svasdssvasds

งบหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. สูงสุด 49 ล้าน ถ้าเป็นเรา จะหามาจากไหน ?

งบหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. สูงสุด 49 ล้าน ถ้าเป็นเรา จะหามาจากไหน ?

หลังจาก กกต. ประกาศงบหาเสียง ผู้ว่าฯ กทม. สามารถใช้ได้สูงสุดถึง 49 ล้านบาท ถ้าเป็นเราจะหาเงินมาจากไหน ? เพราะลำพังเงินเดือนผู้ว่าฯอย่างเดียวอาจต้องเป็นถึง 36 ปี ถ้าใช้ครบโควต้า

เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562

โดย ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้จ่ายได้ไม่เกิน จำนวน 49 ล้านบาท

จำนวน 49 ล้านนี้หากเราได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้วหวังจากใช้เงินเดือนมาชดเชยส่วนที่หาเสียงไป เราอาจต้องเป็น ผู้ว่าฯ ถึง 36 ปี ถ้าคำนวณจากฐานเงินเดือนผู้ว่าฯ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย 

พ.ร.ฎ.กำหนดเงินเดือน เงินเพิ่ม เงินค่าเบี้ยประชุม และเงินตอบแทนอื่นของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการการเมืองอื่นของกรุงเทพมหานคร และกรรมการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2556 ที่ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ระบุไว้ว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับเงินเดือนรวมเดือนละ 113,560 บาท 

นั่นแปลว่าหากผู้ว่าเงินเดือน 113,560 บาท จะมีรายได้ปีละ 1,362,720 บาท จะต้องใช้เวลาราว 36 ปี ในการเก็บเงินกลับมาให้เท่ากับเงินที่ใช้ในการหาเสียงไป

อะไรบ้างที่นับเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

ตามประกาศ กกต. เรื่องประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563 พบว่า ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเลือกตั้งของผู้สมัครฯ แบ่งเป็น 12 หัวข้อย่อย ได้แก่ 

(1) ค่าใช้จ่ายในการสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ ค่าสมัครรับเลือกตั้ง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสมัครรับเลือกตั้ง

(2) ค่าจ้างแรงงาน ได้แก่ ค่าจ้างผู้ช่วยหาเสียง ค่าจ้างในการปิดป้ายโฆษณาหาเสียง ค่าจ้างแจกใบปลิว แผ่นพับ รวมทั้งค่าจ้างแรงงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

(3) ค่าจ้างทำของ ได้แก่ ค่าจ้างทำเสื้อแจ็กเก็ต หมวก และเสื้อยืด หรืออื่น ๆ สำหรับ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และผู้ช่วยหาเสียง

(4) ค่าโฆษณาในสื่อต่างๆ ได้แก่ ค่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ค่าผลิตสื่อเพื่อการออกอากาศ รวมถึง ค่าโฆษณาอื่นที่เป็นการกระทำเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง

(5) ค่าจัดทำป้าย เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียง

(6) ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือค่าบริการทาง อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ยูทูป แอปพลิเคชัน อีเมล์ เอสเอ็มเอส สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท

(7) ค่าจัดซื้อหรือเช่าวัสดุ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

(8) ค่าเช่าสถานที่ และค่าตกแต่งสถานที่ ได้แก่ ค่าเช่าสำนักงานเพื่อเป็นศูนย์รณรงค์หาเสียง เลือกตั้ง ค่าเช่าสถานที่เพื่อปราศรัยหาเสียง

(9) ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้แก่ ค่าเช่าหรือค่าจ้างเหมารถยนต์ เรือยนต์หรือยานพาหนะอื่น ๆ ค่าน้ ามันเชื้อเพลิง ค่าเช่าที่พัก เพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง  

(10 ) ค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการทางไปรษณีย์ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

(11) ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ช่วยหาเสียง ได้แก่ ค่าอบรม ค่าอาหารและเครื่องดื่ม

(12) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว

ถ้าเป็นเรา อยากใช้เงิน 49 ล้านหาเสียง จะหามาจากไหน

ถ้าเราสังกัดพรรคการเมือง โดยปกติแล้วพรรคการเมืองสามารถหารายได้จากค่าบำรุงพรรค การขายสินค้า และการระดมทุน เช่นเดียวกับที่ พรรคอนาคตใหม่ ที่เคยชายเสื้อและสินค้าอื่น ๆ ของพรรค หรือ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีการจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนและมีบริษัท-ห้างร้านต่าง ๆ บริจาคเงินสนับสนุน

แต่ถ้าเราสมัครในนามอิสระหละ เราเองก็สามารถใช้เงินทุนส่วนตัวในการหาเสียงได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการแจกแจงรายจ่ายที่ใช้ไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย

ซึ่งก็เกิดเป็นคำถามตามมาว่า การเป็นผู้ว่า กทม. คุ้มค่าจริงหรือไม่ ? แต่หากมองว่าเป็นการทำงานเพื่อสังคมก็อาจถือเป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวมในการเข้ามาทำงานในส่วนนี้และพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามงบประมาณในแต่ละปีที่ผู้ว่าฯ กทม. จะได้บริหาร จะอยู่ที่ราว 70,000-80,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับแต่ละปีงบประมาณ