ลานีญา คือ ปรากฏการณ์อากาศผันแปร ที่ส่งผลให้ภูมิอากาศของประเทศในทวีปเอเชีย และออสเตรเลีย มีฝนตกหนักมากกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสที่ประเทศในภูมิภาคดังกล่าว อาจเกิดสถานการณ์น้ำท่วมได้
ช่วงฤดูฝนประเทศไทยในปีนี้ อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันนั่นก็คือ ลานีญา (La Niña) ที่นักวิชาการหลายสำนัก รวมถึงกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ปี 2565 มีฝนตกมากกว่าปกติ จนก่อให้เกิดความกังวลว่าในบางพื้นที่ของประเทศไทย อาจจะประสบกับสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้ แล้วปรากฏการณ์ลานีญาคืออะไร ? SPRiNG ขอนำมาเล่าสู่กันดังต่อไปนี้
1. ทำความรู้จัก “ลานีญา” บุตรสาวของพระเจ้า
ลานีญา (La Niña) คือปรากฏการณ์ความผันแปรของสภาพอากาศ ในด้านตรงข้ามกับ เอลนีโญ (El Niño) ฉะนั้นแล้ว หากจะทำความเข้าใจว่า ลานีญา คืออะไร ก็ต้องทำความรู้จักกับเอลนีโญ ควบคู่กันไปด้วย
โดย เอลนีโญ เป็นภาษาสเปน แปลว่าบุตรชาย ส่วนลานีญา แปลว่าบุตรสาว ซึ่งชื่อเรียกนี้มีที่มาเมื่อประมาณ 400 ปีที่แล้ว บริเวณชายฝั่งประเทศเปรู อันเนื่องมาจากข้อสงสัยของชาวประมงที่จับปลาได้น้อยผิดปกติ และสถานการณ์ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ
ชาวประมงเปรูได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว น้ำอุ่นมักไหลเข้ามาแถบชายฝั่งเปรู ทำให้ปลาที่เคยชุกชุมหายไป จึงตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า เอลนีโญ (El Niño) ที่หมายถึง ลูกชาย หรือบุตรของพระเจ้า
เพราะปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นตอนปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส หรือวันคล้ายวันประสูติของพระเยซู และได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เอลนีโญ จะเกิดขึ้นทุก 2 - 3 ปี โดยเฉลี่ยจะยาวนานประมาณ 3 เดือน แต่บางครั้งก็กินเวลาไปกว่าปีครึ่งเลยเชียว
ต่อมาชาวประมงเปรู ก็ได้ตั้งข้อสังเกตกับอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ตรงข้ามกับเอลนีโญ จึงได้ตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า ลานีญา (La Niña) ที่แปลว่า ลูกสาว หรือบุตรสาวของพระเจ้า ซึ่งมักเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเอลนีโญ
บทความที่น่าสนใจ
จับตา! พายุลูกใหม่ มีแนวโน้มก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก 21 ก.ย.
2. ไขปริศนา เอลนีโญ กับลานีญา เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะเกิดขึ้นเมื่อใด ?
จากปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ต่อมานักวิทยาศาสตร์ก็ได้ทำการศึกษา จนสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นเมื่อใด โดยกุญแจสำคัญก็คือ ซีกโลกใต้ จึงเรียกทั้ง 2 ปรากฏการณ์นี้รวมกันว่า เอนโซ (ENSO) ที่ย่อมาจาก El Niño–Southern Oscillation ซึ่งหมายถึง ปรากฏการณ์อากาศผันแปรที่ซีกโลกใต้
วิธีการที่ใช้เพื่อคาดการณ์ว่า จะเกิดเอลนีโญและลานีญาหรือไม่นั้น ก็ด้วยการวัดความต่างของความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเลของเกาะตาฮิติ ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ กับเมืองดาร์วิน ในประเทศออสเตรเลีย แล้วนำค่าความกดอากาศของเกาะตาฮิติ ลบกับค่าความกดอากาศของเมืองดาร์วิน
สิ่งที่ใช้พิจารณาก็คือ เมื่อลบกันแล้ว มีค่าความต่างมากน้อยกันขนาดไหน โดยค่าความต่างดังกล่าว จะแสดงให้เห็นถึงความแรงและเบาของลมค้า หรือลมสินค้า (Trade Winds) ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดเอลนีโญและลานีญา
โดยสรุปก็คือ ถ้าหากค่าความกดอากาศของเกาะตาฮิติ กับเมืองดาร์วินต่างกันน้อย จะส่งผลให้ลมค้าพัดเบากว่าสภาวะปกติ ทำให้เกิดปรากฏการ์เอลนีโญ
ในทางกลับกัน ถ้าค่าความกดอากาศของทั้ง 2 แห่งแตกต่างกันมาก จะทำให้ลมค้าพัดแรงขึ้นกว่าสภาวะปกติ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ลานีญา
