จะโหวตไม่รับหลักการ หรืองดออกเสียง เพราะฉะนั้นมันถึงเหมือนกับเป็นการประเมินซีเนริโอภาพอนาคตเกี่ยวกับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ใครได้ประโยชน์

“วันหนึ่งสมมติว่า เกิดความตระหนักชัดเจนว่า มันไม่ได้ประโยชน์ แต่มันเป็นการเตะเข้าทางอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้อีกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ผมก็เชื่อว่า มีโอกาสทที่จะยุบสภาก่อนที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข เพื่อให้เลือกตั้งในกติกาเดิม (บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ)

“แบบที่ 2 คือ หากสถานการณ์ในพรรคร่วมรัฐบาลยังคุมกันได้ ยังปรองดองกันไปได้ ยังอยู่กันได้ ไม่เกิดผลรุนแรงต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ยังอยู่ต่อไป

“แต่ถ้าหากว่า เปิดสภาเดือนพฤศจิกายน ปรากฏว่าจะโหวตอะไรแต่ละครั้ง ยิ่งต้องเสนอผลประโยชน์ ยิ่งต้องต่อรองกันมหาศาล เขาก็อาจรู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้ว ที่ต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการยุบสภาจาก 2 เรื่องนี้น่ะครับ”  

related