svasdssvasds

Farmnote Holdings บริษัทจากญี่ปุ่น ยกระดับอุตสาหกรรมโคนมให้ยั่งยืนด้วย AI

Farmnote Holdings บริษัทจากญี่ปุ่น ยกระดับอุตสาหกรรมโคนมให้ยั่งยืนด้วย AI

ในโลกที่หมุนไปเร็ว บริษัทจากญี่ปุ่น Farmnote Holdings ใช้ระบบคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมโคนม หวังช่วยเกษตรกรลดภาระและอำนวยความสะดวกในการติดตามพฤติกรรมของวัวแต่ละตัว พร้อมวางเป้าระยะยาว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมโคนม

จะเป็นอย่างไร หากเราไม่ต้องลงไปดูแลวัวด้วยตัวเองทุกตัว แต่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระได้?

หลังจากทั่วโลกได้พบเจอกับวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลาย ๆ อุตสาหกรรมจำต้องซบเซาลงไป รวมถึงอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมของแดนอาทิตย์อุทัยด้วย

ในช่วงปี 2021 ถึงปี 2022 ในแวดวงอุตสาหกรรมโคนมของประเทศญี่ปุ่นเป็นกังวลกันอย่างมากว่า น้ำนมที่วัวผลิตออกมานั้นจะสูญเปล่า ยิ่งหนักเข้าไปอีกเมื่อต้องจ่ายราคาของอาหารสัตว์นำเข้าในราคาที่สูงขึ้น เชื้อเพลิงและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เหล่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมวิตกเป็นอย่างมาก

จากการสำรวจของ Japan Daily Council ในปี 2023 พบว่า กว่า 85% ของเกษตรโคนมในญี่ปุ่นนั้นขาดทุนตัวแดง และมี 65% ที่กำลังพิจารณาล้มเลิกธุรกิจที่แวดวงอุตสาหกรรมโคนม

Farmnote Holding สตาร์ทอัพสายกรีน

Shinya Kobayashi ได้ก่อตั้งบริษัท Farmnote Holding ในปี 2004 บริษัทของเขามุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีเข้ามาแบ่งเบาภาระเกษตรกรในการเลี้ยงโคนมและแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ในทุก ๆ มิติ

Shinya Kobayashi ซีอีโอบริษัท Farmnote Cr. Farmnote Holdings

Kobayashi ที่กล่าวถึงความยากลำบากของเกษตรกรเอาไว้ว่า ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เกษตรกรเหล่านี้ต้องหมดเวลาไปกับการเฝ้าจับตาดูวัวของตัวเองทุกฝีก้าว เพื่อจดข้อมูลเอาไว้วิเคราะห์ในงานเบื้องหลัง ดังนั้น สำหรับใครที่มีวัวหลายตัวจึงเป็นเรื่องที่น่ากุมขมับเป็นที่สุด ที่จะสามารถเฝ้าจับตา และบันทึกข้อมูลได้ในเวลาพร้อม ๆ กัน

หลายคนอาจเกิดคำถาม ที่ว่าจดข้อมูล ข้อมูลอะไร?

เกษตรโคนมจำเป็นต้องจดข้อมูลของวัวหลายอย่างมากไม่ว่าจะเป็น ช่วงเวลาการผสมพันธุ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เกษตรกรก็อาศัยทักษะมวยวัดของตัวเองในการคาดเดาถึงช่วงเวลาผสมพันธุ์ของวัวแต่ละตัว

ใช้ระบบคลาวด์ติดตามพฤติกรรมของวัว Cr. Farmnote Holdings

ดังนั้น Kobayashi จึงเล็งเห็นว่าระบบคลาวด์ที่สามารถช่วยเก็บข้อมูลทั้งหมดของวัวแต่ละตัวจะสามารถช่วยเกษตรเพิ่มความสามารถในกระบวนการผลิตและปรับปรังวิธีการจัดการฟาร์มโคนมของตัวเองได้

ไอเทมชิ้นแรกที่บริษัท Farmnote Holding ได้เปิดตัวออกมาก็คือ เซ็นเซอร์แบบสวมหน้ากากสำหรับวัว หรือที่เรียกว่า Farmnote color ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพียงติดหน้ากากดังกล่าวเข้ากับบริเวณลำคอของวัวเท่านั้น

เซ็นเซอร์ดังกล่าวจะติดตามพฤติกรรมของวัวแต่ละตัวตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังสามารถวัดระดับความร้อน การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ ลักษณะอาการที่มีแนวโน้มว่าจะป่วย หรือแม้กระทั่งสัญญาณการคลอดของโคตัวเมีย

ฟาร์มโคนม Cr. Farmnote Holdings

เซ็นเซอร์ดังกล่าวเกิดจากการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเรียนรู้และเฝ้าวิเคราะห์วัวแต่ละตัว และสามารถใช้งานจากระยะไกลได้ ทำให้เกษตรโคนมไม่ต้องเสียเวลาลงไปดูในทุกกระบวนการอีกต่อไป และความสะดวกสบายตรงนี้จะทำให้ได้ผลผลิตที่มากยิ่งขึ้น

Farmnote Cloud Cr. Farmnote Holdings

“การเพิ่มผลผลิตของโคนมด้วยวิธีนี้ มีเพียงลดการใช้น้ำและพลังงานเท่านั้น แต่ยังช่วยลดระดับความเครียดของวัวลง แถมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย” Kobayashi กล่าว

Kobayashi ยังอธิบายเพิ่มอีกว่า ในฟาร์มของเขาได้ติดตั้งหุ่นยนตร์ช่วยรีดนมวัว ซึ่งสามารถช่วยรีดนมวัวได้มากถึง 120 ตัวต่อวัน แถมทิ้งท้ายไว้อีกว่า เมื่อมนุษย์เข้ามาวุ่นวายกับธรรมชาติของโคนมน้อยลง ทำให้วัวเครียดน้อยลงเรื่อย ๆ

อีกหนึ่ง Highlight สำคัญของบริษัท Farmnote Holding คือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมโคนม

ในเดือนสิงหาคม 2023 Farmnote Holding ได้ตกลงเป็นพันธมิตรกับ Meiji Holdings Co.,Ltd. เพื่อร่วมกันใช้เทคโนโลยีที่ทั้ง 2 บริษัทถือครองอยู่ร่วมกันค้นคว้าและเก็บข้อมูลของวัวแต่ละตัว โดยเป้าหมายของการร่วมมือกันในครั้งนี้คือ ต้องการสนับสนุนเกษตรกรโคนมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วงให้อุตสาหกรรมนี้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ Farmnote Group ต้องการที่จะขยับขยายไปสู่อุตสาหกรรมปศุสัตว์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีก โดยหวังที่จะแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อร่วมกันสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืน สำหรับสัตว์ มนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ที่มา: sustainablebrands

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related