svasdssvasds

อนาคตจิ้งจอกอาร์กติกมืดมน เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกหดหาย

อนาคตจิ้งจอกอาร์กติกมืดมน เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกหดหาย

นักวิจัยเผย ผลพวงโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำลายแหล่งหากินจิ้งจอกอาร์กติก สุดท้ายอาจกลายเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ตามรอยหมีขั้วโลก

ไม่เพียงแต่หมีขั้วโลกที่กำลังเผชิญความเสี่ยงสูญพันธุ์จากการหดหายของแพน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ ไม่นานมานี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Manitoba ในแคนาดา ได้เปิดเผยผลวิจัยชี้ว่า ประชากรจิ้งจอกอาร์กติก ก็กำลังลดลงเช่นกัน

James Roth นักวิจัยเจ้าของโครงการ เปิดเผยว่า จากการศึกษาประชากรจิ้งจอกอาร์กติก โดยการเปรียบเทียบสถิติการจับจิ้งจอกเพื่อล่าเอาขนในพื้นที่อ่าวฮัดสัน ประเทศแคนาดา นับตั้งแต่ปี 2498 จนถึง 2555 พบว่า จำนวนประชากรจิ้งจอกอาร์กติก เริ่มลดจำนวนลง นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา

แม้ว่าผลการศึกษาจะไม่ได้ระบุชัดถึงสาเหตุการลดลงของจำนวนประชากรจิ้งจอกอาร์กติก แต่นักวิจัยก็ได้สันนิษฐานว่า การหดหายของน้ำแข็งขั้วโลกมีความเกี่ยวพันกับจำนวนประชากรจิ้งจอก เพราะสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกใช้แพน้ำแข็งทะเลในการออกล่าลูกแมวน้ำ นกทะเล และปลา เป็นอาหาร บางครั้งพวกมันยังคอยกินซากแมวน้ำที่เหลือจากหมีขั้วโลกล่าและกินทิ้งเอาไว้บนแพน้ำแข็งอีกด้วย

สุนัขจิ้งจอกอาร์กติก ที่มา: WWF

ดังนั้นการหดหายของแพน้ำแข็งจึงกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของจิ้งจอกอาร์กติกโดยตรง เพราะแพน้ำแข็งที่ลดลงนอกจากจะลดโอกาสที่สุนัขจิ้งจอกเหล่านี้จะล่าเหยื่อได้ ยังทำให้หมีขั้วโลกล่าเหยื่อได้น้อยลงด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิจัยในโครงการเผยว่า การลดจำนวนของสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกยังสอดคล้องกับการลดลงของพื้นที่น้ำแข็งในอ่าวฮัดสัน ที่พบว่า นับตั้งแต่ช่วงพ.ศ. 2520 จำนวนวันที่อ่าวฮัดสันจะไร้น้ำแข็งทะเลมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 20 วันแล้ว และยิ่งทะเลไร้น้ำแข็งนานเท่าใด ยิ่งส่งผลกระทบต่อประชากรจิ้งจอกอาร์กติกเท่านั้น

“งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของหิมะและน้ำแข็ง ต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการให้พึ่งพิงนิเวศเหล่านี้ และยิ่งมือขั้วโลกเหนืออุ่นขึ้นเรื่อยๆ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็จะยิ่งอยู่รอดยากยิ่งขึ้น” Roth กล่าว

อนาคตจิ้งจอกอาร์กติกมืดมน เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกหดหาย

ขั้วโลกเหนือเป็นบ้านของสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกกว่า 630,000 ตัว ถึงแม้เมื่อเทียบจำนวนของพวกมันกับสปีซีย์อื่นๆ แล้ว จิ้งจอกอาร์กติกยังไม่มีความเสี่ยงสูญพันธุ์ แต่จากการหดหายของน้ำแข็งขั้วโลกทำให้จิ้งจอกอาร์กติกลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และสัตว์ที่จะได้รับผลกระทบหนักกว่าจิ้งจอกอาร์กติกก็คือหมีขั้วโลก ที่มีจำนวนน้อยกว่ามาก อาจถึงกับสูญพันธุ์ หากน้ำแข็งทะเลหมดไป

เมื่อเร็วๆ นี้ งานวิจัยอีกชิ้นโดย คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เผยว่า จากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกในตอนนี้ เราสายไปแล้วที่จะปกป้องพืดน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ โดยจากผลกระทบภูมิอากาศโลกที่อุ่นขึ้น จะทำให้แพน้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะละลายหายไปหมดในช่วงฤดูร้อน นับตั้งแต่ช่วงปี 2573 เป็นต้นไป

related