svasdssvasds

5 ประเทศมีแร่ลิเทียมมากที่สุดในโลก ลิเทียมกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

5 ประเทศมีแร่ลิเทียมมากที่สุดในโลก ลิเทียมกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

แร่ลิเทียมคืออะไร? ทำไมนักลงทุนพลังงานสะอาดจึงสนใจ ประเทศไทยค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกจริงไหม และเหมืองแร่ลิเทียมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

“ลิเทียมคืออนาคตของ EV หากที่ใดมีแร่ลิเทียมที่นั่นจะเจริญ จริงเหรอ? และไทยจะเป็นอันดับ 3 ของโลกที่มีแร่ลิเทียมมากที่สุด?”

แร่ลิเทียม คืออะไร? มักใช้สำหรับ....

แร่ลิเทียม (Lithium) คือโลหะที่เบาที่สุดในบรรดาโลหะทั้งปวง มีความหนาแน่นครึ่งหนึ่งของน้ำ มีสัญลักษณ์ในตารางธาตุคือ (Li) ทนความร้อนได้สูง

ส่วนใหญ่แร่ลิเทียมจะถูกนำไปทำเป็นวัตถุดิบสำหรับแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ถ่านไฟฉาย จาระบีลิเทียม รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังมีความต้องการลิเทียมสูงในตลาด EV Car ตอนนี้

แร่ลิเทียมที่พบใน จ.พังงาน ประเทศไทย

ไทยพบแร่ลิเทียมคุณภาพสูงที่ จ.พังงา

เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศการค้นพบแหล่ง “แร่ลิเทียม” วัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในจังหวัดพังงา ภาคใต้ของไทย ซึ่งมีปริมาณสำรอง (Resources) 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% โดยคาดว่ามากเป็นอันดับ 3 ของโลก?

งานวิจัยโดย ผศ.ดร.อลงกต ฝั้นกา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแร่และศิลาวิทยาประยุกต์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า แหล่งทรัพยากรลิเทียมที่พบในภาคใต้ของไทยดังกล่าว มีคุณภาพสูงเทียบเท่าแหล่งแร่ต่าง ๆ ทั่วโลก

ผศ.ดร.อลงกต ฝั้นกา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแร่และศิลาวิทยาประยุกต์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผลงานวิจัยเผยว่า ลิเทียมที่ค้นพบ อยู่ในแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) มีลักษณะเป็นแร่แผ่นสีม่วงอมชมพูที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) ซึ่งเป็นหินอัคนีเนื้อผลึกหยาบและสัมพันธ์กับแหล่งแร่ดีบุกของไทยอย่างชัดเจนอีกด้วย โดยพบว่าแหล่งลิเทียมในภาคใต้ของไทยนี้มีความสมบูรณ์ของลิเทียมสูงเฉลี่ยประมาณ 0.4 % ถือเป็นแหล่งลิเทียมที่มีความสมบูรณ์สูงกว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก ดังนั้น Springnews ขอชวนไปดูว่า ไทยจะมีแหล่งแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกได้จริงไหม?

5 ประเทศที่มีแหล่งแร่ลิเทียมมากที่สุดในโลก

ข้อมูลจาก U.S. Geological Survey หรือ สำนักงานธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา อัปเดตเดือนมกราคม 2023 เผยข้อมูลประเทศที่มีแร่ลิเทียม (Resource) มากที่สุดในโลก ดังต่อไปนี้

  1. โบลิเวีย (Bolivia) 21 ล้านตัน
  2. อาร์เจนตินา 20 ล้านตัน
  3. สหรัฐอเมริกา 12 ล้านตัน
  4. ชิลี 11 ล้านตัน
  5. ออสเตรเลีย 7.9 ล้านตัน

ประเทศที่ผลิตลิเทียมมากที่สุดในโลก

การผลิตลิเทียม ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งหวังไปที่การเพิ่มกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น มิใช่แค่มีปริมาณมากก็สามารถเป็นเจ้าแห่งลิเทียมได้ แต่ต้องมาพร้อมกับศักยภาพเทคโนโลยี การจัดการ ประสิทธิภาพและกำลังการผลิตด้วย ซึ่งประเทศดังต่อไปนี้คือประเทศที่ผลิตลิเทียมได้มากที่สุดในโลก (ข้อมูลล่าสุดปี 2022 โดย USGS)

  1. ออสเตรเลีย 61,000 ตัน
  2. ชิลี 39,000 ตัน
  3. จีน 19,000 ตัน
  4. อาร์เจนตินา 6,200 ตัน
  5. บราซิล 2,200 ตัน

ประเทศที่มีแร่ลิเทียมมากที่สุดในโลก จริงหรือไม่ ไทยจะเป็นประเทศลำดับ 3 ที่มีแหล่งแร่ลิเทียมมากที่สุดในโลก

การคาดหวังว่าจะเป็นอันดับ 3 ของโลกยังต้องมีการประเมินอีกหลายปัจจัย ด้านศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เผยว่า การค้นพบแร่ลิเทียมครั้งนี้อาจไม่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกดังที่กระทรวงอุตสาหกรรมหรือที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) คาดหวัง

เพราะเราพบแร่ลิเทียม ในหินแร่ที่ชื่อว่าเพกมาไทต์ อีกทีหนึ่ง ซึ่งมีการปะปนของแร่ลิเทียมเฉลี่ย 0.45% เราจะต้องนำไปถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน เมื่อคำนวณคร่าว ๆ ก็น่าจะอยู่ประมาณ 6-7 หมื่นตันเท่านั้น

แร่ลิเทียมของไทยผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ 1 ล้านคัน?

