svasdssvasds

ดันไทยสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต หนุนไฟฟ้าสะอาด 50% ความท้าทายใหม่พลังงานไทย

ดันไทยสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต หนุนไฟฟ้าสะอาด 50%  ความท้าทายใหม่พลังงานไทย

หลายฝ่ายเดินหน้าดันไทยสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต พร้อมหนุนผลิตไฟฟ้าสะอาด 50% สู่ความท้าทายใหม่ การเปลี่ยนผ่านพลังงานไทย

ประเทศไทยยังคงเดินหน้าผลักดันตัวเองสู่พลังงานสะอาด รับเทรนด์โลก เทรนด์การค้าที่เปลี่ยนไป โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 14 % ของการผลิตทั้งหมดในประเทศไทย

และได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในอนาคตจะไปสู่สัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นถึง 50 % นำไทยก้าวสู่ประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 ล่าสุดมีการสัมมนา 2023 The Annual Petroleum Outlook Forum ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Change for Chance: ปรับ เปลี่ยน เพื่อไปต่อ สู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต” ร่วมกันหลายหน่วยงานเพื่อผลักดันไทยให้มีการปรับเปลี่ยนตัวเอง รองรับเทรนด์พลังงานใหม่ในโลกแห่งอนาคต

 

โดยนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยภายในงานว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไปสู่โลกแห่งพลังงานสะอาด ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานไทยอย่างมาก เพราะหลายคนมองว่าพลังงานสะอาดจะมีต้นทุนการผลิตที่สูงหรือไม่ ?  แต่ก็เปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ถือว่าเป็นโอกาสได้เช่นกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว หากธุรกิจไหนปรับได้ก็เป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจนั้นไปได้สวย สำหรับไทยปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่น หันมาใช้รถ EV มีมาตรการต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมามากมาย การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทนฟอสซิล

เดินหน้าขับเคลื่อนพลังงานไทย

ด้านนายสมชาย มีเสน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน เปิดเผยว่า เรื่องของการผลักดันพลังงานสะอาดของไทย รัฐ และเอกชน ต้องจับมือกันอย่างจริงจัง และต้องไม่บิดเบือนตลาดมากจนเกินไป โดยรัฐ และเอกชนต้องบริหารงานให้มีความเหมาะสม เช่น เอกชนต้องไม่เน้นกำไรจนเกินงาม ส่วนนโยบายของรัฐ ก็ต้องทำให้เอกชนอยู่ได้ด้วย ไม่ประชานิยมจนเกินไป

สำหรับในงานสัมมนาในครั้งนี้ ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2567 อยู่ที่ 75 - 85 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ยังต้องจับตานโยบายควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศตะวันตกในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งการแสวงหาโอกาสและแนวทางปรับตัวของกลุ่มบริษัทพลังงานในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)

ดันไทยสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต หนุนไฟฟ้าสะอาด 50%  ความท้าทายใหม่พลังงานไทย

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา 2023 The Annual Petroleum Outlook Forum ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Change for Chance: ปรับ เปลี่ยน เพื่อไปต่อ สู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต” พร้อมเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 45 ปี ปตท. ยังคงมุ่งมั่นรักษาความมั่นคงด้านพลังงานพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. ขับเคลื่อนกลยุทธ์สู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและขยายสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โลกและเตรียมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สภาวะเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันในปีหน้ายังมีทิศทางเพิ่มขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ กำลังซื้อในสหรัฐอเมริกา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรป และการใช้น้ำมันในภาคการบินของจีนที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ ขณะเดียวกัน อุปสงค์น้ำมันยังคงเติบโตในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิล อย่างไรก็ตามการใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและกฎหมายรองรับ มีส่วนทำให้อุปทานน้ำมันเติบโตอย่างจำกัด โดยคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันในปี 2567 จะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในปี 2567 อยู่ที่ 75 – 85 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ดันไทยสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต หนุนไฟฟ้าสะอาด 50%  ความท้าทายใหม่พลังงานไทย

นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ร่วมผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ มุ่งบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ประเทศกำหนด ถือเป็นความท้าทายในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม กล่าวว่า การเดินหน้าสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต ให้เกิด “ความยั่งยืนด้านพลังงาน” จะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ หรือ “Energy Trilemma” คือ 1) ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) คือการจัดหาพลังงานพื้นฐานและความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต 2) ความเป็นธรรมทางพลังงาน (Energy Equity) คือการจัดหาพลังงานที่สามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม

และ 3) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) เป็นการจัดหาพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ต่ำ นับเป็นความท้าทายของกลุ่มบริษัทพลังงาน ในการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จึงเป็นที่มาของแนวคิด “Change for Chance: ปรับ เปลี่ยน เพื่อไปต่อ สู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต” ของงานสัมมนาในปีนี้ โดยนักวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน กลุ่ม ปตท. หรือ “PRISM Experts” ยังคงมุ่งมั่นนำเสนอข้อมูลและวิเคราะห์ทิศทางราคาน้ำมัน รวมถึงความท้าทายที่อุตสาหกรรมพลังงานต้องเผชิญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related