svasdssvasds

"ต้นตีนเป็ด" พรรณไม้คู่หน้าหนาว ส่งกลิ่นฉุนรับสิ้นปี อันตรายจริงหรือไม่?

"ต้นตีนเป็ด" พรรณไม้คู่หน้าหนาว ส่งกลิ่นฉุนรับสิ้นปี อันตรายจริงหรือไม่?

เปิดประโยชน์ "ต้นตีนเป็ด" พรรณไม้คู่หน้าหนาว ชวนพิสูจน์ด้วยการดมกลิ่นต้นตีนเป็ด ว่าส่งกลิ่นฉุนชวนมึนหัวหรือยัง เพราะจะเริ่มส่งกลิ่นตลบอบอวลในช่วงปลายปี หรือช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวพอดี พรรณไม้ปีศาจ บางคนรักบางคนเกลียด ควรถอนทิ้งหรือไม่?

คุณอยู่ทีมไหนระหว่าง ‘หอมดีทนได้’ หรือ ‘เหม็นเข้าไส้’?

มีคำกล่าวติดตลกว่า หากไม่แน่ใจว่าประเทศไทยเข้าสู่หนาวหรือยัง ก็ให้เดินไปดมกลิ่นต้นตีนเป็ด หากฉุนเตะจมูกเมื่อไหร่ ก็แปลว่าเราเข้าสู่หน้าหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว

สำหรับบางประเทศฤดูหนาวคือความโหดร้าย หิมะขาวโพลน อากาศเย็นติดลบ แต่สำหรับประเทศไทย บางที ‘หน้าหนาว’ อาจเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนต่างเฝ้ารอคอยให้มาถึงในเร็ววัน เพราะคำว่า ‘หนาว’ ในพจนานุกรมของคนไทยทุกวันนี้อาจหมายถึงแค่อากาศไม่ร้อนระอุเท่านั้น

อีกหนึ่งสิ่งที่มักมาพร้อมกับหน้าหนาวคือ กลิ่นรัญจวนของต้นตีนเป็ด ที่มักโชยกลิ่นให้เราสูดดมได้เมื่อเดินผ่าน พรรณไม้ชนิดนี้ถูกถกเถียงกันมานานแล้วว่า ควรเก็บไว้หรือโค่นทิ้งไปให้หมดจะดีกว่า เพราะนอกจากกลิ่นฉุนที่ท่องทั่วระแวกแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีประโยชน์ใดใดให้เห็นอีก

วันนี้ Spring News จึงชวนสำรวจแง่มุมอื่น ๆ ของต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ ภายใต้กลิ่นรัญจวนนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร ข้อดี ข้อเสีย ควรขุดทิ้งเลยดีไหม?

ต้นตีนเป็ดส่งกลิ่นฉุนช่วงปลายปี Cr.Wikipedia

ต้นตีนเป็ด

ต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Asltonia scholaris บ้างก็เรียกว่า ต้นตีนเป็ดเขียว ต้นตีนเป็ดไทย สักตะบัน หรืออาจสรุปรวบง่าย ๆ ได้ว่า ‘ต้นเหม็น

พรรณไม้ชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำต้นสูงราว 12 – 20 เมตร เปลือกต้นหนาเปราะ หากกรีดที่ผิวของลำต้นจะพบยางสีขาว ลักษณะดอกของต้นตีนเป็ดคล้ายดอกเข็ม มีสีขาวอมเหลือง

ใบของต้นตีนเป็ด จะขึ้นเกาะกลุ่มกันอยู่ที่บริเวณปลายกิ่ง ในหนึ่งชื่อจะมีใบอยู่ราว5 – 7 ใบ สีเขียวเข้ม ขนาดของใบยาวประมาณ 10 – 12 เซนติเมตร แซมแทรกด้วยดอกตามแต่ละช่อ

