svasdssvasds

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

“ไฟฟ้า” ถือว่าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ฉะนั้นแล้วหากมีการปรับราคาสูงขึ้น ก็จะส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นตามไปด้วย SPRiNG ค้นหาความจริง คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

ค่าไฟฟ้างวดกันยายน - ธันวาคม 2565 ได้มีการปรับค่า Ft ขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟในงวดดังกล่าวสูงขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เฉลี่ยแล้วคนไทยต้องจ่าย 4.72 บาทต่อหน่วย

แต่ 4.72 บาทต่อหน่อย คือค่าเฉลี่ย หากคุณใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย ต่อเดือน คุณก็ต้องเสียค่าไฟฟ้า 4.96 บาทต่อหน่วย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วบ้านพักอาศัยทั่วๆ ไป จะใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 332 หน่วย งวดที่ผ่านมา ถ้าคุณจ่ายค่าไฟ 1,418 บาท งวดเดือนกันยายน  - ธันวาคม 2565 ก็จะต้องจ่าย 1,645 บาท เท่ากับว่าค่าไฟเพิ่มขึ้นถึง 227 บาท ต่อเดือน

และสมมติว่า งวดต่อๆ ไป อัตราค่าไฟยังไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าคุณใช้ไฟฟ้าในปริมาณเท่าเดิม ในระยะเวลา 1 ปี ก็เท่ากับว่า ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้น 2,724 บาท !!!

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

แม้ว่าต่อมา ครม.จะอนุมัติงบกลางกว่า 9 พันล้านบาทเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน ในค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2565 ถึงจะพอแบ่งเบาภาระของประชาชนลงไปได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ตอบคำถาม หรือแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขรากเหง้าของปัญหา

ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าในปีนี้สูงขึ้นทุกงวด ปฏิเสธไม่ได้ว่า เนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อสัมปทาน รวมถึงสงครามรัสเซีย - ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ทำให้พลังงานเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้น ตามที่รัฐบาลได้ชี้แจงไว้

แต่คำถามที่รัฐบาลยังให้คำตอบได้อย่างไม่ชัดก็คือ โครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าในเวลานี้ เป็นธรรมกับประชาชนตาดำๆ หรือไม่ เพราะแม้ว่า “กำลังการผลิตไฟฟ้า” จะสูงเกิน “ความต้องการใช้ไฟฟ้า” ถึง 54 % แต่รัฐก็ยังคงมีนโยบายให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม และที่เจ็บปวดไปกว่านั้นก็คือ ยังมีความพยายามเพิ่ม “กำลังการผลิตไฟฟ้า” ให้สูงขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่ตามหลักสากลแล้ว “กำลังการผลิตไฟฟ้า” หรือ “ไฟฟ้าสำรอง” ไม่ควรเกิน 15 % ส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงโดยไม่จำเป็น

จึงก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ราคาของค่าไฟที่สูงขึ้น ที่ประชาชนต้องจ่าย แท้จริงแล้ว เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

  • PART 1 : ค่าไฟฟ้าแพง เพราะอะไร ?

ปัญหาด้านก๊าซธรรมชาติ คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้า

SPRiNG ขอไล่เรียงปัญหาไปทีละเปลาะ เริ่มต้นที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ถึงสาเหตุที่ปี 2565 ค่าไฟสูงขึ้นทุกงวดตลอดทั้งปี โดย คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ชี้แจงว่า สาเหตุหลักๆ ที่ส่งผลให้ต้องปรับค่า Ft ก็สืบเนื่องมาจากปัญหาช่วงรอยต่อสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และราคา LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสูง อันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน

ช่วงรอยต่อสัมปทาน ก๊าซธรรมชาติมันจะหายไปประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อเดือน ส่วนนี้เราก็ต้องเอาก๊าซ LNG ในตลาดจร (ซื้อจากต่างประเทศ) เข้ามาเสริม อันนี้คือเหตุผลหลักเลยที่เกิดขึ้น