3. “ลมค้า” ตัวแปรสำคัญทำให้เกิดเอลนีโญและลานีญา
3.1 สภาวะปกติ
ในสภาวะปกติ ลมค้าจะพัดกระแสน้ำอุ่นจากมหาสมุทรแปซิฟิก ฝั่งตะวันออก คือ แถบทวีปอเมริกาใต้ ไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ฝั่งตะวันตก คือ แถบทวีปเอเชียและออสเตรเลีย
เมื่อผิวน้ำอุ่นถูกลมค้าพัด น้ำเย็นจากใต้มหาสมุทรก็จะเข้ามาแทนที่ทีละชั้น จากชั้นน้ำลึก (Deep Water) มายังชั้นกลาง (Thermocline) กระทั่งถึงชั้นผสมผิวหน้าน้ำ (Mixed Layer) ซึ่งเป็นชั้นที่น้ำอุ่นเคยอยู่ก่อนถูกลมค้าพัดพา ส่งผลให้น้ำทะเลฝั่งตะวันตก สูงกว่าฝั่งตะวันออก 0.8 -1 เมตร
น้ำอุ่นที่ถูกลมค้าพัดไปทางเอเชีย จะระเหยกลายเป็นไอน้ำ ยกตัวขึ้นบริเวณประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดพายุฝนพัดเข้าแผ่นดิน ฝนในเอเชียจึงตกต้องตามฤดูกาล เอื้อประโยชน์ทางด้านการเกษตร
ส่วนแถบอเมริกาใต้ ได้ประโยชน์จากแร่ธาตุที่พัดมากับกระแสน้ำเย็น แพลงก์ตอนจึงเจริญเติบโตได้ดี ทำให้ปลาชุกชุม เอื้อประโยชน์ทางด้านการประมง
3.2 ปรากฏการณ์เอลนีโญ
แต่ถ้าค่าความกดอากาศของเกาะตาฮิติ กับเมืองดาร์วินต่างกันน้อย จะทำให้ลมค้าพัดเบาลงกว่าสภาวะปกติ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ
เพราะเมื่อลมค้าพัดเบาลง แทนที่ปลายทางของกระแสน้ำอุ่นจะเป็นฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (เอเชีย ออสเตรเลีย) กระแสน้ำอุ่นก็จะย้อนกลับฝั่งอเมริกาใต้ น้ำเย็นจากชั้นน้ำลึก จะขึ้นมาได้น้อยกว่าปกติ เพราะถูกกระแสน้ำอุ่นบนผิวน้ำที่ไหลกลับกดทับ ทำให้ระดับทะเลฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก สูงกว่าฝั่งตะวันตก
ส่วนฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก น้ำเย็นจะไหลมาแทนที่น้ำอุ่น (ที่ไหลย้อนกลับ) ส่งผลให้ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรเอเชียแปซิฟิก ซึ่งก็คือทวีปเอเชีย และออสเตรเลีย เกิดความแห้งแล้ง อันเนื่องมาจากฝนตกน้อยลงเมื่อเทียบกับสภาวะปกติ จนอาจเกิดภัยแล้งได้
ส่วนฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ก็จะได้รับผลกระทบที่ตรงกันข้าม ฝนจะตกหนักผิดปกติ เพราะน้ำอุ่นระเหยเป็นไอน้ำมาก ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วม แพลงก์ตอนถูกกระแสน้ำอุ่นกดทับ ทำให้ปลาขาดแคลนอาหารจนลดจำนวนลง
3.3 ปรากฏการณ์ลานีญา
แต่ถ้าค่าความกดอากาศระหว่างเกาะตาฮิติ กับเมืองดาร์วิน ต่างกันมาก จะทำให้ลมค้าพัดแรงกว่าปกติ การเดินทางของกระแสน้ำอุ่นจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นไปอย่างรุนแรง ส่งผลให้กระแสน้ำอุ่นกินพื้นที่มากกว่าสภาวะปกติ น้ำเย็นจากชั้นน้ำลึกของทะเลฝั่งอเมริกาใต้ จะขึ้นมาบนผิวน้ำแทนที่น้ำอุ่นที่ถูกพัดพา
ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ลานีญา จะตรงข้ามกับเอลนีโญ โดยในฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก เอเชียและออสเตรเลีย จะมีฝนมากกว่าปกติ จนก่อให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมได้ ในทางกลับกันฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก คือ อเมริกาใต้ ก็จะแห้งแล้งกว่าปกติ จนอาจเกิดสถานการณ์ภัยแล้งตามมา
โดยสรุปแล้ว ปรากฏการณ์ลานีญา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะมากกว่าปกติ เช่น ในช่วงฤดูฝน ฝนก็จะตกมากกว่าปกติ จนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ส่วนปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้เกิดสถานการณ์ตรงข้ามกับสภาวะปกติ เช่น ฤดูฝน แต่กลับเกิดภัยแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นต้น
ซึ่งปรากฏการณ์ลานีญา ที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย ได้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ในปี 2565 มีฝนตกมากตั้งแต่ต้นฤดูกาล โดยคาดการณ์ว่า สถานการณ์ลานีญาจะอ่อนตัวลงในช่วงปลายปีนี้
References
DLIT Resources คลังสื่อการสอน ตอน 1