svasdssvasds

มาตรการโควิด ตรวจเชิงรุก คืออาวุธสำคัญในการสู้โรคระบาด

มาตรการโควิด ตรวจเชิงรุก คืออาวุธสำคัญในการสู้โรคระบาด

มาตรการโควิด ที่หลากหลายประเทศนำมาใช้ในการสู้กับโรคระบาดมีตั้งแต่การรักษาระยะห่างและลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่เราเรียกว่าล็อกดาวน์ และความเข้มงวดด้านมาตรการสาธารณสุข แต่สิ่งหนึ่งที่ยังมีอีกหลายประเทศไม่ได้ทำ คือการตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบเชิงรุก

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังวุ่นวายกับ มาตรการโควิด นโยบายต่างๆ เพื่อหวังควบคุมการระบาด ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองด้วยประวัติการเดินทาง ด้วยการตรวจอุณหภูมิร่างกาย สิ่งที่กระทบเศรษฐกิจทั่วโลกคือมาตรการล็อกดาวน์และลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือการค้นหาผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด และบ่งชี้กลุ่มเสี่ยง และติดตามกลุ่มเสี่ยงให้ได้เร็วที่สุด

การค้นหาผู้ติดเชื้อของนิวซีแลนด์

นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชื่นชมว่าต่อสู้กับการระบาดได้อย่างดีเยี่ยม เดือนที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ไม่พบผู้ติดเชื้อเลยถึง 24 วันติดกัน จนพบกรณีนำเข้า ที่ออกจากการกักกันก่อนครบ 14 วัน เพื่อไปเยี่ยมครอบครัวที่ป่วยหนัก ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้รัฐมนตรีสาธารณสุขนิวซีแลนด์ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง

นิวซีแลนด์เพิ่มศักยภาพการตรวจหาผู้ติดเชื้อเป็น 10,000 คนต่อวัน นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนการตรวจต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดในโลก และมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดของนิวซีแลนด์ ก็ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถบ่งชี้กลุ่มเสี่ยงและติดตามตัวได้ง่ายขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยลอนดอน อ๊อกซานา ไพซิก กล่าวว่า มาตรการของนิวซีแลน์ได้ผลดี เพราะได้ทำตามแนวทางที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก คือการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างกว้างขวาง และบ่งชี้และติดตามตัวกลุ่มเสี่ยงอย่างเอาจริงเอาจัง

มาตรการโควิด นิวซีแลนด์

อัตราเสียชีวิตต่ำเพราะการตรวจอย่างกว้างขวาง

เยอรมนีเป็นประเทศแรกในทวีปยุโรปที่ทำการตรวจหาผู้ติดเชื้อจำนวนมาก (mass testing) เพื่อช่วยประเมินอัตราการติดเชื้อ และเฝ้าระวังการระบาด

ตั้งแต่ก่อนที่เยอรมนีจะพบผู้ติดเชื้อคนแรก รัฐบาลได้ตัดสินใจว่าค่าใช้จ่ายในการตรวจจะอยู่ในส่วนของประกันสังคม ซึ่งจะจ่ายให้กับทุกคนที่มีอาการ คนที่ไปในพื้นที่เสี่ยง หรือคนที่มีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ

ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาชาวเยอรมนี คริสเตียน โดรสเตน กล่าวว่าอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 ของเยอรมนีนับว่าต่ำกว่าหลายประเทศ เพราะการตรวจเชิงรุก การตรวจเป็นจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่รับรู้สัดส่วนผู้ติดเชื้อที่ใกล้เคียงความเป็นจริง ซึ่งรวมถึงกรณีที่ติดเชื้อแต่มีอาการน้อยมาก ซึ่งเยอรมนีมีการตรวจถึงราวสัปดาห์ละ 500,000 ตัวอย่างโดยเฉลี่ย

เยอรมนี โควิด

ตรวจ ติดตามตัว และควบคุม มาตรการโควิด ลดการแพร่กระจาย

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่อัตราเสียชีวิตต่ำที่สุดในโลก เช่นเดียวกับนิวซีแลนด์ ได้ชื่อว่ามี มาตรการโควิด เชิงรุกที่รับมือโรคระบาดได้ดี โดยที่ไม่ต้องล็อกดาวน์ และไม่มีภาพประชาชนแตกตื่นกักตุนของให้ได้เห็น ที่ที่จะได้เห็นคนเข้าแถวจำนวนมาก เห็นจะเป็นที่รับตรวจหาเชื้อโควิด 19 เท่านั้น

