svasdssvasds

เปิดข้อมูลไฟป่า พบไหม้ซ้ำซากกว่าสี่ล้านไร่ ย้ำจะแก้ฝุ่นต้องแก้ไฟป่า

เปิดข้อมูลไฟป่า พบไหม้ซ้ำซากกว่าสี่ล้านไร่ ย้ำจะแก้ฝุ่นต้องแก้ไฟป่า

จิสด้าเผย พื้นที่ไฟป่าไหม้ซ้ำซากปี 2566 รวมกัน 4 ล้านไร่ ภาพรวมใกล้เคียงสถิติข้อมูลไฟป่า 10 ปีย้อนหลัง เครือข่ายภาคประชาชนเชียงใหม่ย้ำรัฐ ต้องออกมาตรการเชิงยุทธศาสตร์จริงจังในการคุมไฟป่า ก่อนฤดูฝุ่นควันนี้เดินซ้ำรอย

เนื่องในวาระที่ฤดูฝุ่นควันภาคเหนือ ช่วงเดือนมกราคมเรื่อยไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม กำลังเข้าใกล้มาทุกที บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายข้อมูลและผลักดันนโยบาย เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ ย้ำว่า มาตรการเชิงยุทธศาสตร์ในการควบคุมไฟป่า มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 และได้เปิดเผยข้อมูลสรุปรูปแบบไฟป่าในปี 2566 และสถิติข้อมูลไฟป่าย้อนหลัง 10 ปี ดังนี้

บัณรส เผยว่า ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ชี้ว่าในปี 2566 ทั่วทั้งประเทศมีร่องรอยไฟไหม้อยู่รวมถึง 9.4 ล้านไร่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปี 2562/2563 ซึ่งเป็นปีไฟป่ารุนแรงอยู่มาก โดยรูปแบบไฟป่าในปี 2566 มีรูปแบบใกล้เคียงกับข้อมูลพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากในรอบสิบปี ระหว่างปี 2553 - 2562 อยู่มาก โดยพบว่า มีพื้นที่ไฟไหม้ในป่า 64% และไหม้ในพื้นที่เกษตรราว 33%

“มันเป็นแบบแผนพฤติกรรมปัญหาที่เราเผชิญ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า อะไรคือปลาตัวใหญ่ ที่ก่อผลกระทบรุนแรง วิชาการป่าไม้คำนวณชีวมวลป่าผลัดใบราวๆ 500~1000 กิโลกรัม/ไร่  ปีนี้ไหม้ในเขตป่าสำคัญ 20 ป่า (ป่าสงวน/ป่าอนุรักษ์)  ในแผ่นภาพรวมกัน  4 ล้านไร่  คิดเป็นชีวมวลการเผาราวๆ 2~4 ล้านตัน ฝุ่นควันคาร์บอนพีเอ็มมลพิษก้อนมหึมาที่่ปล่อยออกมา” บัณรส กล่าว

เปิดข้อมูลไฟป่า พบไหม้ซ้ำซากกว่าสี่ล้านไร่ ย้ำจะแก้ฝุ่นต้องแก้ไฟป่า

เขายังได้วิเคราะห์รูปแบบไฟไหม้นี่พื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซากรอบ 10 ปี ว่า ระหว่างปี 2553-2562 มีป่าใหญ่ๆ ลำดับต้น ที่ไหม้เกินแสนไร่ คือ ป่าสาละวิน ที่มีพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก 5 แสนไร่ รองลงมาคือกลุ่มป่าแม่ปิง แม่ตื่น อมก๋อย ซึ่งผืนป่าทั้งสามเป็นผืนป่าเดียวต่อเนื่องกันอยู่เหนือเขื่อนภูมิพล โดยทั้งสองกลุ่มป่านี้มีแบบแผนไฟไหม้ค่อนข้างตายตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่า

  • กลุ่มป่าแม่ปิง แม่ตื่น อมก๋อย เหนือเขื่อนภูมิพล: มีพฤติกรรมไหม้ลามช่วงปลายเดือนมกราคมต่อเนื่องเดือนกุมภาพันธ์ และส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เช่นแอ่งเชียงใหม่ลำพูนลำปาง เพราะลมพัดขึ้นเหนือพอดี
  • ผืนป่าสาละวิน: จะเริ่มไหม้ราวกลางเดือนมีนาคมไปสิ้นสุดต้นเมษายน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจะเริ่มมีลมตะวันตก/ใต้ พัดจากทะเลอันดามันเฉียงขึ้นมา และจะมีลมตะวันตกตรงๆ ในช่วงต้นเมษายน ซึ่งจะหอบฝุ่นควันก้อนใหญ่จากทั้งพม่า และกลุ่มป่าสาละวินเข้าพื้นที่ภาคเหนือตอนใน

ในขณะที่ข้อมูลรอยไหม้ burned scars จากดาวเทียม ที่กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้รายงาน ก็ยังเผยว่า กลุ่มป่าแม่ปิง แม่ตื่น อมก๋อย และป่าสาละวิน เป็นเขตไฟแปลงใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือ โดยป่าที่ไหม้เป็นสัดส่วนมากสุด 77% คือป่าสาละวิน ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน ซึ่งเมื่อปี 2566 มีพื้นที่ไฟไหม้ถึง 6 แสนกว่าไร่ ใหญ่กว่าสมุทรปราการทั้งจังหวัด

ดังนั้น บัณรส จึงย้ำว่ายุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ไขไฟป่าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากเราต้องการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ

เปิดข้อมูลไฟป่า พบไหม้ซ้ำซากกว่าสี่ล้านไร่ ย้ำจะแก้ฝุ่นต้องแก้ไฟป่า

“ปี 2566 การไหม้ใหญ่ๆ ก็วนอยู่ในพื้นที่ป่าไฟแปลงใหญ่ ซ้ำซากกลุ่มนี้ ป่าสาละวิน ไหม้เกือบทั้งป่า 77% ป่าศรีน่าน ไหม้เนื้อที่มากสุด 4 แสนไร่ มากจริงๆ เกิน 70% ของพื้นที่ป่า ป่าแม่ตื่น เหนือเขื่อนภูมิพล นี่ก็แหล่งใหญ่ซ้ำซากของประเทศ ไหม้ลามเป็นเดือน นี่คือแหล่งต้นทางมวลฝุ่นควันก้อนใหญ่ และเป็นต้นทางลมส่งมลพิษเข้าสู่ภาคเหนือตอนใน พื้นที่ซ้ำซากที่ว่า คนน้อย เจ้าหน้าที่น้อย ห่างไกล สังคมไม่สน รัฐบาลกรุงเทพก็ไม่เห็น ไม่เหมือนป่าสำคัญแหล่งท่องเที่ยว นี่คือเป้าหมายที่เราจะบอกให้รัฐบาลจัดการ” บัณรส กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related