svasdssvasds

ปากีสถานอ่วมหนัก! 'Lahore City' ขึ้นแท่น เมืองมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก

ปากีสถานอ่วมหนัก! 'Lahore City' ขึ้นแท่น เมืองมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก

วิกฤตน้ำท่วมปากีสถานที่ลากยาวมาระยะหนึ่ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,200 ราย ผู้บาดเจ็บมากกว่า 12,000 ราย (ยังไม่รวมผู้หายสาบสูญ) แต่สภาพการณ์เลวร้ายยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะบางเมืองในปากีสถานขึ้นแท่น 'เมืองมลพิษทางอากาศสูงสุดในโลก' แซงหน้าอินเดียไปแล้ว!

สถานการณ์ชวนหวั่นใจจริงๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นใน ปากีสถาน เพราะนอกจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันทำให้เกิดความสูญเสียอย่างหนัก ยังพบว่า คุณภาพอากาศในบางเมืองย่ำแย่จนแซงหน้า อินเดีย ไปอีก!

ชาวเมืองใดในปากีสถานที่ประชาชนต้องสู้ชีวิตอย่างหนัก?

เมื่อค้นข้อมูลด้านการตรวจวัดคุณภาพอากาศบน Air quality index (AQI) ทั้งที่เป็นข้อมูลย้อนหลังและปัจจุบัน พบชื่อเมือง อิสลามาบัด (Islamabad), ละฮอร์ (Lahore), การาจี (Karachi) และ ไฟซาลาบัด (Faisalabad) ที่เคยติด Top 10 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก แต่ที่ชวนเอะใจคือ ละฮอร์ เมืองที่ตั้งอยู่ในรัฐปัญจาบ 

ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ย. 65 (เนื่องจากคุณภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางลมและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เมืองที่ขึ้นแท่นอากาศยอดแย่จึงสลับสับเปลี่ยนกันไป)

สาเหตุที่ ละฮอร์ กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศ

งานวิจัย Study of Exhaust Emissions from Different Fuels based Vehicles in Lahore City of Pakistan ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2018 ที่เน้นการวัดระดับมลพิษทางอากาศเนื่องจากการจราจรคับคั่งในเมืองละฮอร์ ระบุว่า แหล่งก่อมลพิษหลักมาจาก ไอเสียจากยานพาหนะ 2 ล้อและ 4 ล้อที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ ซึ่งมีความเข้มข้นของ คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide : CO2) ไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen Oxide : NOx) และ ซัลเฟอร์ออกไซด์ (Sulfur Oxide : SOx) ในระดับสูง

ข้อมูลอีกแหล่งจาก Pakistan Environmental Protection Agency (Pak-EPA) ระบุ 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองละฮอร์ คือ 1) การปล่อยไอเสียจากยานพาหนะ และ 2) การปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ตามมาด้วย การใช้เตาอิฐเผาถ่านหิน การเผาพืชผลทางการเกษตรกับของเสียทั่วไป รวมถึงฝุ่นจากสถานที่ก่อสร้าง 

ขณะที่ 2018 World Air Quality Report มีข้อมูลว่าในปีนั้น ละฮอร์ติด Top 10 คุณภาพอากาศย่ำแย่ และแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนต้องเผชิญปัญหาหมอกควัน (Smog) หนักขึ้น ซึ่งนอกจากส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ การมองเห็น ยังเจออุปสรรคในการคมนาคมร่วมด้วย

Source : atlanticcouncil.org

ปากีสถานอ่วมหนัก! 'Lahore City' ขึ้นแท่น เมืองมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก

.....................................................................................................

ย้อนดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ บ่งชี้ว่า ปากีสถานกำลังเผชิญ Climate Crisis อย่างหนัก

.....................................................................................................

สิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับ ปากีสถาน

Sherry Rahman, Pakistan | #WorldCleanAirDay 2022

"เรามุ่งที่จะทำให้มลพิษทางอากาศดีขึ้นและลดการปล่อยมลพิษลง ขณะเดียวกัน เราก็กำลังผ่านปีหายนะของวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" เชอร์รี เรห์มาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถาน กล่าวเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 เนื่องในวันอากาศสะอาดสากล #WorldCleanAirDay 

  • ปากีสถานมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึงร้อยละ 1 แต่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่แนวหน้าของภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมโลก (ที่มา : สำนักข่าวซินหัว) 
  • เพื่อต่อสู้กับมลพิษทางอากาศ ปากีสถานจัดทำ 'แผนริเริ่มพิเศษเพื่อเฝ้าติดตามภาคส่วนที่ก่อมลพิษ' ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม บริษัทจัดการขยะ ฯลฯ ตามลำดับความสำคัญ (ที่มา : สำนักข่าวซินหัว) 
  • ปากีสถานจัดตั้ง 'กระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถาน' (Ministry of Climate Change, Govt of Pakistan) เพื่อแก้ปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้น (ที่มา : environment.gov.pk)
  • อิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ของปากีสถานตั้งเป้าให้มีการผลิตพลังงาน 30% จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ภายในปี 2573 (ที่มา : foreignpolicy.com)

Chauburji building in Lahore | Source : Unsplash

ระบบคาดการณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้าของ iqair.com ระบุ อากาศในเมือง Lahore ยังไม่ดีต่อสุขภาพอีกพักใหญ่

แนวทางที่ปากีสถานใช้เพื่อลดผลกระทบจากคุณภาพอากาศแย่

  • สนับสนุนให้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์รุ่นใหม่ (กรณีของมอเตอร์ไซค์ให้ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ แทน 2 สูบ)
  • ดูแลยานพาหนะให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์อยู่เสมอเพื่อลดการสร้างมลภาวะทางอากาศ
  • ห้ามสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพักอาศัย
  • ใช้หลัก 3R ได้แก่ Reduce, Reuse, Recycle
  • ปลูกต้นไม้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น 'โครงการปากีสถาน สะอาด สีเขียว' ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2018 โดยตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 1 หมื่นล้านต้นทั่วประเทศ
  • หน่วยงาน The Punjab Environmental Protection Agency (EPA) วางแผนที่จะใช้งบซ่อมแซมและบำรุงรักษาสถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลคุณภาพอากาศที่ถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น (แต่ก็เกิดข้อถกเถียงว่า  ที่ผ่านมาไม่ได้นำงบไปใช้พัฒนาสถานีฯ แต่อย่างใด)
  • จัดทำโครงการ Punjab Green Development Program (PGDP) รวมถึงการจัดตั้งสถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศในละฮอร์อีก 10 แห่ง

เห็นปัญหามลพิษทางอากาศที่สั่งสมในปากีสถานกับแนวทางแก้ปัญหาแล้ว ในฐานะประชากรไทย-ประชากรโลก เราจะช่วยประเทศหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เมืองของเราได้อย่างไรบ้าง?

.....................................................................................................

ที่มา 

related