svasdssvasds

เปิดความเสี่ยงแผ่นดินไหวกทม. คนกรุงไม่ต้องตื่นตระหนก ไม่เหมือนเม็กซิโก

เปิดความเสี่ยงแผ่นดินไหวกทม. คนกรุงไม่ต้องตื่นตระหนก ไม่เหมือนเม็กซิโก

นักวิชาการแผ่นดินไหวชี้ แม้เมืองตั้งบนชั้นดินอ่อนเหมือนกัน แต่กรุงเทพมหานคร มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวแตกต่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือจาก เม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงของเม็กซิโกที่มีความเสี่ยงรุนแรง

จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศโมร็อกโก ที่เพิ่งเผชิญกับแผ่นดินไหวขนาดแมกนิจูด 6.8 ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 632 ราย บาดเจ็บ 329 ราย โดยที่ 51 ราย อยู่ในภาวะวิกฤต ทำให้ความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว กรุงเทพมหานคร ถูกหยิบยกนำมาพูดถึงกันอีกครั้ง โดยเฉพาะความเสี่ยงแผ่นดินไหวจากการที่เมืองตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนที่สามารถขยายกำลังของคลื่นแผ่นดินไหวให้มีความรุนแรงขึ้น

โดยในกรณีนี้ กรุงเทพมหานคร มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับ เม็กซิโกซิตี้ อีกหนึ่งเมืองหลวงของโลก ที่ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน จนทำให้ประชาชนทั่วไปตื่นตระหนกว่า กรุงเทพฯ อาจต้องเผชิญความสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงแบบเม็กซิโกซิตี้ ที่มักต้องเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนระดับทำลายล้างเมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงห่างออกไป

ภาพความเสียหายแผ่นดินไหวที่ประเทศโมร็อกโก  ที่มาภาพ: Reuters

อย่างไรก็ตาม ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา อดีตอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยกับสปริงนิวส์ว่า แม้ว่าเป็นเรื่องจริงที่การที่เมืองตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนจะสามารถส่งผลให้เกิดการขยายกำลังของคลื่นแผ่นดินไหว ทำให้แรงสั่นสะเทือนรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามักเทียบความเสี่ยงแผ่นดินไหวกรุงเทพฯ กับ เม็กซิโกซิตี้ อย่างผิดฝาผิดตัว เพราะในความเป็นจริงแล้ว สภาพภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ และ เม็กซิโกซิตี้ มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

“กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในพื้นที่ดินอ่อนก็จริง แต่หลายเมืองทั่วโลกก็ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวรุนแรงเช่นเดียวกับ เม็กซิโกซิตี้ นั่นเป็นเพราะเม็กซิโกซิตี้มีปัจจัยหลายอย่างมากกว่าที่ทำให้มีความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวรุนแรง ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่เหมือนกับเม็กซิโกซิตี้ นั่นก็คือการที่เมืองตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่กรุงเทพฯ จะเจอความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในระดับเดียวกับเม็กซิโกซิตี้” ดร.ไพบูลย์ กล่าว

ความแตกต่างแผ่นดินไหวระหว่างกรุงเทพฯ กับเม็กซิโกซิตี้  ที่มา: ไพบูลย์ นวลนิล

ดร.ไพบูลย์ ชี้แจงว่า ความแตกต่างหลัก 3 ประการระหว่างกรุงเทพมหานคร และเม็กซิโกซิตี้ ได้แก่