ต้นตีนเป็ดส่งกลิ่นฉุนช่วงปลายปี Cr. Flickr

ดอกของต้นตีนเป็ดจะเริ่มบานในช่วงสิ้นปี และจะส่งกลิ่นที่บางคนก็บอกว่าหอม บางคนก็บอกว่าเหม็น ภายในกลิ่นนั้นประกอบไปด้วยสารหอมระเหยในกลุ่ม ลินาโลออล (Linalool) ซึ่งบางคนอาจแพ้กับสารระเหยชนิดนี้ หากสูดดมเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการแพ้ น้ำหูน้ำตาไหลได้

หากเราอยู่ฝ่ายที่ไม่ได้เกลียดต้นตีนเป็ดเข้าไส้ แล้วสามารถก้าวข้ามเรื่องกลิ่นไปได้แล้ว รู้หรือไม่ว่า ต้นตีนเป็ดก็มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน แต่คนมักมองข้ามเรื่องนี้ไป แล้วหมกมุ่นอยู่กับกลิ่นที่ชวนมึนหัวเป็นไหน ๆ

หากส่งกลิ่นรบกวน ไฉนยังปลูกอยู่?

ในอดีตคนไทยมีความเชื่อที่ส่งต่อกันมาว่าการปลูก ‘ต้นตีนเป็ด’ สามารถช่วยส่งเสริมด้านสิริมงคลได้ หากปลูกไว้ในบริเวณบ้านจะยิ่งส่งเสริมบารมี ลาภยศของเจ้าของบ้านให้เจริญก้าวหน้า

ต้นตีนเป็ดมักนิยมปลูกกันในวันเสาร์ บริเวณทิศเหนือของบ้าน แถมยังมีการถือเคล็ดอีกว่า ต้องเป็นเจ้าของบ้านเท่านั้นที่เป็นคนลงมือปลูกด้วยตัวเอง หากต้องการให้ออปชั่นเสริมเรื่องดวงทำงาน

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เราถึงยังสามารถพบเห็นต้นตีนเป็ดได้ทั่วไป แม้แต่ในบริเวณบ้านของคนทั่วไปก็ตาม หรืออย่างบริเวณสวนสาธารณะก็พบเห็บได้ทั่วไป เพราะต้นตีนเป็ดสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนในอากาศได้ แต่ก็ต้องแลกมากับการที่ผู้คนหลีกเลี่ยงบริเวณนั้นเพราะทนกลิ่นฉุนของมันไม่ไหว

ดอกของต้นตีนเป็ด Cr. esanpedia

หากเราสังเกตจะพบว่า หลาย ๆ เขตของกรุงเทพมหานครมีการปลูกต้นตีนเป็ดเต็มไปหมด เพื่อเอาไว้บังแสงแดด และสร้างร่มเงาในสวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งบริเวณทางเท้าเองก็ตาม

ใครขับรถเส้นรามคำแหงบ่อย ๆ จะพบเห็น ต้นตีนเป็ด เป็นเรื่องปกติ จากการสำรวจพบว่า ถนนรามคำแหงมีต้นตีนเป็ดถึง 352 ต้น ถนนร่มเกล้ามี 327 ต้น ส่วนถนนสายอื่น ๆ อย่าง เกษตร-นวมินทร์ พบว่ามีต้นตีนเป็ดเกือบหนึ่งพันต้นเลยทีเดียว (956 ต้น)

คำถามถัดมาคือ เมื่อได้เวลาอันสมควรตีนเป็ดก็ส่งกลิ่นฉวีวันอยู่ทุก ๆ ปี ประชาชนในกรุงเทพฯ ก็ไปร้องเรียนกันอยู่เรื่อย ๆ กทม. จะแก้ไขปัญหาอย่างไร?