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอ้างว่า จำนวนดังกล่าวสามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ซึ่งมันเพียงพอสำหรับ 1 ล้านคันจริงหรือไม่?

อาจารย์เจษฎา คำนวณว่า หากเทียบกับ Tesla โมเดล S หนึ่งคัน ใช้ลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.2 กิโลกรัม ถ้าจะให้ได้ 1 ล้านคัน ก็ต้องใช้ลิเทียมไป 62.2 ล้านกิโลกรัม หรือ 62,600 ตัน

แร่ลิเทียม นิยมนำไปทำแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจำนวน หกหมื่นตันตรงนี้ ใกล้เคียงกับปริมาณของลิเทียมในเพกมาไทต์ จากแหน่งเรืองเกียรติ ปริมาณ 14.8 ล้านตัน และมีเกรดลิเทียมออกไซต์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งเท่ากับมีลิเทียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน ซึ่งถ้าเอา 6 หมื่นตันไปเทียบกับจำนวนของแต่ละประเทศทั่วโลก ไทยไม่ติดใน Top 10 เลย

เหมืองแร่ลิเทียมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

ในแง่มุมของผลกระทบเหมืองแร่ลิเทียมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมนั้นถูกกล่าวขานกันมานานหลายทศวรรษ ว่าสุดท้ายแล้ว การที่เรายอมแลกทรัพยากรธรรมชาติกับอนาคตตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่แน่นอนนั้นคุ้มค่าหรือไม่? ปัจจัยใหญ่ ๆ ที่เหมืองแร่ลิเทียมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ

1.การตัดไม้ทำลายป่าและการไล่สัตว์ป่าท้องถิ่นออกจากพื้นที่

การทำเหมืองต้องใช้พื้นที่เพื่อการตั้งรกรากแคมป์คนงาน การคมนาคม การขนส่ง ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ให้สะดวกต่อการทำเหมือง  แต่เมื่อระบบนิเวศถูกเปลี่ยนไปเป็นเหมือง จะส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นและสัตว์ป่าต้องอพยพหนี

การศึกษาจาก The Wall Street Journal ในปี 2019 เผยว่า 40% ของผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศทั้งหมดเกิดจากการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มาจากการขุดเหมือง

2.การปนเปื้อนของมลพิษ

กรดซัลฟิวริก และโซเดียมไฮดรอกไซด์ เป็นสารหนึ่งที่ใช้ในการสกัดลิเทียม เมื่อเหมืองมีการสกัดแร่ลิเทียม สารเหล่ามีโอกาสอย่างมากในการแทรกซึมลงไปในดินและน้ำ เป็นพิษต่อระบบนิเวศ และเสี่ยงให้สัตว์ได้รับสารพิษ จนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

อย่าง งานวิจัยจากวารสาร Proceedings of the Royal Society เผยว่า นกฟลามิงโก 2 สายพันธุ์ในชิลีถูกคุกคามเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากการขุดลิเทียม

นอกจากนี้ การคมนาคมการขับรถบรรทุกเข้าออกและการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นบริเวณเหมือง สามารถปล่อยมลพิษฝุ่นควันให้กับระบบนิเวศโดยรอบและปล่อยกาวเรือนกระจกจำนวนมหาศาลออกมา

เหมืองลิเทียมในชิลี Cr.bnamericas.

3.คุกคามชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องที่

รายงานได้ยกตัวอย่าง ชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ที่ได้รับผลกระทบทางลบจากการขุดเหมืองลิเทียม กิจกรรมดังกล่าวได้ผลักดันให้คนท้องถิ่นหลายร้อนคนต้องเดินออกจากดินแดนที่พวกเขาเคยเรียกว่าบ้าน เนื่องจากแม้เป็นพื้นที่ของพวกเขา แต่ก็ไม่สามารถชนะอำนาจของเอกชนได้

หรือชุมชนพื้นเมืองในทะเลทรายอาตากามาของชิลี แหล่งน้ำของพวกเขาเผชิญหน้ากับการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายในสิ่งแวดล้อม จากบริษัทเหมืองแร่ 2 แห่งที่ตั้งอยู่แถวนั้น ซึ่งเคลมตัวเองว่า บริษัทกำลังสร้าง “พลังงานที่ยั่งยืน”

ผู้เขียนทิ้งท้าย

ประเด็นของการพบแร่ลิเทียม อาจสร้างเสียงฮือฮาในสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับตลาดยานยนต์ไฟฟ้า การพบแร่ลิเทียมสร้างความคาดหวังในสังคมว่าราคาแบตเตอรี่ใน EV CAR อาจจะถูกลง แต่คำถามสำคัญคือ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่?

การมีแร่ลิเทียมของตนเองจะทำให้รถอีวีในประเทศถูกลงอย่างไร (หากหันไปดูประเทศโบลิเวียและชิลี ที่แม้มีมากสุด แต่ก็ไม่ได้รุ่มรวยขนาดนั้น) ใครได้ประโยชน์บ้าง? ต้องแลกกับทรัพยากรธรรมชาติมากแค่ไหน มีการจัดการอย่างไร ได้คุณภาพหรือเปล่า และคุ้มค่าหรือไม่? คุณล่ะคิดเห็นอย่างไร?

ที่มาข้อมูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related