svasdssvasds

นักวิจัยศึกษาน้ำแข็ง 1 ก้อน พบว่า โลกปล่อยคาร์บอนมากกว่าอดีตถึง 10 เท่า

นักวิจัยศึกษาน้ำแข็ง 1 ก้อน พบว่า โลกปล่อยคาร์บอนมากกว่าอดีตถึง 10 เท่า

น้ำแข็งก้อนเดียว สามารถบอกเราได้ว่าโลกในอดีตปล่อยคาร์บอนมากแค่ไหน แต่ที่หักมุมคือ ปัจจุบันเราทุบสถิตินั้น และปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่าอดีตกาลถึง 10 เท่า และหากปล่อยไว้แบบนี้ ก๊าซเรือนกระจกจะถล่มโลกจนกลายเป็นหม้อไฟชนิดที่คาดไม่ถึง

ว่ากันว่า “ประวัติศาสตร์” คือรากเหง้าของปัจจุบัน ขณะเดียวกัน “ปัจจุบัน” ก็เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต นักวิทยาศาสตร์พาไปส่องอดีตอีกครั้ง

คราวนี้เป็นการศึกษาก้อนน้ำแข็งโบราณ ที่มีอายุ 5 หมื่นปี ว่าแต่น้ำแข็งที่ปรากฏอยู่บนรูป บอกอะไรเราได้บ้างนะ...?

เราทราบกันอยู่แล้วว่าก๊าซคาร์บอนถือเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีพิษสงรุนแรง และพลังทำลายล้างโลกสูงมาก (ไม่ได้เว่อร์) เพราะเป็นก๊าซร้ายที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นทุกปี จนนำไปสู่ปัญหาด้านสภาพอากาศที่เราประสบกันอยู่ในปัจจุบัน  

โลกปล่อยคาร์บอนมากกว่าอดีตถึง 10 เท่า

ศึกษาการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลกผ่านน้ำแข็ง 1 ก้อน

นี่คือการศึกษาจาก 2 มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ โดยนักวิจัยได้ทำการเจาะชั้นน้ำแข็งลงไปที่ความลึก 3.2 กิโลเมตร แล้วนำตัวอย่างน้ำแข็งมาวิเคราะห์ ตรวจดูรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศของโลก

หากสังเกตให้ดีจะเห็นฟองอากาศแทรกตัวยิบย่อยอยู่ในน้ำแข็งก้อนนี้ ซึ่งนักวิจัยเปิดเผยว่า ฟองอากาศที่เห็นนั้นอุดมไปด้วยก๊าซคาร์บอน นักวิจัยจึงเกิดไอเดียว่า งั้นเรามาศึกษาน้ำแข็งก้อนนี้กันเถอะ น้ำแข็งก้อนนี้น่าจะบอกอะไรเราได้บ้าง

ก้อนน้ำแข็งโบราณ Credit ภาพ Oregon State University

เว็บไซต์ต่างประเทศสรุปผลการศึกษานี้ไว้ว่า ชั้นน้ำแข็งแอนตาร์กติกโชว์ให้เห็นว่าที่ผ่านมาโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศไปเท่าไร นั่นก็น่าสนใจแล้วใช่ไหม

แต่หักมุมอีกรอบคือ นักวิจัยบอกว่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนของมนุษย์ในปัจจุบัน พุ่งขึ้นกว่า 5 หมื่นปีที่ผ่านมาถึง 10 เท่า เนื่องมาจากการที่เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นเหมือนฟืนที่ไปเร่งเตาแก๊สให้อุณหภูมิโลกยิ่งร้อนขึ้น ๆ

นอกจากเหตุผลด้านบนแล้ว นักวิจัยยังเปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไฮน์ริช (Heinrich Events) ซึ่งเป็นการพังทลายของน้ำแข็งในทวีปอเมริกาเหนือ จนนำไปสู่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

น้ำแข็ง 1 ก้อนสะท้อนปัญหาได้มากมาย และทุกอย่างเชื่อมโยงกันโดยคำหนึ่งคำคือ มนุษย์เป็นต้นเหตุ

ทั้งนี้ ข้อมูลที่นักวิจัยได้จากน้ำแข็งก้อนนี้คือ โลกใช้เวลา 55 ปี ถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับก๊าซคาร์บอนในอัตราส่วน 14 ส่วนในล้านส่วน ด้วยอัตราเดียวกันนี้ นักวิจัยเปิดเผยว่าก๊าซคาร์บอนที่โลกสะสมไว้อยู่ตอนนี้ ทำให้ระยะเวลา 55 ปี ลดเหลือแค่ 5 – 6 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังนำเสนอต่อไปอีกว่าการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนมีความเชื่อมโยงกับที่เรียกว่า Westerlies ซึ่งเจ้าลมตัวนี้ได้ไปก่อกวนมหาสมุทรไม่ให้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้แบบที่เคยทำ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าน่ากังวลแล้วนะ...

 

ที่มา: Euro News

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related