svasdssvasds

โซลาร์เซลล์ กับวิกฤตน้ำท่วม พลังงานทางรอด ช่วงภัยพิบัติ

โซลาร์เซลล์ กับวิกฤตน้ำท่วม พลังงานทางรอด ช่วงภัยพิบัติ

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ให้สัมภาษณ์กับ SPRiNG เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ พลังงานทางเลือก ที่ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้เป็นอย่างมาก และเป็นพลังงานทางรอดในช่วงวิกฤต ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อาทิ มีน้ำท่วมสูง เป็นต้น

ในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วม ที่บางพื้นที่มีความจำเป็นต้องตัดกระแสไฟฟ้า สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยอย่างแสนสาหัส แต่ก็ได้มีการนำโซลาร์เซลล์มาใช้ในภาวะวิกฤต ทำให้บทบาทของโซลาร์เซลล์ นอกจากเป็นพลังงานทางเลือกแล้ว ยังเป็นพลังงานทางรอดในช่วงภัยพิบัติ โดย SPRiNG ได้สัมภาษณ์ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center เกี่ยวกับพลังงานสะอาดดังกล่าว ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจารย์ได้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ดังนี้

โซลาร์เซลล์ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม

ดร.เดชรัต เริ่มต้นด้วยการยกตัวอย่างพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่ได้มีการพัฒนาโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กขึ้นมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

“ในพื้นที่น้ำท่วม แล้วจำเป็นต้องตัดกระแสไฟฟ้า ก็ทำให้ผู้ประสบภัยไม่มีไฟฟ้าใช้ ที่มีความจำเป็นในเรื่องของแสงสว่าง และการสื่อสารเพื่อรับข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ แต่หลายพื้นที่ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม เช่นที่จังหวัดอุบลฯ ก็ได้มีการจัดทำโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กขึ้นมา เป็นโซลาร์เซลล์ที่ชาวบ้านลงมือทำกันขึ้นมาเอง เป็นโซลาร์เซลล์เฉพาะกิจ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประสบภัย”

ดร.เดชรัต  สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center

บทความที่น่าสนใจ

ระบบการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีกี่ระบบ และอะไรบ้าง ?

ส่วนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในที่พักอาศัย ดร.เดชรัต อธิบายว่า มี 2 ระบบ คือระบบออนกริด (On Grid) ที่ใช้ทั้งไฟจากสายส่งของการไฟฟ้า และไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ กับระบบ Stand Alone หรือ ระบบออฟกริด (Off Grid) ที่ไม่เชื่อมต่อกับสายส่งของการไฟฟ้า  

“ในพื้นที่น้ำท่วม 2 ระบบนี้จะทำงานแตกต่างกัน ถ้าไม่มีการตัดกระแสไฟ ระบบออนกริด (On Grid) ก็จะทำงานได้ตามปกติ แต่พอถึงสถานการณ์ที่ต้องตัดไฟ ไฟฟ้าจากสายส่งไม่มี เพราะฉะนั้นระบบของโซลาร์เซลล์ ก็จะต้องเปลี่ยนไปใช้กับแบตเตอรี่ โดยชาร์จไฟในตอนกลางวัน แล้วนำมาใช้ในตอนกลางคืน

“ส่วนระบบ Stand Alone (ไม่เชื่อมต่อกับสายส่งของการไฟฟ้า) ไม่ได้ออกแบบมาในการใช้ไฟในสถานการณ์ปกติ เช่น ในการเปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดเครื่องทำน้ำอุ่น ระบบ Stand Alone ออกแบบมาให้มีต้นทุนต่ำในหลักพัน (เน้นความจำเป็น สถานการณ์ฉุกเฉิน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อย) เป็นพลังงานให้กับไฟส่องสว่าง ชาร์จแบตฯ โทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ในการรับข้อมูลข่าวสาร และการประสานงานต่างๆ

“ถ้าเป็นบ้านพักทั่วไป ส่วนใหญ่จะใช้ระบบออนกริด (On Grid) อย่างบ้านผมก็มีแอร์ 3 เครื่อง ถ้าในสถานการณ์ทั่วไป ก็ใช้โซลาร์เซลล์ได้ปกติครับ (แต่ถ้าเป็นระบบ Stand Alone จะมีข้อจำกัด)

“ยกตัวอย่างบ้านผมใช้ระบบออนกริด (On Grid) สมมติน้ำท่วมแล้วต้องตัดกระแสไฟฟ้า หากเป็นช่วงกลางวัน ก็ยังใช้ไฟฟ้าได้ แต่ผมก็ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีแบตเตอรี่ในตัว อาทิ ไฟฉายที่มีแบตฯ ในตัว โคมไฟที่มีแบตฯ ในตัว ผมก็ชาร์จไฟไว้ในช่วงกลางวัน เพื่อนำมาใช้ในช่วงเวลากลางคืน

“ในพื้นที่ที่มีโซลาร์เซลล์ ก็จะทำให้การเข้าถึงไฟฟ้าได้มากขึ้น ฉะนั้นแล้วจึงควรจะมีโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ศูนย์พักพิง ศูนย์อพยพ ในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งมันจะได้ประโยชน์3 ด้าน คือ 1. ได้ไฟฟ้า 2. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 3. เอาไว้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน”

โซลาร์เซลล์ กับวิกฤตน้ำท่วม พลังงานทางรอด ช่วงภัยพิบัติ

ผู้ที่สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ จะต้องดำเนินการอย่างไร ?

ในปัจจุบันการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ไม่ได้มีความยุ่งยากวุ่นวายซับซ้อนแต่อย่างใด โดย ดร.เดชรัต ได้ให้คำแนะนำ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า

“เริ่มต้นก็ต้องดูว่าการใช้ไฟฟ้าของเรา ใช้ปริมาณเท่าไหร่ ลักษณะการใช้เป็นอย่างไร แล้วก็ต้องคำนวณว่า โซลาร์เซลล์ ควรมีขนาดเท่าไหร่ นอกจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าแล้ว เราก็จะต้องดูพื้นที่หลังคา แล้วก็เงินทุน

“เมื่อได้คำตอบข้างต้นครบถ้วนแล้ว เราก็ติดต่อกับหน่วยงานที่เป็นผู้ให้ใบอนุญาต อย่างเช่น การไฟฟ้านครหลวง หรือติดต่อกับบริษัทที่ทำหน้าที่ติดตั้ง เขาก็จะทำหน้าที่ไปขออนุญาตจากหน่วยราชการเอง หลังจากนั้นเขาก็จะมาวัดหน้างาน มาดูพื้นที่ติดตั้ง ซึ่งในปัจจุบันก็ไม่ได้ยุ่งยากวุ่นวาย แต่ก็มีข้อจำกัด 2 ข้อ ที่อยากให้รัฐบาลแก้ไข คือ

“1. ราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ยังค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับที่เราซื้อมาจากการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าภูมิภาค อย่างเช่นเราซื้อไฟฟ้าในระบบ 4.72 บาท ต่อหน่วย แต่ว่าเราขายให้การไฟฟ้าฯ ได้แค่ 2.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งถ้าแก้ไขให้เป็นอัตราเดียวกันได้ อาจมีค่าธรรมเนียมพิเศษในการใช้โซลาร์เซลล์ แต่ว่าเป็นราคากลาง เป็นราคาเดียวกัน ผมคิดว่าจะส่งผลให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์มากขึ้น

“2. ระบบการเงินสนับสนุน หรือที่เรียกว่า Financial Support ปัจจุบันมีระบบ Financial Support สำหรับซื้อยานยนต์ไฟฟ้าต่างๆ แต่สินเชื่อสำหรับโซลาร์เซลล์ ยังน้อยอยู่ ซึ่งถ้ามีการช่วยเหลือด้านนี้ หลายคนก็ไม่ต้องกังวลว่า จะมีเงินเริ่มต้นสำหรับการติดตั้งโซล่าร์เซลล์หรือไหม

“ซึ่งเรื่องทุนในการติดตั้งนั้น ก็แล้วแต่ขนาด บ้านขนาดเล็กใช้ไฟฟ้าไม่มาก ประมาณ 1.5 กิโลวัตต์ บ้านที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ก็อาจประมาณ 6 หมื่นบาท แต่อย่างบ้านผมมีเครื่องปรับอากาศ 3 เครื่อง ผมติดตั้งขนาด 5 กิโลวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 2 แสนบาท

“ผลที่ได้ก็คือ ถ้าบ้านขนาดเดียวกัน (ไม่ได้ใช้โซลาร์เซลล์) มีเครื่องปรับอากาศขนาดเดียวกัน ต้องจ่ายค่าไฟฟ้า 3 พันบาท ต่อเดือน แต่บ้านผมจ่ายค่าไฟ 3 ร้อยบาทต่อเดือน ซึ่งน่าจะคืนทุนได้ในระยะเวลาประมาณ 7 ปี และในอนาคตผมวางแผนจะเปลี่ยนรถยนต์เป็นยานยนต์ไฟฟ้า (ติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน) ก็จะทำให้ประหยัดค่าน้ำมันไปด้วยในตัว”

ส่วนในเรื่องเบรกเกอร์โซลาร์เซลล์ ที่มักจะติดตั้งไว้ชั้นล่างนั้น ซึ่งในกรณีบ้านที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม ส่งผลให้ไม่สามารถใช้งานได้นั้น อาจารย์ได้ชี้แจงว่า ในกรณีของบ้าน 2 ชั้น แม้ส่วนใหญ่มักจะติดตั้งเบรกเกอร์ไว้ชั้นล่าง แต่ก็จะอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร ประมาณเกือบ 2 เมตร แต่หากกังวลว่า ถ้าเกิดสถานการณ์น้ำท่วม ระดับน้ำอาจสูงมากจนถึงเบรกเกอร์ ก็สามารถปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายไปไว้บริเวณชั้นบนของบ้านได้

โซลาร์เซลล์ กับวิกฤตน้ำท่วม พลังงานทางรอด ช่วงภัยพิบัติ

สิ่งที่ฝากทิ้งท้ายไว้ การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัยน้ำท่วมในศูนย์พักพิง

และจากการได้มีโอกาสลงพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม ทำให้เห็นปัญหาต่างๆ มากมาย โดยสิ่งที่ ดร.เดชรัต ขอฝากทิ้งท้ายไว้ มีดังต่อไปนี้

“โซลาร์เซลล์ มีประโยชน์กับบ้านเรือนทั้งในช่วงปกติและสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องตัดกระแสไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ก็จะตอบโจทย์ โดยสิ่งที่อยากเพิ่มเติมก็คือ เรื่องศูนย์พักพิงฯ (ผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วม)

“ตอนนี้มีผู้คนจำนวนเป็นแสนที่ต้องไปอยู่ในศูนย์พักพิงฯ แต่ว่าคุณภาพในการให้บริการยังไม่ค่อยดี บางแห่งมีห้องน้ำไม่เพียงพอ ไม่มีน้ำใช้ ไม่มีแสงสว่างเพียงพอ บางศูนย์อพยพ ต้องอพยพซ้อนอีกที เพราะว่าถูกน้ำท่วมในเวลาต่อมา จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแล เพราะว่าไม่ได้ใช้งบประมาณเยอะเลย จึงอยากขอให้รัฐบาลดูแลพี่น้องผู้ประสบภัยให้เต็มที่ครับ”  

related