“ถ้าเปรียบเทียบก็คือ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต เท่ากับเรือ LNG 1 ลำ ต่อ 1 เดือน เพราะฉะนั้น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต เราก็ต้องใช้ถึง 6 ลำ ต่อ 1 เดือน อันนี้โดยคร่าวๆ นะครับ ราคา Spot LNG หรือ LNG ในตลาดจร ก็เพิ่มขึ้นสูง เดือนหนึ่งต้องจ่ายไปเกือบ 3 หมื่นล้านบาท สำหรับชดเชยก๊าซธรรมชาติที่หายไป

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

“แล้วปัญหาต่อมาก็คือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากพม่าก็ลดลงอีก เนื่องจากการเปลี่ยนสัมปทานเช่นกัน ทำให้เราจำเป็นต้องขึ้นค่า Ft เพื่อให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถอยู่ได้ เพราะไม่เช่นนั้น หนี้จะสะสมไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ

“ปัญหามันซ้ำซ้อน ถ้าเป็นเมื่อก่อนราคา LNG ตลาดจร ไม่ได้สูงมากนัก ในช่วงที่โควิดระบาด ราคาก๊าซธรรมชาติจะถูกมากเลย เพราะว่าแทบไม่มีผู้ใช้ พอผลิตออกมาก็ล้น มันเป็นกลไกตลาด แต่พอทุกประเทศเริ่มฟื้นจากโควิด ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ตอนนี้ตลาดเป็นของผู้ขายโดยอัตโนมัติ ทำให้ราคามันขึ้นค่อนข้างสูง

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

"ปัญหาถัดมาก็คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคา LNG สูงขึ้น เพราะทุกคนก็กลัวว่าก๊าซธรรมชาติจะขาดแคลน ในยุโรปใช้ก๊าซธรรมชาติเยอะ อันนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น ต่อมาทางรัสเซียงดส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ หรือลดปริมาณก๊าซฯ ลง ก็ทำให้ทางยุโรปต้องการ LNG มากขึ้น ก็ต้องมาดึงก๊าซธรรมชาติจากตลาดเอเชีย ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดจรสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

“แต่เราก็พยายามจะหาเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทน เราก็ใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ใช้พลังน้ำ เข้ามาช่วยให้ได้มากที่สุด แต่อย่างที่เรียน ระบบการผลิตไฟฟ้าของเรา พึ่งก๊าซธรรมชาติ 60 % นำมาทดแทนได้บางส่วนเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนได้หมด เราก็ต้องมองเรื่องความมั่นคง (ด้านพลังงาน) เป็นหลัก แล้วราคาเป็นลำดับรอง”

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

ชำแหละโครงสร้างค่าไฟฟ้าแพง

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สรุปแล้วก็คือ ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่เป็นสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าปี 2565 สูงขึ้น ปัญหาหลักๆ ก็คือการขาดแคลนแก๊สธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกตลาด

แต่อีกปัญหาสำคัญที่มีการทักท้วงมาระยะหนึ่ง นั่นก็คือการวางแผนการผลิตไฟฟ้าสูตรพิสดาร ที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2565 ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงเกินความต้องการใช้ไฟฟ้า ไปถึง 54 %

โดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ และเพื่อให้เห็นปัญหาอย่างแจ่มชัด อาจารย์จึงเริ่มต้นด้วยการอธิบายโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า ดังต่อไปนี้

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center  

“หลักๆ ก็เริ่มต้นจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ก็คือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวหลัก แล้วก็ถ่านหิน น้ำมันมีนิดๆ หน่อยๆ ส่วนที่ 2 เรียกว่า ค่าซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของเอกชน ซึ่งค่าซื้อไฟฟ้าก็จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

“ส่วนหนึ่งก็คือ ซื้อในลักษณะที่เขา (เอกชน) มีโรงไฟฟ้าที่พร้อมจะผลิตให้ จึงเรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่าย” ซึ่งหมายความว่า ถ้าเขาไม่เดินเครื่อง แต่เขามีโรงไฟฟ้า เราก็ต้องจ่ายเงินให้เขา

“อีกส่วนหนึ่งก็คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า เมื่อเขาผลิต แล้วเราค่อยจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้าให้กับเขา นี่ก็คือส่วนหลักๆ ที่รวมมาเป็นค่าไฟฟ้า นอกจากนั้นก็มีค่าบริการ ที่เรียกว่าระบบส่งไฟฟ้า

