svasdssvasds

สรุปให้ ปิดฉาก คดีค่าโง่คลองด่าน รัฐต้องชดใช้กว่า 9 พันล้าน

สรุปให้ ปิดฉาก คดีค่าโง่คลองด่าน รัฐต้องชดใช้กว่า 9 พันล้าน

ย้อนรอยความเป็นมาของคดีระดับมหากาพย์ ที่ล่าสุดศาลปกครองสูงสุด ยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดี ปิดฉากคดีค่าโง่คลองด่าน ด้วยบทสรุปรัฐต้องชดใช้ให้เอกชนกว่า 9 พันล้าน

คดีค่าโง่คลองด่าน ถือว่าเป็นคดีระดับมหากาพย์ ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 20 ปี กระทั่งเมื่อวานนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกคำร้องขอรื้อฟื้นคดีของกระทรวงการคลังและกรมควบคุมมลพิษ ทำให้คดีที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ต้องปิดฉากลง โดยรัฐต้องชดใช้ให้กับเอกชนคู่กรณี เป็นจำนวนเงินกว่า 9 พันล้านบาท หรืออาจจะสูงเกือบ 3 หมื่นล้านบาท หากนำดอกเบี้ย มาบวกรวมเข้าไปด้วย

1. จุดเริ่มต้นคดีค่าโง่คลองด่าน

โครงการคลองด่าน หรือ “โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษพื้นที่ จ.สมุทรปราการ” มีจุดเริ่มต้นในช่วงกลางปี 2538 ขณะที่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ได้ผลักดันโครงการนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. แต่เกิดการยุบสภาเสียก่อน กระทั่งในรัฐบาลต่อมา ยิ่งพันธ์ มนะสิการ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ได้นำโครงการดังกล่าวเข้า ครม. แล้วก็ได้รับความเห็นชอบ

โดยวัตถุประสงค์ของโครงการคลองด่าน ก็คือ “เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษของ จ.สมุทรปราการ โดยเฉพาะในด้านน้ำเสีย ตลอดจนฟื้นฟูคุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว หลังจากประกาศให้ จ.สมุทรปราการเป็นเขตควบคุมมลพิษ”

เดิมทีจะมีก่อสร้างโครงการขึ้นใน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.สมุทรปราการ คือฝั่งบางปูใหม่ กับฝั่งคลองบางปลากด ต่อมากลับมีการรวมเป็นที่เดียวในตำบลคลองด่าน ทั้งๆ ที่ผลการศึกษาออกมาว่า บริเวณดังกล่าวไม่เหมาะกับการก่อสร้างโครงการ อีกทั้งมีการเพิ่มงบประมาณ จากวงเงินกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ขึ้นเป็นเกือบ 2.3 หมื่นล้านบาท !!!

ข่าวที่น่าสนใจ

2. ยื่นคำร้องให้มีการตรวจสอบทุจริต

ในการยื่นซองประมูล มีบริษัทเข้าร่วมหลายราย แต่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์แค่ 2 บริษัท หนึ่งในนั้นก็คือ กิจการร่วมค้า NVPSKG ที่เป็นการร่วมตัวของ 6 บริษัท ซึ่งในกลุ่มดังกล่าว มีเพียงบริษัทเดียวที่มีประสบการณ์ด้านการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ตามเงื่อนไขของการประมูล แต่เมื่อชนะการประมูลแล้ว ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวได้ถอนตัวออกจากกลุ่ม นอกจากนั้นก็ยังมีความไม่ชอบมากพากลต่างๆ มากมาย จนนำไปสู่การยื่นคำร้องให้มีการตรวจสอบทุจริต โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ได้แก่

ประเด็นที่ 1 การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ มีการบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ออกโฉนดทับพื้นที่สาธารณะ อีกทั้งมีการปั่นราคาขายที่ดินต่อไร่ จาก 1 แสน เป็นกว่าล้านบาท

