svasdssvasds

CNN ยกปี 2019 ให้เป็นปีของผู้นำเผด็จการ วลาดิเมียร์ ปูติน

CNN ยกปี 2019 ให้เป็นปีของผู้นำเผด็จการ วลาดิเมียร์ ปูติน

สำนักข่าว CNN เผยแพร่บทความ ยกปี 2019 ให้เป็นปีของผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน กับการจัดการการเมืองในและนอกประเทศตามแบบฉบับผู้นำเผด็จการโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูก “ถอดถอน”

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียประกาศว่าถึงเวลาจุดจบของเสรีนิยมแบบตะวันตก คำกล่าวนี้ฟังดูเหมือนเพียงเพื่อปลุกปั่นการถกเถียงก่อนการประชุม จี20 ที่ญี่ปุ่น แต่ไม่กี่เดือนต่อมา ปูตินก็ทำเป็นแบบฉบับอย่างของผู้นำเผด็จการ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือนโยบายของปูตินที่มีต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่มีอยู่น้อยนิด ในช่วงฤดูร้อน มีคนออกมารวมตัวประท้วงรัฐบาลกันต่อเนื่อง แม้นักข่าวที่ขุดคุ้ยเรื่องรัฐบาลจะได้รับการยกเลิกข้อหาเพราะมีคนออกมาประท้วงสนับสนุนเขามากมาย แต่ไม่นานหลังจากนั้น แกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ถูกควบคุมตัว และมีผู้ประท้วงถูกจับกุมถึงกว่า 2,000 คน

นอกจากนี้ รัฐบาลรัสเซียยังเพิ่มการควบคุมโลกไซเบอร์ ออกกฏหมาย “อธิปไตยทางอินเตอร์เน็ต” ให้สามารถดำเนินการอย่างเป็นอิสระจากนานาชาติ กฎหมายบังคับให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต้องติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมและเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรัสเซียไม่ได้ปิดอินเตอร์เน็ตเพื่อควบคุมการประท้วงเหมือนอย่างที่อิหร่านทำ อิหร่านปิดอินเตอร์เน็ตเพื่อป้องกันไม่ให้คนสามารถรวมตัวประท้วงต่อต้านรัฐบาล หรือสื่อสารกันระหว่างการประท้วงได้ แต่ก็มีรายงานว่ารัฐบาลรัสเซียบล๊อกสัญญาณหรือแทรกแซงสัญญาณโทรศัพท์ในบ้างพื้นที่

ด้านประเด็นการเมืองโลก การเผชิญหน้ากันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ชัดเจนว่าปูตินเลือกข้างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน หลังรัฐบาลสหรัฐฯตัดสินใจบล๊อก หัวเว่ย จากการลงทุนเครือข่าย 5G ในอเมริกา ปูตินกล่าวว่าการกระทำของสหรัฐฯสร้างความเสี่ยงในการเกิดสงครามเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ในเวทีโลก ก็จะเห็นผู้นำรัสเซียมีความสนิทสนมกับผู้นำเผด็จการคนอื่นๆ เดือนกันยายน ปูตินต้อนรับประธานาธิบดีมาดูโรของเวเนซูเอลา เพื่อแสดงความสนับสนุนในสถานการณ์ขัดแย้งอเมริกาใต้ เดือนต่อมา ปูตินเยือนซาอุดีอาระเบีย แสดงความเป็นหุ้นส่วนที่มีน้ำมันเป็นแรงขับเคลื่อน โดยที่ไม่มีการยกเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมาพูดให้อึดอัดอย่างที่สหรัฐฯชอบทำ

แต่เรื่องไหนคงไม่เท่าเรื่องสงครามซีเรีย เดือนตุลาคม ปูตินและประธานาธิบดีเออร์โดกันของตุรกี ได้ประชุมกันที่เมืองโซชิของรัสเซีย และแถลงข้อตกลง 10 ข้อต่ออนาคตของซีเรีย เป็นการตอกย้ำความเป็นจริงที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ทอดทิ้งเคิร์ดที่เป็นพันธมิตรสำคัญในซีเรีย ด้วยการสั่งถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย ทำให้ปูตินและเออร์โดกันกลายเป็นสองผู้เล่นหลักทางภูมิรัฐศาสตร์ในซีเรีย

นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าการที่ปูตินลงพนันข้างผู้นำซีเรียจะได้ผล ในขณะที่จำนวนทหารสหรัฐฯในซีเรียเหลือน้อยลง ประธานาธิบดีอัสซาดของซีเรียยังคงอยู่ในอำนาจ ทำให้รัสเซียยิ่งขยายการครอบคลุมทางทหารได้มากขึ้น ถึงขนาดเข้าครอบครองโครงสร้างพื้นฐานบางที่ที่สหรัฐฯทิ้งไป

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องราบรื่น ปูตินยังคงมีเรื่องความขัดแย้งในยูเครน กองกำลังแบ่งแยกดินแดนหนุนหลังโดยรัสเซียยังคงต่อสู้กับรัฐบาลยูเครน เรื่องนี้ทำให้ปูตินต้องไปประชุมที่ปารีสกับคู่เจรจาจาเยอรมนี ฝรั่งเศส และยูเครน เพื่อหาทางที่จะนำไปสู่การยุติสงคราม แต่การเจรจาต้องจบลงโดยไม่มีความคืบหน้า

แต่จะเกิดอะไรขึ้น ด้วยความเป็นเผด็จการ ปูตินก็ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าอาจจะถูก “ถอดถอน” จากตำแหน่ง

related