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

“โดยทั้งหมดนี้จะอยู่ในการดำเนินการของไฟฟ้าฝ่ายผลิต จากนั้นก็ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ต้องมีค่าดำเนินการ ค่าบริหารจัดการ แล้วก็มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งหมดนี้ก็รวมกันมาเป็นค่าไฟฟ้า

“แต่ก้อนใหญ่ๆ ก็หนีไม่พ้นส่วนที่เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ก็คือเชื้อเพลิง (ก๊าซธรรมชาติ) ในการผลิตไฟฟ้า กับไฟฟ้าที่ต้องไปซื้อมาจากโรงไฟฟ้าเอกชน โดยทั้งสองส่วนนี้เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดครับ”

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

“ค่าความพร้อมจ่าย” ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น โดยไม่จำเป็น ?

"ค่าความพร้อมจ่าย” ก็เทียบได้กับ “ค่าประกันรายได้” ว่าในแต่ละปีรัฐจะต้องซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนตามข้อตกลง แม้ในกรณีที่กำลังการผลิตไฟฟ้าล้นระบบ เกินความต้องการใช้ไฟฟ้า รัฐก็ยังต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็จะถูกรวมเข้าไปในบิลค่าไฟ ที่ประชาชนต้องแบกรับเป็นประจำในทุกๆ เดือน  

“อย่างในปัจจุบันก็มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 4 – 6 โรง ไม่ได้เดินเครื่องเลย แต่เราก็ต้องจ่ายเงินให้เขา (โรงไฟฟ้าเอกชน) เดือนละประมาณ 2 พันกว่าล้านบาท ซึ่งก็คือค่าความพร้อมจ่าย ตามที่ตกลงไว้ในสัญญา เพราะฉะนั้นถ้าเรารวมเบ็ดเสร็จ ต้นทุนเหล่านี้คิดมาเป็นค่าไฟ มันก็ตกประมาณ 25 สตางค์ต่อหน่วย

“เพราะฉะนั้นยิ่งใช้ไฟฟ้ามากขึ้นไปเท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นไปเท่านั้น เช่นสมมติว่า เราใช้ 100 หน่วยต่อเดือน มันก็กลายมาเป็น 25 บาท หากเราใช้ 500 หน่วย มันก็ขึ้นมาเป็น 125 บาท ถ้าเกิดรวมกันมาเป็นปี มันก็จะเป็นหลักพันบาท ที่เราจะต้องจ่ายไปให้กับโรงไฟฟ้า ทั้งๆ ที่บางแห่งไม่ได้มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า”

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center

เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าทิพย์ ?  

เมื่อพิจารณาปัญหาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในเชิงโครงสร้างแล้ว สิ่งที่เป็นต้นตอก็คือนโยบายการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า จนสูงเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าถึง 54 % และส่งผลให้ต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อรองรับ "การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าทิพย์ ?"

ผลที่ตามมาก็คือ ค่าความพร้อมจ่ายที่สูงขึ้นตามไปด้วย ภายใต้เหตุผลที่สวยหรูว่า เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน โดย ดร.เดชรัต ได้ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นว่า

“ถามว่าตรงนี้เขา (โรงไฟฟ้าเอกชน) ผิดไหม ก็อาจพูดได้ว่า ด้านหนึ่งถ้าเขาสร้างมา เขาก็ต้องได้ผลตอบแทนใช่ไหมครับ แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องพูดว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบนี้แปลว่า กำลังสร้างเยอะเกินไปหรือเปล่า เหมือนกับว่าสร้างแรงจูงใจที่จะมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เพิ่มกำลังการผลิตส่วนเกิน กำลังการผลิตไฟฟ้าตอนนี้เกินไปประมาณ 50 % แต่ว่าระบบที่มันควรจะเป็น กำลังการผลิตฯ ควรอยู่ที่ประมาณ 15 %

“เพราะว่ากำลังการผลิตส่วนเกินของไฟฟ้า มันไม่เหมือนอย่างอื่น สมมติเรามีโรงงาน แล้วเรามีกำลังการผลิตส่วนเกิน คนสร้าง คือคนแบกรับภาระ แต่ว่าตอนนี้มันไม่ใช่ ถ้าเป็นไฟฟ้า คนที่สร้างก็ได้ค่าความพร้อมจ่าย แล้วถามว่าใครเป็นคนแบกรับภาระ ก็คือผู้บริโภค กลายเป็นคนที่แบกรับภาระ เพื่อที่จะทำให้คนที่สร้างโรงไฟฟ้า ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า

