svasdssvasds

แม่น้ำโขง-ไนล์-มิสซิสซิปปี เสี่ยงจมน้ำ! หลังโลกร้อนทำระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

แม่น้ำโขง-ไนล์-มิสซิสซิปปี เสี่ยงจมน้ำ! หลังโลกร้อนทำระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

ภายในปี 2070 ระดับน้ำทะเลทั่วโลกอาจเพิ่มสูงขึ้น 70 ซม. ส่งผลให้พลเมืองตามแนวชายฝั่งกว่า 900 ล้านชีวิตอาจได้รับผลกระทบครั้งใหญ่ แม่น้ำโขง แม่น้ำไนล์ แม่น้ำมิสซิสซิปปี ไม่รอด! เตรียมจมใต้บาดาล

สถานการณ์ของสภาพภูมิอากาศของโลกยังคงเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประเมินว่า

ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ มีสิทธิสูงที่ ‘ระดับน้ำทะเล’ ทั่วโลกจะหนุนสูงขึ้น 8 – 29 ซม. ภายในปี 2030 ซึ่งหากเป็นจริงดังที่นักวิทยาศาสตร์ว่าไว้ ประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรอาจได้รับผลกระทบขนานใหญ่

ข้อมูลดังกล่าวถูกรายงานบนเวที Climate Ambition Summit 2023 หรือการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

หากอ้างอิงจากข้อมูลดังกล่าว พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์อันเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของโลกอย่าง แม่น้ำโขง แม่น้ำไนล์ และแม่น้ำมิสซิสซิปปี ก็นับว่าเสี่ยงมากที่จะจมลงสู่ใต้ทะเลลึก

แม่น้ำโขงเสี่ยงจมน้ำ Cr. Flickr

แม่น้ำไนล์เสี่ยงจมน้ำ Cr. Unsplash

แม่น้ำมิสซิสซิปปีเสี่ยงจมน้ำ Cr. Flickr

เดนนิส ฟรานซิส นักการทูตจากตรินิแดดและโตเบโก หนึ่งในบุคคลสำคัญของการประชุมครั้งนี้ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่การกล่าวเกินจริง แต่มันกำลังเกิดขึ้น 

ผลกระทบในครั้งนี้สามารถเห็นได้จากประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ ประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำ บรรดาประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก ๆ

เดนนิสยังเตือนอีกว่า หากทั้ง 3 แม่น้ำจมใต้ทะเล จะส่งผลให้พลเมืองกว่า 900 ล้านชีวิต ที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล อาจต้องสูญเสียอาคารบ้านเรือนไป เนื่องจากน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น

พลเมืองริมชายฝั่ง 900 ล้านชีวิตอาจได้รับผลกระทบ Cr. Flickr

อาจร้ายแรงจนถึงขั้นเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ และส่งผลกระทบชิ่งไปยังเหลี่ยมมุมอื่น ๆ ด้วยเช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย วัฒนธรรม หรือเรื่องสิทธิมนุษยชน

ตัวเลขที่ไม่น่าอภิรมย์นักสำหรับระดับน้ำทะเลทั่วโลกที่อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 70 ซม. ภายในปี 2070 เนื่องจากโลกยังคงอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ธารน้ำแข็งบนภูเขาหลายแห่งบนโลกละลาย

“หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง นอกจากจะทำให้เราสูญเสียที่ดินและที่อยู่อาศัยแล้ว มรดกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของประเทศติดชายฝั่งก็จะพลอยจมหายไปกับน้ำทะเลด้วย” เดนนิส กล่าว

ย้อนกลับไปในปี 2020 เคยมีการรายงานเรื่องระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นมาแล้ว ในครั้งนั้นเป็นงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์กับวารสาร Nature Climate Change ซึ่งได้วิเคราะห์ไว้ว่า น้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน จะส่งผลให้ หาดทรายมากกว่า 1 ใน 3 ของโลกจมหายไปภายในปี 2100

มิชาลิส วูดูคัส นักวิจัยจากศูนย์วิจัยร่วมของคณะกรรมาธิการยุโรป ให้ทรรศนะว่า โดยปกติแล้วหาดทรายมักทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการป้องกันพายุชายฝั่งและตอนเกิดน้ำท่วม หากไม่มีหาดทรายขาวเหล่านี้ ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วอาจสร้างความเสียหายให้กับมนุษย์มากกว่านี้

มิชาลิส ยังกล่าวอีกกว่า สหรัฐเป็นประเทศที่วางแผนเรื่องระบบการป้องกันของชายฝั่งทะเลที่อาจจมหายได้เป็นอย่างดี ในขณะที่หลายประเทศส่วนใหญ่ อาจไม่สามารถวางแผนระบบวิศวกรรมขนาดใหญ่ในลักษณะนี้ได้ เพราะมีต้นทุนสูงลิ่ว และต้องมีนวัตกรรมที่ล้ำสมัยมาก

ผลของงานวิจัยดังกล่าวยังบอกด้วยว่า ออสเตรเลีย อาจได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศที่มีแนวชายฝั่งที่มีหาดทรายขาวยาวเกือบ 15,000 กม. ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจถูกคลื่นซัดหายไปจนหมดสิ้นในอีก 80 ข้างหน้า

ออสเตรเลียมีหาดทรายยาวกว่า 15,000 กม. Cr. Flickr

นอกจากออสเตรเลียแล้ว ยังมีแคนาดา ชิลี สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก จีน รัสเซีย อาร์เจนตินา อินเดีย และบราซิลที่อาจได้รับผลกระทบเชนเดียวกัน

จากการรายงานของ The Asean Post หากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส แล้วประเทศไทยยังไม่มีมาตรการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว

กว่า 40% ของพื้นที่ในกรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมและระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 15 ซม. ภายในปี 2573

นอกเหนือจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ผังเมืองที่แอออัดของชุมชน ในกรุงเทพฯ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น

กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ Cr. Flickr

กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ Cr. Flickr

ลองจินตนาการว่า หากฝนที่กระหน่ำตกลงมา แล้วกรุงเทพฯ ไม่มีพื้นที่สีเขียวเพียงในการรองรับปริมาณน้ำฝนเอาไว้ น้ำก็จะท่วมได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกก็ได้รายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า เขตที่พักอาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ มีความหนาแน่นมากเกินไป

เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำเล่า และหากไม่มีการแก้ไขอะไรที่เป็นรูปธรรม ภายในปี 2573 กว่า 96% ของพื้นที่ในกรุงเทพฯ จะเจอน้ำท่วมครั้งใหญ่ จากการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลและความรุนแรงของพายุที่เพิ่มมากขึ้น

ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลทั่วโลกรวมถึงไทย ต้องหาวิธีหรือมาตรการระยะสั้นและระยะยาวในการรับมือกับปัญหาระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการหารือกับประเทศที่ก้าวหน้าทางวิทยาการ ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในระดับนโยบาย เพื่อการันตีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองในประเทศ

ที่มา: bangkokbiznews

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related