svasdssvasds

คาดการณ์มวลน้ำภาคกลาง 56 ชั่วโมงก่อนถึงกรุงเทพ ปัจจัยเฝ้าระวังท่วมหรือไม่

คาดการณ์มวลน้ำภาคกลาง 56 ชั่วโมงก่อนถึงกรุงเทพ ปัจจัยเฝ้าระวังท่วมหรือไม่

สถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าสร้างความกังวลอย่างมาก ว่าจะเกิดสถานการณ์ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554 หรือไม่ จริงๆแล้วมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ต้องประเมินร่วมกัน แต่จากการคาดการณ์ระยะเวลาของมวลน้ำอยู่ที่ประมาณ 56 ชั่วโมง จากเขื่อนเจ้าพระยาถึงกรุงเทพฯ

สถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าสร้างความกังวลอย่างมากให้กับประชาชนอย่างเราๆ ว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554 หรือไม่ จริงๆแล้วมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ต้องใช้ประเมินร่วมกัน ทั้งสถานการณ์น้ำฝน การระบายน้ำของเขื่อนต่างๆ การผันน้ำเข้าทุ่ง น้ำทะเลหนุน หรือแม้แต่การเร่งผลักดันน้ำออกทะเล

น้ำท่วมปี 2565 น้ำท่วมอยุธยา ถ่ายเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 ก่อนหน้านี้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เพิ่มสูงขึ้นและต้องเพิ่มการระบายน้ำออกมา เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักและหนักมากในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลมามากในระดับหนึ่ง ก่อนจะมารวมกับน้ำที่มาจากเเม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขา และลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการเพิ่มการระบายน้ำ ซึ่งล่าสุดวันนี้ (4 ต.ค. 2565) จากข้อมูลเรียลไทล์ของศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคกลาง รายงานเวลา 11.00 น. การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 2,668 ลบ.ม./วินาที

น้ำท่วมปี 2565 น้ำท่วมอยุธยา ถ่ายเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แต่ถ้าจะพูดถึง น้ำท่วมกรุงเทพฯ ยังมีอีก 1 เส้นทางน้ำที่ต้องจับตาและประเมินสถานการณ์ร่วมกันอย่างใกล้ชิด นั่นคือ แม่น้ำป่าสัก จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งวันนี้ (4 ต.ค. 65) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประการเฝ้าระวังระดับน้ำ เนื่องจากทางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะทยอยปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำ จาก 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไปถึง 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นั่นหมายความว่าพื้นที่ริมน้ำท้ายเขื่อน ไปจนถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะสูงขึ้น 40 เซนติเมตร -1 เมตร ขณะที่ท้ายเขื่อนพระรามหก ระดับน้ำจะสูงขึ้น 40-60 เซนติเมตร

สถานการณ์น้ำ แม่น้ำป่าสัก 4 ต.ค. 2565 ซึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ เมื่อแม่น้ำป่าสัก มาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 25-50 เซนติเมตร ซึ่งจะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะส่งผลให้น้ำอัดย้อนเข้ามาในแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น จุดนี้ถือว่าสำคัญเพราะระดับน้ำ 3,500 ลบ.ม./วินาที ถือเป็นจุดสูงสุดที่จะรับได้  ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะใช้วิธี “หน่วงน้ำ” โดยการผันน้ำเข้าไปเก็บในทุ่งบางระกำ แต่วันนี้ทุ่งบางระกำเองก็รับน้ำจนเต็มความจุแล้ว และขณะนี้ยังมีน้ำหลากจากแม่แม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีกปัจจัย

น้ำท่วมปี 2565 น้ำท่วมอยุธยา ถ่ายเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565

การเข้าใจเส้นทางน้ำเบื้องต้น จะช่วยให้เราประเมินสถานการณ์ได้ว่าน้ำท่วมปี 2565 จะรุนแรงเท่าน้ำท่วมปี2554 หรือไม่ แต่เชื่อว่าหลายคนก็ยังไม่มั่นใจเพราะฝนที่ตกหนักตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.ย.-ต.ค. แบบไม่พักลืมหูลืมตา จนทำให้เมืองหลวงของไทย กลายเป็นทะเลกรุงเทพ

น้ำท่วมปี 2565 วันนี้เราจะไปดูระยะเวลาเดินทางของมวลน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ใช้เวลาคร่าวๆ ประมาณ 56 ชั่วโมงจากเขื่อนเจ้าพระยา ก่อนถึงกรุงเทพฯ* 

(*การประเมินดังกล่าวยังไม่รวมถึงสถานการณ์แม่น้ำป่าสัก อิทธิพลของน้ำทะเลหนุน ปริมาณฝน การเพิ่มขึ้น/ลดลงขอการระบายน้ำ รวมถึงการผลักดันน้ำของออกสู่อ่าวไทย)

  • จากสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ >> ไปสถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ระยะทาง 98 กิโลเมตร ใช้เวลา 24 ชั่วโมง
  • จากสถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท >>ไปสถานี C.3 อ.เมืองสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี ระยะทาง 51 กิโลเมตร ใช้เวลา 10 ชั่วโมง
  • จากสถานี C.3 อ.เมืองสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี >>ไปสถานี C.7A อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง ระยะทาง 45 กิโลเมตร ใช้เวลา 8 ชั่วโมง
  • จากสถานี C.7A อ.เมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง >>ไปสถานี C.35 อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 33 กิโลเมตร ใช้เวลา 6 ชั่วโมง
  • จากจ.พระนครศรีอยุธยา >>ไปเทศบาลนครปทุมธานี** ระยะทาง 49 กิโลเมตร ใช้เวลา 8 ชั่วโมง

**การประเมินเส้นทางจากจากจ.พระนครศรีอยุธยา ไปเทศบาลนครปทุมธานี เป็นแบบแนวตรงเท่านั้น ในความเป็นจริงแม่น้ำเจ้าพระยายังมีแตกแขนงการระบายน้ำไปทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกอีก ดังนั้นระยะเวลาและระดับน้ำก่อนถึงกรุงเทพฯอาจมีการเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์น้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา 4 ต.ค. 2565 แต่ถ้าจะถามว่าแล้วตอนนี้ที่เจอสถานการณ์ “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” คืออะไร?

คำตอบง่ายๆคือ "น้ำฝนที่ตกลงหนักถึงหนักมาก" บวกกับนน้ำทะเลหนุนบางช่วง ทำให้การระบายน้ำทำไม่ทัน แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะเริ่มดำเนินการเตรียมรับมือก่อนหน้านี้มาแล้วทั้งการลอกท่อ ลอกคูคลอง เก็บขยะไม่ให้ขวางทางน้ำ แต่ฝนตามธรรมชาติที่ตกลงมาหนักเกินกว่าจะรับมือได้แบบรายชั่วโมง ดังนั้นหากในห้วงฤดูฝนอีกประมาณ 1 เดือนที่เหลือ ยังมีฝนตกซ้ำต่อเนื่อง เมื่อบวกกับน้ำเหนือที่ทยอยไหลลงสู่ทะเลต่อเนื่อง สถานการณ์ของคนที่ราบลุ่มภาคกลางและชาวกรุง ก็ดูจะไม่สดใสนัก

related