“แต่ว่าโรงไฟฟ้าที่สร้างมานั้น มันไม่ได้มีการใช้งาน ตัวเลขถ้าเปรียบเทียบกันนี่ ถ้าเทียบกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็สัก 10 โรง ก็เหมือนว่า เราไม่ได้ใช้งานมันอย่างเต็มที่"

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

ฉะนั้นแล้ว ยิ่งเพิ่มกำลังการผลิตให้สูง ก็เท่ากับว่า ยิ่งเพิ่มค่าความพร้อมจ่าย ที่ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ให้สูงขึ้นไปตามไปด้วย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่ากับว่า คนไทยจ่ายค่าไฟสูงเกินความจำเป็นเพื่อให้บริษัทเอกชนรวยขึ้น ?

คือจริงๆ แล้ว จ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้เอกชน ไม่มีปัญหา ถ้ามันไม่ใช่กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน ปัญหาคือกำลังการผลิตฯ ส่วนเกิน แล้วรัฐบาลปัจจุบันก็มีการไปเซ็นสัญญาต่ออายุ หรือไปเปิดประมูล ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ประมูลด้วย ไปเปิดโรงไฟฟ้าใหม่ โดยไม่ต้องประมูลด้วยนะ อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งว่า ทำไมไม่ต้องประมูล ต้องเปิดเพิ่ม ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่ มันก็เลยกลายเป็นปัญหาที่เรามีกำลังการผลิตล้นเกินไปเรื่อยๆ ครับผม”

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ

สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐ หากต่ำกว่า 51 % เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ?

นอกการการตั้งกำลังการผลิตไฟฟ้า จนสูงเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นอย่างมากถึง 54 % แต่สิ่งที่สร้างความฉงนสงสัยให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ จำนวนโรงไฟฟ้า รวมถึงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ โดยพบว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิต” มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าประมาณ 30 % นอกนั้นเป็นกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเอกชน และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ร่วมกันแล้วเกือบ 70 % SPRiNG จึงเข้าไปพูดคุยกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?

“ไฟฟ้านี่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญกับประชาชนมาก เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้ โดยสิ่งที่แฝงเข้ามาก็คือ ขบวนการที่มารับสัมปทาน ที่เข้ามาหาผลประโยชน์

“เพราะถ้าใครหาผลประโยชน์จากโครงการพื้นฐานที่ประชาชนต้องใช้ทุกวันได้เนี่ย มันก็คือเสือนอนกิน ประชาชนไม่มีไฟฟ้า ก็ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ประชาชนไม่มีไฟฟ้า ก็ไม่สามารถทำกิจการต่างๆ ได้ ดังนั้นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทุกรัฐธรรมนูญพยายามเขียนไม่ให้มีการผูกขาด โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2560 จะอยู่ในมาตรา 65 เรื่องหน้าที่ของรัฐ ถ้าเป็นนโยบายของรัฐ รัฐต้องจัดการให้มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ไฟฟ้าเนี่ยจำเป็นอยู่แล้ว และก็เขียนไว้ในวรรคที่ 2 ว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานที่จำเป็นต่อประชาชน หรือเพื่อความมั่นคง รัฐต้องเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่า 51 %

“นี่คือหลักการ เพราะเรื่องพวกนี้ รัฐต้องมีหน้าที่ดูแลประชาชน แต่จุดเริ่มต้นตรงนี้มันก็มีความผิดพลาดขึ้นมา ซึ่งวันนี้เราจะพบว่า เรื่องไฟฟ้า รัฐผลิตแค่ 30 % เอง ส่วนที่เหลืออีก 70 % รัฐไปซื้อจากเอกชน ทั้งเอกชนรายใหญ่และเอกชนรายเล็ก อีกประมาณ 12 % ก็ซื้อจากเมืองนอก จึงมีการตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐไม่ทำเอง เพราะว่ามันเป็นหลักประกันพื้นฐานที่จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแล”

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?

