svasdssvasds

อุณหภูมิโลกทะยานทะลุ 1.5 องศา ส่งเดือนกรกฎา 66 ร้อนสุดในรอบแสนปี

อุณหภูมิโลกทะยานทะลุ 1.5 องศา ส่งเดือนกรกฎา 66 ร้อนสุดในรอบแสนปี

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเห็นพ้อง เดือนกรกฎาคมปีนี้ ถือเป็นเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 120,000 ปี และมีวันที่อุณหภูมิโลกสูงทะลุเป้าหมายคุมโลกร้อนตามความตกลงปารีสถึง 16 วัน

ข้อมูลวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศโลกในเดือนกรกฎาคม 2566 โดยสถาบันวิจัยภูมิอากาศชั้นนำทั่วโลกระบุชัด ผลพวงจากสภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ เดือนกรกฎาคมนี้ เป็นเดือนที่มีสภาพอากาศร้อนจัดที่สุดเท่าที่เคยมีการตรวจวัดมา ตามรอยเดือนมิถุนายน ที่ทำสถิติเดือนมิถุนาที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ไปก่อนหน้าแล้ว

โดยผลการวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก และ European Union’s Copernicus Climate Change Service ชี้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วง 23 วันแรกของเดือนกรกฎาคม ได้พุ่งสูงถึง 16.95 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยเดิมของเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุดในปี 2562 เกือบหนึ่งองศา

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังพบว่า อุณหภูมิโลกยังได้พุ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเพดานการควบคุมสภาวะโลกร้อนตามความตกลงปารีส ถึง 16 วัน  

อุณหภูมิโลกในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในรอบกว่า 80 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติอุณหภูมิ” Carlo Buontempo ผู้อำนวยการของ European Union’s Copernicus Climate Change Service กล่าว

“หากโลกไม่ปุบปับเข้าสู่ยุคน้ำแข็งซะก่อน เดือนกรกฎาคมนี้จะทำลายสถิติเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Buontempo กล่าวว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจนทำลายสถิติ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยน้ำมือมนุษย์ เสริมกับผลพวงของปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังแรงในมหาสมุทรแปซิฟิก ก่อให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรง ไฟป่า และภัยพิบัติจากสภาพอากาศสุดขั้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมากทั่วโลก นอกจากนี้ สภาวะโลกร้อนที่ยังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยังทำให้มหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้น และพืดน้ำแข็งขั้วโลกหดละลายลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ

เดือนกรกฎาคมนี้ไม่เพียงทำลายสถิติอุณหภูมิเท่าที่ได้มีการบันทึกไว้เท่านั้น Karsten Haustein นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไลป์ซิก ในเยอรมนี เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาข้อมูลสภาพอากาศโลกในอดีตจากวงปีต้นไม้ แกนน้ำแข็ง และสิ่งบ่งชี้ในธรรมชาติอื่นๆ พบว่า เดือนกรกฎาคมนี้เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบกว่า 120,000 ปี

กราฟสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลก นับตั้งแต่ 1958 - 2023   ที่มา: CarbonBrief

สภาพภูมิอากาศโลกที่ร้อนทำลายสถิติ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาคมโลกต้องให้ความสำคัญ เพราะเรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่จะมีชีวิตรอดอยู่ในโลกที่ร้อนกว่าสมัยไหนๆ ที่มนุษยชาติเคยผ่านพบมา” Andrea Dutton นักภูมิอากาศวิทยาจาก University of Wisconsin-Madison กล่าว

อุณหภูมิโลกที่ยังทะยานขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าและสาธารณูปโภคต่างๆ สภาพอากาศที่ร้อนจัดยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายมนุษย์ จนอาจไม่สามารถมีชีวิตรอดได้อีกด้วย” Dutton กล่าว

 

ที่มา: AP

related