svasdssvasds

ลุ้น! รอรัฐบาลใหม่ ชี้ชะตาแพ็คเกจแบต EV หวั่นกระทบลงทุนตั้งโรงงาน

ลุ้น! รอรัฐบาลใหม่ ชี้ชะตาแพ็คเกจแบต EV หวั่นกระทบลงทุนตั้งโรงงาน

“สุพัฒนพงษ์” ชี้ได้ส่งมติบอร์ดอีวีหารือ สลค. นำเสนอ ครม.ชี้ชะตาแพ็คเกจแบต EV ต้องรอรัฐบาลใหม่เคาะ เพราะต้องของบ 2.4 หมื่นล้าน แง้มข่าวดีมีผู้ผลิตแบต 3 ยักษ์ใหญ่เล็งลงทุน ด้านส.อ.ท.หวั่นช้ากระทบตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงาน

ไทยได้ออกมาตรการสนับสนุนใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดมาตรการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 ที่ผ่านมาโดยให้สิทธิประโยชน์ภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1% รวมทั้งมีมาตรการให้เงินสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ ระดับ Cell Production ตามกำลังการผลิตสูงสุดและพลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักของแบตเตอรี่ โดยกำหนดวงเงินงบประมาณไม่เกิน 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1.แบตเตอรี่ประเภทที่มีพลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักสูงกว่า 190 Wh/kg ผู้ผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ 1 GWh แต่น้อยกว่า 8 Gwh จะได้เงินสนับสนุน 600 บาท และตั้งแต่ 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุน 800 บาท

2.แบตเตอรี่ประเภทที่มีพลังงานจำเพาะ โดยน้ำหนักสูงกว่า 155-190 Wh/kg ผู้ผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ 1 GWh แต่น้อยกว่า 8 Gwh จะได้เงินสนับสนุน 500 บาท และตั้งแต่ 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุน 700 บาท

3.แบตเตอรี่ประเภทที่มีพลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักตั้งแต่ 125-145 Wh/kg ผู้ผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ 1 GWh แต่น้อยกว่า 8 Gwh จะได้รับเงินสนับสนุน 400 บาท และตั้งแต่ 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุน 600 บาท

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ส่งมติการประชุมบอร์ดอีวีไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขอความเห็นในการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้ สลค.ตรวจทานความเรียบร้อยก่อนเสนอ ครม.พิจารณา โดยข้อหารือรูปแบบที่จะเสนอเข้า ครม.มี 2 แนวทาง คือ

1.เสนอ ครม.รับทราบมติบอร์ดอีวีล่าสุดทั้งฉบับ ซึ่งรวมทั้งมาตรการขอใช้งบประมาณสนับสนุนภาคเอกชนตั้งโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยการเสนอของบประมาณสนับสนุนในขณะนี้มีข้อจำกัด เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลรักษาการมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณอะไรได้บ้าง

2.เสนอครม.เห็นทราบมติบอร์ดอีวีเฉพาะมาตรการบางส่วนที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่เพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติ เช่น กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ซึ่งมีข้อติดขัดจากการปฏิบัติตามมาตรการสนับสนุนรถ EV หรือ EV3.0 ที่อนุมัติก่อนหน้านี้ เพื่อให้ทำงานต่อได้เลย

เรื่องของโรงงานแบตเตอรี่เข้าใจถึงความล่าช้า แต่เพราะต้องขอสนับสนุนงบประมาณและผูกพันถึงรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ เรื่องนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเสนอไปอาจโดนทักท้วงเหมือนเรื่องค่าไฟ แต่ก็จะเสนอ ครม.เพื่อทราบดูแต่ต้องถามความเห็นจากสำนักเลขาธิการ ครม.ว่าควรเสนออย่างไร จะมติทั้งฉบับหรือเสนอเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช้เงินงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานได้ ตอนนี้ต้องระมัดระวังเพราะถ้าเสนอเข้าไปหมดอาจตกทั้งฉบับ ตกทั้งกระดานจะยุ่ง

ทั้งนี้หากภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการผลิตการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนจะส่งผลให้มีผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในประเทศไทย เช่นล่าสุด CATL , BYD และ SVOLT มีความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่มีการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่อย่างครบวงจร จึงได้พิจารณาข้อเสนอมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการภาครัฐที่ให้เงินอุดหนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ช่วยให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง และทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าแข่งขันได้กับรถเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งขณะนี้มาตรการอุดหนุนการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งความล่าช้าในการอนุมัติมาตรการดังกล่าวอาจทำให้ผู้ประกอบการชะลอการตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตและเลือกที่จะนำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปเข้ามาก่อน

“นักลงทุนสนใจไทยในการเป็นฐานผลิตอีวีด้วยการตอบรับของตลาดในประเทศ หากมาตรการสนับสนุนได้เร็วและราคารถอีวีแข่งขันได้จะยิ่งทำให้ตลาดอีวีในประเทศขยายตัว โดยปีนี้มีแนวโน้มมีรถอีวีจีนนำเข้าเพิ่มขึ้นในราคา 2-3 แสนบาท ซึ่งหากจีนผลิตและส่งมอบได้ทันคาดว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งอีวีในปีนี้จะเกิน 50,000-60,000 คัน”

ไม่เพียงเท่านี้มาตรการสนับสนุนอีวีที่น่าสนใจ คือ การสนับสนุนการทำเมืองโพแทสในประเทศ เพราะปัจจุบันจีนพัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมไอออนสำหรับอีวีเชิงพาณิชย์ และจะใช้ทดแทนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมากขึ้นในรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความจุน้อย เพราะแร่ลิเธียมมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นทั้งยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ในอนาคตไทยจะน่าสนใจและเป็นจุดดึงดูดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในประเทศมาก

related