svasdssvasds

พวงหรีดดอกไม้สด กับการเลือกตั้งประเทศไทย

พวงหรีดดอกไม้สด กับการเลือกตั้งประเทศไทย

ช่วง 180 วันก่อนครบอายุสภาผู้แทนราษฎร กกต.ออกกฎห้ามวางพวงหรีดพัดลม ผ้าห่ม รวมถึงข้าวของต่างๆ โดยแนะให้ใช้พวงหรีดดอกไม้สด เพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งก็ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า เป็นแนวทางที่จะสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่

วานนี้ (28 ก.ย.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. โดย ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. ได้เข้าพบคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อชี้แจงแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งของ ส.ส.ในช่วงเวลา 180 วันก่อนครบอายุสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 มี.ค. 2566

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ การร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพ และการมอบพวงหรีดแสดงความไว้อาลัยตามธรรมเนียมประเพณี โดย กกต.มองว่า การมอบพวงหรีดที่ทำโดยใช้สิ่งของเช่น ผ้าห่ม พัดลม หรือข้าวของเครื่องใช้ในแบบอื่นถือว่าเป็นสิ่งของ สุ่มเสี่ยงต่อข้อห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งไม่ควรทำและไม่ควรใช้ความได้เปรียบในการหาเสียง ซึ่ง กกต.มองว่า การให้พวงหรีดเป็นดอกไม้สดจะได้บุญมากกว่า

เกี่ยวกับเรื่องพวงหรีดในมุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น ในอดีตที่ผ่านมาหลายปีก่อนหน้านี้ มีการรณรงค์ให้เปลี่ยนการใช้พวงหรีดจากดอกไม้สดมาเป็นข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้จริง ได้ประโยชน์กับคนยากไร้ พระสงฆ์ หรือฆราวาส ที่เดินทางมาทำกุศลกิจที่วัด มากกว่า

พวงหรีดดอกไม้สด กับการเลือกตั้งประเทศไทย

บทความที่น่าสนใจ

ซึ่งหากจะมองในมุมข้อมูลของจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศไทย จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2554 ตลอดทั้งปีมีคนไทยเสียชีวิต 414,670 คน จนถึงปัจจุบัน หากไม่นับรวมสถานการณ์โควิด ตัวเลขผู้เสียชีวิตต่อวันของคนไทยก็น่าจะยังอยู่ในระดับ 4 แสนคนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 1,100 คน ตัดเศษออกเหลือ 1,000 คนต่อวัน

และหากคิดต่อไปอีก โดยคิดเพียงแค่ครึ่งเดียวของจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวัน (เนื่องจากอาจมีผู้เสียชีวิตที่นับถือศาสนาที่แตกต่างกัน) ก็ประมาณได้ว่าจะมีงานศพ 500 งานต่อวัน 1 งานต้องมีพวงหรีดดอกไม้สด 1 พวง เท่ากับว่า ประเทศไทยจะมีพวงหรีดดอกไม้ที่ใช้แล้วทิ้งเป็นขยะ ไม่เกิดประโยชน์ วันละ 500 พวง และจะเท่ากับว่า เรามีพวงหรีดที่ต้องทิ้งเสียเปล่าไปปีละเกือบ 2 แสนพวง ถามต่อว่า สองแสนพวงนี้ไปไหนต่อ ก็กลายเป็นขยะที่รอการทำลายต่อไป

ที่ผ่านมาหลายคนเล็งเห็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกรณีพวงหรีดดอกไม้สด ก็มีคนพยายามคิดหาหนทางนำพวงหรีดดอกไม้สด มาแปรรูปกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น บางคนก็ไปคิดหาทางแปลงพวงหรีดดอกไม้สดใช้แล้วให้เป็นกระดาษ นำกลับมาใช้ ต่อมาก็มีคนปิ้งไอเดียเปลี่ยนพวงหรีดดอกไม้สดไปเป็นพวงหรีดผ้าห่ม พวงหรีดพัดลม นาฬิกา ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก็เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ และการพยายามหาทางแก้โจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม

