svasdssvasds

ภัยแล้งครั้งรุนแรงในจีน หนุนส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจีนช่วง ก.ย.-ธ.ค. 65

ภัยแล้งครั้งรุนแรงในจีน หนุนส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจีนช่วง ก.ย.-ธ.ค. 65

จีนเผชิญภัยแล้งครั้งรุนแรงในรอบ 9 ปี หนุนส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจีนในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 แต่อานิสงส์คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมในไทย

 จีนเผชิญคลื่นความร้อนและภัยแล้งครั้งรุนแรง แม้สถานการณ์ได้เริ่มบรรเทาลงบ้างแล้วในบางพื้นที่ แต่คาดว่าวิกฤตคลื่นความร้อนนี้อาจลากยาวและส่งผลต่อพืชที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ดันความต้องการนำเข้าจากจีน โดยเฉพาะข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 จีนน่าจะนำเข้าข้าวจากไทยเป็นหลักในช่วงที่เหลือของปี 2565 ในจังหวะที่ผลผลิตข้าวไทยกำลังออกสู่ตลาด ขณะที่เวียดนาม ปากีสถาน รวมถึงอินเดีย น่าจะมีข้อจำกัดด้านผลผลิตและมาตรการจำกัดการส่งออก โดยข้าวหอมมะลิไทยน่าจะได้รับผลบวกในการส่งออกไปจีน คาดอยู่ที่ 95,000-100,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7-11.3 (YoY) นอกจากนี้ การที่ไทยกับเวียดนามกำลังเตรียมหารือร่วมกันในการดูแลราคาข้าวในตลาดโลก จะช่วยหนุนราคาข้าวหอมมะลิและข้าวในภาพรวมให้มีแนวโน้มยืนระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาสถานการณ์น้ำท่วมในไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจทำให้การส่งออกข้าวไทยไปจีนไม่ได้ผลบวกอย่างเต็มที่

 ภัยแล้งในจีน มาตรการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย การหารือเพื่อร่วมกันดูแลตลาดข้าวโลกของไทยและเวียดนาม คาดหนุนการส่งออกข้าวไทยไปจีนโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่อานิสงส์คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมในไทยด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• "ข้าวหอมมะลิ" ไทยคว้าแชมป์ข้าวดีที่สุดในโลก

• ข้าวไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ! ข้าวหอมมะลิไทยทวงบัลลังก์ผงาดซิวแชมป์โลก

• Easy Rice เผย ทำอย่างไรให้ข้าวไทยกลับมาผงาดตลาดโลกได้อีกครั้ง

 จีนเผชิญคลื่นความร้อนและภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในปี 2565 เป็นสถิติสูงสุดใหม่ ซึ่งอาจลากยาวตลอดเดือน ก.ย. - พ.ย.2565 กระทบต่อพืชเกษตรที่อาจเสียหาย ดันความต้องการนำเข้าจากจีน โดยจีนเผชิญคลื่นความร้อนที่ยาวนานที่สุดในรอบ 60 ปี ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำหลายสายลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะแม่น้ำแยงซีที่เป็นแม่น้ำสายหลักและเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเกษตรสำคัญ ได้ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ในวันที่ 19 ส.ค.2565 ทางการจีนได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านภัยแล้งระดับชาติเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี 

 แม้สถานการณ์คลื่นความร้อนได้เริ่มบรรเทาลงบ้างแล้วในบางพื้นที่ตั้งแต่ 25 ส.ค.2565 แต่กระทรวงเกษตรของจีน คาดว่า จีนจะยังคงมีคลื่นความร้อนปกคลุมอยู่ทั่วทุกภูมิภาคและอาจเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อพืชเกษตรในช่วง

 กำลังจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน ก.ย. - พ.ย.นี้ ทั้งนี้ จีนมีการผลิตข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้บริโภคในประเทศเกือบทั้งหมด ดังนั้น การที่ผลผลิตเหล่านี้ลดลง อาจทำให้จีนมีความต้องการนำเข้ามากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างแรงกดดันต่ออุปทานสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกที่ตึงตัวอยู่แล้วจากภาวะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ และอาจดันราคาให้ขยับขึ้นได้

 จีนน่าจะนำเข้าข้าวจากไทยเป็นหลักในช่วงที่เหลือของปี 2565 เพื่อชดเชยผลผลิตข้าวที่เสียหายของจีน ในจังหวะที่ข้าวนาปีของไทยกำลังออกสู่ตลาดโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ขณะที่แหล่งนำเข้าข้าวอื่น อาทิ เวียดนาม ปากีสถาน รวมถึงอินเดีย น่าจะมีข้อจำกัดด้านผลผลิตและมาตรการจำกัดการส่งออก แต่ต้องจับตาสถานการณ์น้ำท่วมในไทยและเศรษฐกิจจีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจทำให้การส่งออกข้าวไทยไม่ได้ผลบวกอย่างเต็มที่ โดยหากพิจารณาในรายการพืชเกษตรที่เสียหายและจีนอาจมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นพืชที่ตรงกับฤดูกาลของไทยที่สามารถให้ผลผลิตและส่งออกได้คงเป็นข้าวเป็นสำคัญ 

 ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี มักเป็นจังหวะที่จีนมีปริมาณการนำเข้าข้าวจากทั่วโลกในสัดส่วนสูงหากเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ ของปี โดยการนำเข้าข้าวจากไทยมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงอื่นๆ ของปี นอกจากนี้ แม้จีนจะนำเข้าข้าวจากอินเดียและเวียดนามในปริมาณที่มากกว่าไทย รวมถึงมีปากีสถานที่ไล่หลังไทยไม่มาก แต่เนื่องจากปัจจุบันอินเดียได้มีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว และผลผลิตข้าวของปากีสถานคงจะได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา คงเหลือเพียงเวียดนามและไทยที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ในการถูกเลือกเป็นแหล่งนำเข้าข้าวของจีน ขณะที่ทั้งเวียดนามและไทยมีความท้าทายจากปริมาณฝนและน้ำที่มากและอาจกระทบผลผลิตข้าวบางส่วน แต่ผลผลิตโดยรวมของทั้ง 2 ประเทศน่าจะยังคงเพียงพอต่อการส่งออก

 สำหรับข้าวเกรดคุณภาพ (พิกัด 100630 ซึ่งมีข้าวหอมมะลิรวมอยู่ด้วย) ที่ผ่านมาจีนนำเข้าจากไทยในปริมาณที่มากกว่าแหล่งนำเข้าอื่นๆ รวมถึงเวียดนามด้วย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ข้าวหอมมะลิไทยน่าจะได้รับผลบวกในการส่งออกไปจีน ซึ่งตรงกับช่วงที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาด โดยความต้องการจากจีน ประกอบกับการที่ไทยกับเวียดนามกำลังเตรียมหารือร่วมกันในการดูแลราคาข้าวในตลาดโลก จะช่วยหนุนราคาข้าวหอมมะลิและข้าวในภาพรวมให้มีแนวโน้มยืนระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง 

 อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาความเสี่ยงของสถานการณ์น้ำท่วมในไทยที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูฝนและอาจมีพายุเข้ามาเพิ่มเติมได้ ซึ่งหากสถานการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงมากขึ้นและขยายพื้นที่ความเสียหายไปในแหล่งปลูกข้าวเป็นวงกว้างมากขึ้น (ข้าวหอมมะลิปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ก็อาจกดดันต่อผลผลิตข้าวและอาจทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในการส่งออกข้าวหอมมะลิไปจีนที่ลดลงได้ 

 ด้วยเหตุนี้ ภายใต้สมมติฐานที่สถานการณ์น้ำท่วมไม่รุนแรงหรือผลกระทบต่อผลผลิตข้าวไม่ขยายวงกว้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.2565 ไทยอาจมีปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไปจีนอยู่ที่ราว 95,000-100,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7-11.3 (YoY) และทำให้ภาพรวมทั้งปี 2565 การส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยไปจีนอาจอยู่ที่ราว 155,480-160,480 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7-22.5 (YoY)

 นอกจากข้าวแล้ว ภัยแล้งในจีน คาดว่าจะช่วยหนุนความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจีน ซึ่งจะทำให้ไทยก็น่าจะได้รับอานิสงส์ในการส่งออกมันสำปะหลังไปจีนด้วย เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นสินค้าทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ แม้ว่าไทยจะไม่ได้ส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพราะยังผลิตได้ไม่พอก็ตาม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.2565 ไทยอาจมีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปจีนอยู่ที่ราว 3.3-3.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2-8.4 (YoY)

 ในระยะข้างหน้า การส่งออกข้าวไทยไปจีนอาจเผชิญความท้าทายจากนโยบายของทางการจีนที่เร่งลงทุนด้านการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะการขยายการลงทุนในธุรกิจเกษตรในห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลก เพิ่มเติมจากที่จีนมีการลงทุนขยายการเพาะปลูกไปในพื้นที่เกษตรหลายประเทศและการลงทุนในเทคโนโลยีทางการเกษตร เช่น การพยากรณ์ที่แม่นยำ รวมถึงเส้นทางสายไหมสำหรับอาหาร ทั้งนี้ แม้การดำเนินการดังกล่าวคงต้องใช้เวลา ทำให้ในระยะสั้นไทยอาจยังได้รับอานิสงส์จากความต้องการข้าวรวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ จากจีนอยู่ แต่หากจีนสามารถสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศได้ดีขึ้น จะส่งผลกดดันต่อการนำเข้าของจีน และทำให้ไทยอาจได้รับอานิสงส์ในการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนที่ลดลงตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ดังนั้น ไทยจึงควรมีการเตรียมความพร้อม เช่น เน้นผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างข้าวพื้นนุ่ม รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น เน้นการผลิตสินค้าคุณภาพอย่างสินค้าออร์แกนิกที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งควรขยายไปยังตลาดศักยภาพใหม่ๆ นอกจากจีน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เกาหลีใต้ เป็นต้น ขณะที่การพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยคงต้องเกาะไปกับเทรนด์ที่หลายประเทศผู้นำเข้าให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เช่น กลุ่มประเทศในยุโรป ที่เริ่มมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ในสินค้าเกษตรมากขึ้นทั้ง Water Footprint, Carbon Footprint เป็นต้น

related