svasdssvasds

สถานการณ์ ทะเลจีนใต้ กับความกดดันต่ออินโดนีเซียและมาเลเซีย

สถานการณ์ ทะเลจีนใต้ กับความกดดันต่ออินโดนีเซียและมาเลเซีย

ทะเลจีนใต้ เป็นพื้นที่พิพาทมายาวนาน โดยมีจีนที่อ้างกรรมสิทธิ์และมีปฏิบัติการเชิงรุกมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเกาะเทียม หรือการลาดตระเวน จนล่าสุด กลายเป็นเพิ่มความกดดันต่ออินโดนีเซียและมาเลเซีย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เรือของจีนและมาเลเซียเผชิญหน้ากันและกันมากกว่าหนึ่งเดือน ใกล้เกาะบอร์เนียวน ทะเลจีนใต้

สถาบันความโปร่งใสทางทะเลแห่งเอเชีย ระบุว่าเรือ เวสต์คาเพลลา เรือเจาะน้ำมันที่ได้รับอนุญาตจากมาเลเซียได้เข้าไปสำรวจทรัพยากรในพื้นที่ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ ซึ่งในเวลานั้น เรือสำรวจของจีนได้เข้ามาในพื้นที่เดียวกันพร้อมเรือลาดตระเวนชายฝั่ง

มาเลเซียได้ส่งเรือของกองทัพเรือตามเข้าไปในพื้นที่ และต่อมาก็ได้รับแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ ด้วยเรือรบที่มาซ้อมรบร่วมในทะเลจีนใต้

แน่นอนว่าจีนระบุว่า นี่เป็นปฏิบัติการปกติใน”ขอบเขตของจีน” แต่จีนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นปี ว่าข่มขู่ประเทศอื่นๆ ที่พยายามเข้ามาสำรวจทรัพยากรในพื้นที่พิพาทที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์

ผู้เชี่ยวชาญจาก สถาบันความโปร่งใสทางทะเลแห่งเอเชีย เกร็ก โพลลิ่ง ระบุว่า ปัจจุบัน เรือของจีนได้เริ่มใช้กลยุทธ์ที่หนักแน่นขึ้น ซึ่งก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงสร้างความขัดแย้งกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย

โพลลิ่งอธิบายว่า มาเลเซียและอินโดนีเซียมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในยามที่เรือของจีนขยายอาณาเขตในภูมิภาค เพราะการสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ “(เกาะเทียม) ทำให้มาเลเซียและอินโดนีเซียกลายเป็นแนวหน้า”

แผนที่ “เส้นประ 9 เส้น” ของจีน

ทะเลจีนใต้ เป็นหนึ่งในพื้นที้ที่มีการถกเถียงโต้แย้งมากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน ไต้หวัน และอินโดนีเซีย

พื้นที่ที่จีนอ้างเป็นเจ้าของ เรียกว่า “เส้นประ 9 เส้น” เป็นแผนที่ที่จีนได้ทำขึ้น แสดงอาณาเขตของจีนที่ครอบคลุมเกือบทั้งเขตทะเลจีนใต้ จากเกาะไห่หนานไปจนถึงด้านบนของประเทศอินโดนีเซีย

คำอ้างของจีน ถูกศาลโลกได้ตัดสินให้เป็นโมฆะเมื่อปี 2016 ซึ่งบทวิเคราะห์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ระบุว่าคำอ้างของจีนไม่ได้อยู่บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ

โพลลิ่งระบุว่า เกาะเทียมเหล่านี้เต็มไปด้วยเรดาร์ และการควบคุมตรวจตรา จีนเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ ก่อนหน้านี้ จีนอาจไม่สามารถบอกได้เมื่อมีใครเข้ามาขุดเจาะ แต่ปัจจุบันนี้ จีนรู้แน่นอน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า จีนได้สร้างกองเรือลาดตระเวนชายฝั่ง และเรือประมง ที่จะสามารถออกไปข่มขู่เรือลำอื่นๆ ที่เข้ามาในเขตพื้นที่อ่อนไหว

การรุกรานที่เพิ่มมากขึ้น

ความตึงเครียดเพราะเรือขุดเจาะ ไม่ใช่กรณีแรกที่เผยให้เห็นการรุกรานของรัฐบาลจีนในปีนี้

ปี 2020 เริ่มต้นด้วยการเผชิญหน้ากันในพื้นที่เกาะนาทูนาในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้สุดของทะเลจีนใต้ พื้นที่ที่ทั้งจีนและอินโดนีเซียอ้างกรรมสิทธิ์ โดยสถานการณ์ตึงเครียดเกิดจากเรือประมงของจีนเริ่มเข้ามาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งเครื่องบินรบ F-16 และเรือกองทัพไปยังเกาะนาทูนา และประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ได้บินไปสังเกตการณ์ด้วยตัวเอง

ต่อมาในเดือนเมษายน เรือลาดตระเวนของจีนได้จมเรือประมงเวียดนามใกล้เกาะพาราเซล ทำให้เวียดนามได้ส่งจดหมายไปยังสหประชาชาติเพื่อเริ่มการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกครั้ง

รัฐบาลจีนระบุว่า จีนจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ สิทธิ และอธิปไตย ของจีนในภูมิภาค