ในประเด็นที่ว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ต่ำกว่า 51 % ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ? ดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เคยยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยตั้งแต่ปี 2560

ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2562 ว่า เป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 และมีข้อเสนอแนะให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า ไม่ต่ำกว่า 51 % ภายในระยะเวลา 10 ปี นับจากปี 2562

แต่เมื่อกระทรวงพลังงานไม่มีท่าทีที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงนำคำร้องของ ดร.สุทธิพร ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในปี 2563 โดยศาลฯ มีมติไม่รับวินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่า เป็นการยื่นคำร้องข้ามขั้นตอน

กระทั่งกลางปี 2564 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ได้รายงานกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุว่า กระทรวงพลังงานยังไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะ ต่อมา ครม. ได้มีมติรับทราบและสั่งการให้กระทรวงพลังงาน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หลังจากนั้น ในช่วงปลายปี 2564 ดร.สุทธิพร ก็ยื่นคำร้องในประเด็นดังกล่าวกับศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลฯ มีมติไม่รับวินิจฉัย เนื่องจาก ครม. ได้มีมติรับทราบไปแล้ว

แต่ ดร.สุทธิพร ก็ยังไม่ลดละความพยายาม ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญอีกในปี 2565 กระทั่งล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติรับวินิจฉัยคำร้อง ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า เรื่องนี้จะมีบทสรุปอย่างไร

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ

  • PART 2 : การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงเกินความต้องการ เป็นความผิดพลาด หรือความตั้งใจ ?

ลดกำลังการผลิตไฟฟ้า = ลดค่าความพร้อมจ่ายที่ไม่จำเป็น ?

จากการศึกษาหาข้อมูลและการสัมภาษณ์ผู้รู้ท่านต่างๆ ทำให้ SPRiNG ยิ่งเห็นช่องโหว่ของปัญหา นั่นก็คือการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า ที่โดยภาพรวมแล้วสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2557 - 2565

โดยในปี 2565 ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 51,040 MW ในขณะที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า 33,117 MW จึงมีกำลังการผลิตส่วนเกิน 17,863  MW เท่ากับว่ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ไฟฟ้า สูงเกือบ 54 % ทั้งๆ ที่ตามมาตรฐานสากล ควรอยู่ที่ 15 %

ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการลดกำลังการผลิตไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์ที่สมเหตุสมผล เพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายที่ไม่จำเป็น จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ?

โดย คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ชี้แจงและแสดงความคิดเห็น ดังนี้

“เรื่องค่าความพร้อมจ่าย มันเป็น Commitment (พันธกรณี) กับภาคเอกชนที่มาลงทุน อย่าลืมว่า เขามาลงทุน เขาก็ต้องไปกู้เงิน แบงก์เองก็ต้องประเมินว่า การมีรายได้คืนมา มันมั่นคงแค่ไหน

“โรงไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ใช้เงินลงทุนสูง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องจ่าย Fixed Charge ให้เขาครอบคลุมส่วนที่เขาจะไปใช้หนี้ อันนี้เอาหลักการก่อน ดังนั้นถ้าเราบอกให้เขาลด เขาก็ใช้หนี้ได้ไม่ครบ ผิดนัดชำระหนี้ ก็เกิดปัญหาลูกโซ่ตามมา

“อันนี้ให้เห็นภาพก่อนว่า ในอดีตหลายประเทศเขาไม่ทำกัน มันเหมือนกับค่าทางด่วน ค่ารถไฟฟ้า อยู่ดีๆ ถ้าเราไม่จ่ายเงินเขา เขาจะเอาเงินที่ไหนจ่าย เพราะฉะนั้นเราจะดูว่า ถ้าโครงการที่เขาดำเนินการไปแล้วมี Commitment แล้ว ไม่ว่าจะกู้เงินแล้ว ก่อสร้างแล้วเนี่ย ปกติเขาจะไม่ทำกัน