กลางเดือนมีนาคม องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้นานาประเทศตรวจหาเชื้อให้ได้มากที่สุด และเกาหลีใต้ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ทำการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างจริงจัง พัฒนาศักยภาพจากการตรวจวันละกว่าหมื่นตัวอย่าง เป็นตรวจมากถึง 20,000 ตัวอย่างต่อวัน เป็นประเทศแรกที่มีการตรวจแบบไดรฟ์ทรู นอกจากนี้ยังมีหน่วยตรวจเคลื่อนที่ ที่ตรวจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และแจ้งผลทางโทรศัพท์ภายใน 24 ชั่วโมง

นอกจากการตรวจอย่างกว้างขวาง เกาหลีใต้มีระบบติดตามตัวอย่างเข้มข้น ด้วยการใช้เทคโนโลยี GPS กล้องวงจรปิด และพฤติกรรมการใช้เครดิตการ์ด ซึ่งข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ ทำให้ศูนย์ควบคุมโรคของเกาหลีใต้สามารถส่งข้อความเตือนเรียลไทม์ พร้อมข้อมูลว่าผู้ติดเชื้อได้ไปที่ไหนมาบ้าง ก่อนที่จะตรวจพบเชื้อ

แน่นอนว่านอกจากการตรวจอย่างกว้างขวาง รัฐบาลได้ขอให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ระเบียบการรักษาระยะห่างที่ชัดเจน และสนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ ให้พนักงานทำงานจากบ้าน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การให้ความร่วมมือของประชาชนเกิดจากการได้ข้อมูลที่ครบถ้วน

เกาหลีใต้ มาตรการโควิด

มาตรการโควิด ของไทย

สำหรับมาตรการตรวจหาผู้ติดเชื้อในไทยนั้น พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และแพทยสภา ระบุว่า การตรวจเชิงรุกต้องมีเป้าหมาย คือกลุ่มเสี่ยง ปัจจุบันทำได้ยากเพราะว่าเป้าหมายยังไม่ชัด การตรวจแบบหว่านแหไม่มีประโยชน์ และตอนนี้ ประเทศไทยเริ่มทำการตรวจเชิงรุกแล้ว เพราะมีกรณี (ทหารอียิปต์ที่จังหวัด) ระยอง

ขณะที่ รศ. นพ. นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าการตรวจหาเชื้อแบบปูพรมเกิดขึ้นในต่างประเทศที่มีงบประมาณสูง เช่นที่จีนปูพรมตรวจในเมืองที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น หากไทยมีระบบติดตามตัวที่ดี ก็จะทำให้จำกัดกลุ่มคนที่ต้องได้รับการตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อที่ประหยัดงบประมาณมากกว่า

รศ. นพ. นริศ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อเชิงรุก ต้องทำการตรวจในประชากรหรือบริเวณสถานที่ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น ก็จะทำให้ประหยัดงบประมาณและมีโอกาสประสบความสำเร็จที่ดีกว่า

การตรวจหาเชื้อเชิงรุก คือ ต้องรวดเร็ว แต่ระบบที่ไทยใช้อยู่ ใช้เวลา 2 – 3 วันกว่าจะรู้ผล หลังยืนยันผลครั้งที่ 1 ต้องมีการยืนยันผลครั้งที่ 2 ด้วยวิธีการตรวจที่แตกต่างกัน โดยสถาบันที่แตกต่างกัน ส่วนตรวจเชิงรุกอย่างในประเทศเกาหลี ต้องได้ผลภายใน 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเริ่มมีการพัฒนารู้ผลการตรวจสอบที่รวดเร็วขึ้นแล้ว และพบว่าได้ผลค่อนข้างดี อย่างที่จุฬาฯ หรือที่ศิริราช และน่าจะเริ่มใช้งานได้ภายใน 1 หรือ 2 เดือนนี้

ตรวจคัดกรอง โควิด 19

 

รัฐมนตรีสาธารณสุข กับความรับผิดชอบการรับมือโรคระบาด

รัฐมนตรีสาธารณสุข ของทุกประเทศ กลายเป็นตำแหน่งสำคัญที่สุดในโลกตอนนี้ เพราะเป็นตัวแปรสำคัญกับนโยบายรับมือโรคระบาด และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยน ก็เป็นคนแรกของทุกรัฐบาลที่ถูกจับตา

related