ความไม่มั่นคง

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า จีนมีประวัติข่มขู่เรือของประเทศอื่นที่เข้ามาในทะเลจีนใต้ ส่วนมากจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ และมีบ้างจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปหลังๆ นี้ คืออิทธิพลของจีน เพราะการระบาดของโควิด19 ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้เศรษฐกิจจีนและความเสียหายต่อภาพพจน์ในเวทีโลก

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเลือกที่จะไม่ประกาศตัวเลขการเติบโตจีดีพีประจำปี ครั้งแรกในรอบหลายปี สัญญาณให้เห็นความกังวลเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ

ขณะเดียวกัน ความตึงเครียดกับสหรัฐฯและยุโรปก็เพิ่มมากขึ้น จากการตั้งข้อสงสัยว่าจีนให้เวลาประชาคมโลกเตรียมตัวรับมือโรคระบาดพอหรือไม่ เมื่อจีนแจ้งองค์การอนามัยโลกหลังจากพบรายงานโรคระบาดหลายสัปดาห์

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความกังวลของรัฐบาลจีนเริ่มชัดขึ้น เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนพยายามเน้นย้ำกระแสรักชาติ ที่รวมไปถึงประเด็นทะเลจีนใต้

จีนกำลังพยายามสร้างความเข้าใจว่า บทบาทในฐานะมหาอำนาจโลกของสหรัฐฯกำลังลดลง เพื่อที่จะได้เพิ่มอิทธิพลของจีนเองในภูมิภาค

เอียน สตอเร ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ของสิงคโปร์ กล่าวว่า จีนต้องการให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นว่า อิทธิพลทางทหารของสหรัฐฯกำลังลดลง และพันธะสัญญาที่สหรัฐฯมีต่อภูมิภาคก็น้อยลงด้วย

“(จีนต้องการแสดงให้เห็นว่า) ปัญหาเศรษฐกิจที่จีนกำลังเผชิญ จะไม่กระทบนโยบายทะเลจีนใต้”

สตอเรกล่าว

ที่ผ่านมา มาเลเซียและอินโดนีเซียได้พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้มาครอบงำความสัมพันธ์ที่มีกับจีน แต่กับการรุกคืบของจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ช่วงเวลาของขั้นตอนการทูตแบบไม่โฉ่งฉ่าง อาจจะจบลงในไม่ช้า

“ความก้าวร้าวระดับไหนที่จะกลายเป็นสิ่งที่ยากเกินเมินเฉย... ถึงจุดไหนที่มาเลเซียและอินโดนีเซียจะเริ่มส่งเสียง ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ (จีน) กับเวียดนามและฟิลิปปินส์” โพลลิ่งทิ้งท้าย

สถานการณ์ที่วุ่นวายใน ทะเลจีนใต้

เนื่องจากการรุกล้ำของจีนที่ใกล้หน้าบ้านเข้ามาเรื่อยๆ สตอเรกล่าวว่า นี่น่าจะเป็นเวลาที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมมือกันเผชิญหน้ากับการมาเยือนของจีน แต่ตอนนี้ ประเทศในภูมิภาคต่างวุ่นวายอยู่กับการจัดการโรคระบาด พร้อมทั้ง ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ และยังมีคำถามว่าอาเซียนจะเป็นหนึ่งเดียวในประเด็นนี้ได้หรือไม่

สตอเรคาดว่า ไม่ว่าจีนจะผลักดันหนักขนาดไหน สมาชิกอาเซียนก็ไม่น่าจะร่วมมือกันต่อต้านจีนได้อย่างเข้มแข็ง “ในอีก 6 เดือนข้างหน้า เข้าช่วงปลายปี 2020 เราคาดว่าจีนยิ่งรุกรานหนักขึ้นอีกเป็นเท่าตัว”

โพลลิ่งระบุว่า ที่ผ่านมา มาเลเซียได้พยายามสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ที่ได้จากความสัมพันธ์กับจีน และความเป็นเอกเทศของนโยบายต่างประเทศ ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะให้การเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นในน่านน้ำมาเลเซียออกข่าวให้น้อยที่สุด

ด้านอินโดนีเซียเอง เคยเปิดฉากยิงใส่เรือประมงของจีนมาแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อไม่ยอมออกจากน่านน้ำอินโดนีเซีย แสดงให้เห็นว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อง่ายๆ

แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า จีนจะไม่ลดละง่ายๆ แน่นอน บทความผู้เชี่ยวชาญนโยบายต่างประเทศ เฟลิกซ์ ชาง ระบุว่า จีนเชื่อว่าในไม่นาน อินโดนีเซียจะตระหนักว่ามีทางเลือกที่น้อยมาก และต้องยอมให้การมีอยู่ของจีน

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า จีนก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะสหรัฐฯก็ได้เพิ่มปฏิบัติการ “เสรีภาพการเดินเรือในทะเลจีนใต้” อย่างเข้มข้น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ในเวลา 5 เดือน มีการส่งเรือและเครื่องบินออกสำรวจหรือลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ มากกว่าปีที่แล้วทั้งปีเสียอีก

การเมืองโลก สหรัฐฯเพิ่มความกดดันทางทหารต่อจีน ในทะเลจีนใต้

การเมืองโลก สหรัฐฯเพิ่มความกดดันทางทหารในทะเลจีนใต้ กล่าวหาจีนว่าฉวยโอกาสจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาด ในการขยายอิทธิพลในภูมิภาค สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ การเมืองโลก ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ...

related