  1. แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว: โดยในประเด็นนี้ ดร.ไพบูลย์ ชี้ว่า ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวของเม็กซิโกซิตี้ เกิดจากรอยเลื่อนแบบมุดตัว (subduction) ซึ่งสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงได้มากกว่าแมกนิจูด 8 ขึ้นไป ในขณะที่รอยเลื่อนแผ่นดินไหวใกล้กรุงเทพฯ คือรอยเลื่อนกาญจนบุรี ซึ่งเป็นรอยเลื่อนแบบเหลื่อมข้าง (strike-slip) ซึ่งมีกำลังในการทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงได้น้อยกว่าแมกนิจูด 7
  2. ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหว: ดร.ไพบูลย์ อธิบายว่า คลื่นแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ คือคลื่นทุติยภูมิ (S wave) ซึ่งเป็นคลื่นในตัวกลาง (body wave) เดินทางจากศูนย์เกิดแผ่นดินไหว ผ่านเข้าไปในเนื้อโลกในทุกทิศทาง ในขณะที่คลื่นแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อเม็กซิโกซิตี้ จะเป็นคลื่นเลิฟ (L wave) ซึ่งเป็นคลื่นพื้นผิวที่ทำให้อนุภาคของตัวกลางสั่นในแนวราบ โดยมีทิศทางตั้งฉากกับการเคลื่อนที่ของคลื่น ซึ่งอาจรุนแรงจนสามารถทำให้ถนนขาดหรือแม่น้ำเปลี่ยนทิศทางการไหลได้

แผนภูมิอธิบายชนิดคลื่นแผ่นดินไหว  ที่มา: มิตรเอิร์ธ

  1. การเดินทางของคลื่นแผ่นดินไหว: ดร.ไพบูลย์ อธิบายว่า เนื่องจากกรุงเทพฯ อยู่ห่างจากแหล่งเกิดแผ่นดินไหวเพียงไม่เกิน 200 กิโลเมตร ดังนั้นจึงมีระยะทางสั้นเกินกว่าจะเกิดคลื่น L wave ที่มีความรุนแรง ไม่เหมือนกับเม็กซิโกซิตี้ ที่มีระยะห่างจากแหล่งเกิดแผ่นดินไหวราว 300 – 400 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่จะได้รับผลกระทบจากคลื่น L wave
    นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังมีทะเลกั้นจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวรุนแรงใกล้เคียงในทะเล อย่างเช่นรอยเลื่อนบริเวณหมู่เกาะสุมาตรา ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวกว่าแมกนิจูด 9 ที่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อปี 2547 ซึ่งทำให้คลื่น L wave อ่อนกำลังลงอย่างมาก เมื่อผ่านพื้นผิวเปลือกโลกที่มีความหนาต่างกัน

“จะเห็นได้ว่าแม้ว่าในภูมิภาคของเราเคยประสบแผ่นดินไหวรุนแรงขนาดถึงกว่าแมกนิจูด 9 แต่ผลกระทบถึงกรุงเทพฯ กลับมีเพียงแค่คนบนอาคารสูงๆ สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่หาดใหญ่ที่มีอาคารเก่าที่ไม่ได้มีการออกแบบต้านแผ่นดินไหว และยังใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่สุมาตรามากกว่า ก็ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงใดๆ จากแผ่นดินไหวครั้งนี้เลย” ดร.ไพบูลย์ กล่าว

เขากล่าวว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่กรุงเทพฯ จะเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนรุนแรงจริงๆ คือต้องเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในระดับแมกนิจูด 7 ขึ้นไป จากรอยเลื่อนกาญจนบุรีเท่านั้น ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วรอยเลื่อนนี้ไม่สามารถส่งพลังรุนแรงได้ถึงขั้นนั้น อีกทั้งกรุงเทพฯ เอง ยังเคยเผชิญกับแผ่นดินไหวรุนแรงถึงขนาดแมกนิจูด 6 เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อเมือง

“ผมเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งเครือข่ายตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนกรุงเทพฯ โดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว อย่างน้อยเขตละ 1 เครื่อง และอาจจะเพิ่มเป็น 3-5 ในย่านที่มีความหนาแน่นของอาคารสูง เพื่อที่เราจะได้ข้อมูลแรงสั่นสะเทือนทั่ว กทม เมื่อมีแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงเกิดขึ้น” ดร.ไพบูลย์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related