“แต่ถ้าเกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เราจะดูโครงการใหม่ๆ ที่อยู่ในแผน แล้วยังไม่ได้ลงทุน ยังไม่ได้กู้เงิน เราก็จะเจรจาให้เขาเลื่อนการก่อสร้างออกไปก่อน ตรงนี้เป็นไปตามกติกาสากล ไม่มีใครเสียหาย แต่ที่ดำเนินการไปแล้ว มี Commitment มีคำมั่นสัญญา มีสัญญากับแบงก์ มีอะไรต่างๆ โดยส่วนตัวแล้วผมว่ามันไม่ควร และอย่างที่ผมบอก ต้นทุนในส่วนนี้ (ค่าความพร้อมจ่าย) มันไม่ได้เยอะมากนัก เมื่อเทียบกับต้นทุนเชื้อเพลิง”

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ถ้าค่าไฟแพง เกิดจากการวางแผนที่ผิดพลาด รัฐไม่ควรผลักภาระให้ประชาชน

ส่วน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด แสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางที่น่าสนใจ เกี่ยวกับค่าความพร้อมจ่าย ดังต่อไปนี้

“ถ้าเป็นผมนะ ผมจะโฟกัสที่ความรับผิดชอบของรัฐบาล หากพูดแบบประชาชนคนหนึ่ง ผมจะรับผิดชอบกำลังการผลิตที่ 30 % เกินกว่านั้น รัฐบาลต้องช่วยรับผิดชอบด้วย ทำไมคุณถึงวางแผนให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงเกินไป

“คำว่ารัฐบาลรับผิดชอบ ส่วนหนึ่งมันก็คือประชาชนนั่นแหละ แต่อย่างน้อยๆ คนเป็นรัฐบาล จะต้องสำนึกต่อความรับผิดชอบ เพราะในปัจจุบันเวลาค่าไฟฟ้าแพง รัฐบาลไม่ได้เสียงบประมาณอะไรเลยนะ เงินทั้งหมดมาจากประชาชนล้วนๆ

“ดังนั้นผมคิดว่า รัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำ แล้วผมคิดว่าเงินตรงนี้ถ้าเกิดมันจะต้องไหลออกมาจากรัฐบาล รัฐบาลก็จะรีบไปเจรจากับบริษัทเอกชน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง ให้ลดค่าความพร้อมจ่ายลงมาในช่วงนี้ โดยอาจจะยืดอายุสัญญาให้

“แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่เสียอะไรเลย รัฐบาลเหมือนเป็นคนกลางที่โดนต่อว่า แต่ไม่เสียอะไรเลยในทางการเงิน ดังนั้นถ้าเกิดว่าเรามีเพดานที่ชัดเจน ถ้าเกินกว่าที่กำหนด ให้เป็นภาระของรัฐบาล ผมว่ารัฐบาลเจรจากับเอกชนแน่นอน

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center

“ผมคิดว่าตอนนี้เราเหมือนตกหลุมพราง คือรัฐบาลอาจจะบอกว่า ถ้าค่าไฟแพง เราต้องประหยัด พอเราประหยัด เขาก็บอกคุณก็ต้องหารมากขึ้น หมายความว่า พอตัวหารน้อยลง ค่าไฟก็แพงขึ้นอีก มันวนอยู่อย่างนี้ ผมคิดว่าเราจะต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาร่วมรับผิดชอบ ต่อการวางแผนที่ผิดพลาด

“ส่วนค่าก๊าซธรรมชาติ เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ผมคิดว่าประชาชนอาจจะพอทำความเข้าใจได้ แต่กำลังการผลิตที่มันล้นเกิน แล้วเราต้องมาจ่ายเงินให้กับภาคเอกชน โดยที่รัฐบาลก็ไม่ได้ร่วมรับผิดชอบต่อการวางแผน เพราะจริงๆ แล้วประชาชนไม่ได้เป็นคนวางแผนใช่ไหมครับ ถ้าประชาชนวางแผน ก็เป็นความรับผิดชอบของประชาชน

“แต่นี่คนวางแผนคือรัฐบาล แต่คนที่มารับภาระคือประชาชน ถ้าถามผม ผมอยากจะเชิญชวนให้ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาล มาร่วมรับภาระสำหรับกำลังการผลิตส่วนเกิน ที่มากเกินไป และเกินเลยจริงๆ อย่างมาตรฐานกำหนดไว้ที่ 15 % แต่เราอาจอนุโลม บางปีมันไม่เป็นไปตามนั้น เราอาจขีดเส้นไว้ที่ 30 % แต่ถ้าเกิน 30 % รัฐบาลต้องรับผิดชอบกับส่วนต่างตรงนี้”