ประเด็นที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการให้ NVPKSG ชนะการประมูล และมีการเพิ่มวงเงินให้โครงการอีกกว่าหมื่นล้านบาท

วัฒนา อัศวเหม

3. มีคำสั่งให้ยุติโครงการ

ในปี 2546 ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเวลานั้น ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโครงการคลองด่าน และมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการ แม้โครงการจะเหลืออีกแค่ 5 % ก็จะแล้วเสร็จ รวมถึงสั่งระงับการจ่ายเงินอีก 4 งวดที่เหลือ (จ่ายไปแล้ว 54 จาก 58 งวด รวมเป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท)

4. NVPSKG ยื่นคำร้องต่ออนุญาตโตตุลาการ

ในส่วนของคดีความแบ่งออกเป็นของ 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนที่ 1 คือ คดีอาญา ที่ได้มีการยื่นเรื่องกับ ป.ป.ช. กับศาลอาญา ส่วนที่ 2 เป็นคดีแพ่ง ที่ NVPSKG ยื่นคำร้องกับอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้รัฐบาลจ่ายเงินที่ค้างอยู่อีก 4 งวด

ซึ่งในส่วนของคดีอาญานั้น 3 นักการเมือง ได้แก่ วัฒนา อัศวเหม ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี แต่ยังคงหลบหนีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ยิ่งพันธ์ มนะสิการ ถูกตัดสินว่ามีความผิด แต่เสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ศาลยกฟ้อง  

แต่ในส่วนของคดีแพ่ง ที่  NVPSKG ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการนั้น ในปี 2554 มีคำตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินที่คงค้างและดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ฯลฯ รวมเป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท

ต่อมา กรมควบคุมมลพิษได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งในปี 2558 ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษทำตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ นั่นก็คือรัฐบาลต้องจ่ายเงินให้ NVPSKG กว่า 9 พันล้านบาท

โครงการคลองด่าน

5. ปิดฉาก คดีค่าโง่คลองด่าน รัฐต้องชดใช้กว่า 9 พันล้านบาท

ในส่วนของคดีอาญา ในปี 2558 ศาลอาญามีคำพิพากษาคดีทุจริตในโครงการดังกล่าวกับ 3 ข้าราชการของกรมควบคุมมลพิษ โดยตัดสินจำคุกคนละ 20 ปี

จากคำตัดสินข้างต้น ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กระทรวงการคลังจึงได้ยื่นคำร้องกับศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ที่ให้รัฐบาลต้องชดใช้ให้กับ NVPSKG เป็นจำนวนเงินกว่า 9 พันล้านบาท แล้วศาลปกครองกลาง ก็มีคำสั่งเพิกถอนคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ในปี 2561  

แต่ในอีก 4 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 65 ศาลปกครองสูงสุด ก็พิพากษาให้ยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดีของกระทรวงการคลังและกรมควบคุมมลพิษ ทำให้คดีค่าโง่คลองด่านต้องปิดฉากลง ด้วยการที่รัฐต้องชดใช้ให้กับ NVPSKG กว่า 9 พันล้านบาท

อ้างอิง

"กลโกงชาติ คดีคลองด่าน" : พิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ (Museum of Thai Corruption)

ด่วน! ปิดฉากคดี “ค่าโง่คลองด่าน” ศาลปกครองสูงสุดสั่งรัฐต้องจ่าย 3 หมื่นล้าน

คลองด่านฝีแตก นักการเมืองหนี เอกชนติดคุก รัฐจ่ายอ่วมกว่า 3 หมื่นล้าน

ย้อนรอย “ค่าโง่คลองด่าน” บทเรียน 3 หมื่นล้าน ราคาที่คนไทยต้องจ่าย

บทเรียนค่าโง่! 'คลองด่าน' ไม่ใช่คดีแรก หลังศาลสั่งถอนจ่าย9พันล้าน

related