พวงหรีดดอกไม้สด กับการเลือกตั้งประเทศไทย

พัฒนาการของการหาทางแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่หยุดเพียงแค่ พวงหรีดพัดลม หรือพวงหรีดผ้าห่ม จากการสำรวจการขายพวงหรีดออนไลน์ผ่านหน้าเว็บต่างๆ SpringNews พบว่ามีคนคิดทำพวงหรีดจากวัสดุต่างๆ ที่มีทั้งรีไซเคิลได้ และวัสดุที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ในราคาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับข้าวของที่นำมาใช้ เช่น พัดลมอุตสาหกรรม ตัวใหญ่บางร้านก็มีราคา 3,000-4,000บาท พวงหรีดต้นไม้ ราคาก็จะอยู่ในราว 2,500 บาท พวงหรีดที่ทำจากเสื่อจะมีราคาอยู่ที่ 1,500 บาท หรือพวงหรีดกระดาษที่แบ่งปันรายได้ให้แก่มูลนิธิต่างๆ ส่วนพวงหรีดดอกไม้สดนั้นจะมีราคา ตั้งแต่ 1,500 - 4,000 บาท

และจากการสอบถามผู้ประกอบการบางราย SpringNews พบว่ายอดการสั่งซื้อพวงหรีดในปัจจุบัน การสั่งพวงหรีดดอกไม้สดลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่การสั่งพวงหรีดแบบรีไซเคิล หรือพวงหรีดที่ทำจากข้าวของเครื่องใช้ กลับได้รับความนิยมสูงขึ้นในทุกปี นอกจากนี้ SpringNews ยังสอบถามถึงปลายทางของพวงหรีดดอกไม้สดต่างๆ หลังการใช้งานว่าจะไปจบที่ไหน ก็พบว่า บางวัดก็ส่งทำลาย อาจจะด้วยการเผา และบางวัดก็นำมาทิ้งเป็นขยะต่อไป

คำถาม จึงเกิดขึ้นว่า แนวคิดของ กกต.เรื่องการห้ามใช้พวงหรีดที่ทำจากข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาจากเงื่อนไขใดกันแน่

แหล่งข่าวใน กกต.กล่าวว่า การให้พวงหรีดที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ เป็นสิ่งที่คงอยู่ถาวร ในมุมมองผู้ควบคุมกฎหมายในการเลือกตั้ง โดยภารกิจ หน้าที่ ก็ไม่อาจละเลยเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากเมื่อเปิดสนามเลือกตั้ง และมีการหาเสียงเกิดขึ้น การร้องเรียน จะเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดตามมา ต่างฝ่ายก็อาจมีข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจน จนเกิดเป็นประเด็นข้อร้องเรียนตามมาได้ในภายหลัง สิ่งที่ กกต. เป็นห่วงจึงเพียงแค่กล่าวในมุมมองของความเสี่ยงต่อข้อกฎหมาย และแนะนำแนวทางที่เหมาะสมเท่านั้น

ซึ่งหลังจากที่เรื่องนี้ปรากฎเป็นข่าวออกไป พบว่ามีนักการเมืองบางรายเริ่มประกาศจุดยืนที่ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยระบุชัดเจนในช่องทางสื่อสารของตนเองว่า สามารถเดินทางไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพตามคำเชิญ แต่ไม่สามารถมอบพวงหรีดใดๆ ได้ เนื่องจากอยู่ในห้วงเวลาที่อาจกระทบต่อภารกิจทางการเมือง จึงขอชี้แจง อธิบายให้ทุกท่านทราบล่วงหน้า

สรุปว่า เหล่านักการเมืองที่ต้องลงสนามเลือกตั้ง ต่างก็มีแนวโน้มปรับตัวต่อเรื่องดังกล่าว เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับตนเองในอนาคตด้วยอยู่แล้ว ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ ก็เปลี่ยนไปในทิศทางเพื่อการลดขยะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ถือเป็นอันจบดราม่าพวงหรีดงานศพกับการเลือกตั้งไป

related