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ

ยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่เห็นหัวประชาชน

นอกจากการวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจนล้นระบบเป็นอย่างมาก อีกประเด็นที่สร้างความฉงนสงสัยให้ใครหลายคนก็คือ เรตราคาที่รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ กับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่แตกต่างกัน ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้บอกเล่าดังนี้

“รัฐบาลซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) 3.59  บาท ต่อหน่วย แต่ซื้อจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) 4 บาท และเราก็พบว่า โรงไฟฟ้าขนาดเล็กบางแห่ง มันก็คือการแปลงร่างมาจากผู้ผลิตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แล้วพอไปดูเชิงลึกของพลังงาน มันก็เป็นพลังงานที่มาจากก๊าซธรรมชาติ ไม่มีพลังงานสีเขียว หรือพลังแสงอาทิตย์เลยนะ แต่กลับซื้อในราคา 4 บาทกว่า ต่อหน่วย ซึ่งสิ่งต่างๆ พวกนี้ผมคิดว่า มันเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่เห็นหัวประชาชน

“ส่วนเรื่องการลดกำลังการผลิตไฟฟ้า มันมีสัญญาไปแล้ว ถ้ารัฐไม่ปฏิบัติตาม ก็เท่ากับไปโกงเอกชน แล้วนโยบายด้านพลังงานเนี่ย ขนาดประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นเกิน ก็ยังไปซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว แต่เจ้าของกิจการก็เป็นคนไทย

“ผมไม่ต่อว่าพ่อค้านะ เพราะคนเป็นพ่อค้าก็ต้องหาเงิน แต่คนเป็นรัฐบาลต้องมีศีลธรรม และต้องเข้าใจว่าประชาชนไม่ได้อยู่รับใช้รัฐบาล รัฐบาลต่างหาก ที่ต้องรับใช้ประชาชน”

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

  • PART 3 : ค่าไฟฟ้าถูกลงกว่านี้ได้อีกไหม ?

กกพ. ย้ำ ปัญหาหลักอยู่ที่ก๊าซธรรมชาติ ที่ไทยอยู่ในภาวะขาดแคลน และราคาในตลาดโลกก็ยังคงสูง

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ กล่าวว่า ไทยยังคงประสบปัญหาด้านการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ รวมถึงราคาในตลาดโลกที่ยังคงสูง ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนที่สูงตามไปด้วย แต่ไทยก็จำเป็นต้องซื้อก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน เพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านพลังงาน

“ผมอยากให้มองด้านการบริหารจัดการไฟฟ้า จริงๆ แล้ว มันมีเงื่อนไขในการดำเนินการหลายอย่าง อย่างบ้านเราไฟฟ้าเปิดปุ๊บติดปั๊บ คุณภาพต้องได้ การที่ได้มาซึ่งไฟฟ้า 24 ชม. ใช้เมื่อไหร่ก็ได้เนี่ย แต่มันก็ต้องแลกมาด้วยการมี  Backup หรือ standby ในระดับหนึ่ง

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในสภาวะปัจจุบันเราเจอปัญหาราคา LNG สูง จากสภาวะสงคราม การแก่งแย่งกันซื้อก๊าซธรรมชาติ ประกอบกับประเทศเราเองก็มีปัญหาเรื่องก๊าซธรมชาติในอ่าวไทยลดลงไปในช่วงปีสองปีนี้ ดังนั้นก็อยากจะขอให้เราช่วยกันประหยัดพลังงาน ก็จะทำให้ไม่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ตอนนี้ราคาแพง ถ้าเราไม่ต้องนำเข้าของแพง มันก็จะทำให้ราคาโดยเฉลี่ยลดลง อันนี้ก็อยากจะฝากให้ช่วยประหยัดพลังงาน ใช้เท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะช่วงปี 2565 แล้วต่อเนื่องถึงปี 2566” 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ

รัฐต้องเปลี่ยนมุมคิด ไม่แสวงหากำไรจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

ส่วน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก็มองว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้า ก็คือประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของรัฐบาล รวมถึงวิธีคิดเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ที่ไม่ควรดำเนินการในลักษณะแสวงหากำไร    

“เรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ผมว่ารัฐบาลไม่ควรจะเอากำไรจากประชาชน เพราะสิ่งที่คุณอ้างเป็นผลผลิต ก็เป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ก็เป็นทรัพย์ของประชาชนอยู่แล้ว คือคุณไม่ต้องมีค่าสัมปทานอะไรมากมาย รัฐบาลทำก็เป็นสมบัติของชาติ เป็นสมบัติของประชาชน รัฐบาลต้องคิดมุมนี้ ไม่มีสิทธิ์คิดมุมอื่น เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่า รัฐบาลต้อง ไม่ใช่รัฐบาลพึง เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องคิดในมุมนี้

"อย่างมาเลยเซีย ค่าไฟฟ้า 1.60 - 1.80 บาท ผมจึงมองว่าค่าไฟฟ้าของเรา มากที่สุดไม่ควรเกิน 3 บาท ต่อหน่วย แล้วรัฐบาลต้องทำให้ได้ และต้องทำให้เร็ว"

รัฐบาลต้องวางแผนลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ ในการผลิตไฟฟ้า มุ่งสู่พลังงานสะอาด อาทิ การส่งเสริมให้ประชาชนใช้โซลาร์เซลล์ ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้อย่างยั่งยืน 

ส่วน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ได้แสดงความคิดเห็นว่า ด้วยปัจจุบัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบหลักในการนำมาผลิตไฟฟ้า จึงเป็นเรื่องที่ยาก ที่จะลดต่ำลงเหลือหน่วยละ 3 บาทได้ในอนาคตอันใกล้

“ถ้าเราตัดกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เกินจริงไปได้ ค่าไฟฟ้าน่าจะถูกลงประมาณ 25 สตางค์ ต่อหน่วย แต่ว่ามันยังมีอีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องเชื้อเพลิง ว่าสรุปแล้วราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เราต้องจ่าย มันเหมาะสมหรือไม่ ค่าผ่านท่อที่ ปตท. คิด มันมากเกินไปหรือเปล่า หรือว่ามันจำเป็นด้วยหรือ ที่ราคาแก๊สธรรมชาติจะต้องอิงกับตลาดโลก ในลักษณะที่ไม่มีเพดาน ผมไม่ได้หมายความว่าให้เราไม่อิงนะ แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งที่บริษัทขุดเจาะได้กำไรพอสมควรแล้ว มันควรจะมีเพดานได้ไหม หรืออย่างน้อยก็หน่วงลงมา ไม่ให้ขึ้นไปตามตลาดโลกสักทีเดียว

"เพราะต้นทุนอย่างค่าก๊าซธรรมชาติ ค่าก่อสร้าง ฯลฯ สมมติเราไม่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินเลยนะ ก็อยู่ที่หน่วยละเกือบ 4 บาทแล้ว แต่ถ้าจะให้ราคาต่ำลงกว่านี้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือประชาชน

"ซึ่งในระยะยาวก็ต้องมาตั้งคำถามว่า การพึ่งก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า มันเป็นคำตอบที่ปลอดภัยในทางเศรษฐกิจหรือเปล่า เพราะมีอีกโจทย์หนึ่งนั่นก็คือ การลดโลกร้อน ที่เราต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น ถ้าต้องการลดอิทธิพลของก๊าซธรรมชาติ ก็อาจต้องไปสู่พลังงานทางเลือกอื่นๆ  เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ เป็นต้น"

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center

และทั้งหมดนี้ ก็คือคำชี้แจง ข้อมูลที่น่าสนใจ รวมถึงข้อเสนอแนะ อย่างครอบคลุมในทุกภาคส่วน หากรัฐบาลร่วมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการทบทวนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ประชาชนก็จะได้รับความเป็นธรรม และไม่ต้องมาคอยตั้งคำถามว่า “ค่าไฟแพง ความมั่นคงทางพลังงาน หรือเพื่อความมั่งคั่งของใคร ?” อีกต่อไป

reference

ข้อมูลที่ SPRiNG ได้มาจากการสัมภาษณ์ 

  • สัมภาษณ์ : คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
  • สัมภาษณ์ : ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center
  • สัมภาษณ์ : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ

แหล่งข้อมูลอื่นๆ 

related