เมื่อปี 2564 ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ กทม. นายยงทวี โพธิษา ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ไว้ว่า กทม. ไม่มีนโยบายขุดย้ายต้นไม้ในกทมฯ แต่ได้แจ้งไปยังสำนักงานเขตแล้วว่า ไม่ควรปลูกเพิ่ม เพราะพี่น้องประชาชนตบเท้าเข้ามาร้องเรียนกันอยู่ทุกปี นอกจากนี้ยังแนะให้เลือกปลูกพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ แทน

แล้วคุณล่ะ คิดว่าควรทำอย่างไรกับต้นตีนเป็ดดี?

เรื่องที่ถูกเข้าใจผิด

กลายเป็นเรื่องปกติประจำช่วงสิ้นปีไปแล้ว ในเรื่องเฟคนิวส์ของต้นตีนเป็ด ที่ถูกส่งต่อกันในโลกออนไลน์ต่าง ๆ นา ๆ อย่างไปที่แล้วก็มีการกระจายข้อมูลว่า ต้นตีนเป็ดประกอบไปด้วยสารไซยาไนด์ (Cyanide) ที่เป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจ

ทำให้ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ต้องออกมาไขข้อสงสัยกันอยู่ทุกปี ผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุใจความว่า

ต้นตีนเป็ดประกอบไปด้วยสาร ‘ไซยาไนด์’ นั้นไม่เป็นความจริง เพียงแค่กลิ่นของมันเหม็นสำหรับบางคน จึงถูกจับไปโยงกับสารอันตรายมั่วไปเสียหมด

ลำต้นของตีนเป็ดมียางสีขาว Cr. easnpedia

จริงอยู่ที่ต้นตีนเป็ดที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยจะไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่สำหรับคนที่แพ้กลิ่นฉุนของต้นตีนเป็ดก็ควรเลี่ยงจะดีกว่า

เพราะช่วงสิ้นปีเมื่อดอกบาน จะส่งกลิ่นรัญจวนณทั่วอาณาบริเวณจนรบกวนการใช้ชีวิตของคุณได้ แต่ภายใต้กลิ่นฉุนนี้ ใช่ว่าจะไม่มีอันตรายอยู่เลย เพราะบางส่วนของลำต้นก็สร้างอันตรายให้เราได้เช่นกัน

อันตรายจาก ‘ต้นตีนเป็ด’

หอมหรือเหม็น คงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ ฉะนั้น เราจะตัดปัจจัยนี้ออกไปก่อน แล้วพิจารณาดูว่า ต้นตีนเป็ดมีอันตรายอื่น ๆ หรือไม่ที่มนุษย์ควรระแวกระวังเอาไว้

ต้นตีนเป็ดคือชื่อเรียกรวม ๆ ของพรรณไม้หลายชนิด แต่ลงลึกไปในรายละเอียด ต้นตีนเป็ดที่คนนิยมปลูกบริเวณบ้าน หรือตามสวนสาธารณะไม่ได้มีผลเสีย หรือมีพิษร้ายแรงอะไร แต่ให้ระวังต้นตีนเป็ด 4 ชนิดนี้ให้ดี เพราะยางของลำต้นนั้นมีพิษ ซึ่งหากได้รับพิษนี้เข้าไปการทำงานของหัวใจอาจถูกรบกวนได้

  1. ต้นตีนเป็ดทะเล (Cerbera odollam)
  2. ต้นตีนเป็ดทราย (Cerbera Manghas)
  3. ต้นตีนเป็ดแดง (Dyera costulata)
  4. ต้นตีนเป็ดฝรั่ง (Crescentia alata)

นอกเหนือจากกลิ่นฉุน หรือพิษจากยางของต้นตีนเป็ดแล้ว ยังมีข้อเสียอย่างอื่นด้วยเช่น ราก เนื่องต้นตีนเป็ดมีลำต้นที่สูงหลายสิบเมตร ฉะนั้นจึงเป็นต้นไม้ที่มีรากใหญ่และยาวเกาะผิวดินเพื่อให้ลำต้นตั้งตรงแข็งแรง

อย่างที่กล่าวไปว่า เมืองไทยเรามีความเชื่อในการปลูกต้นตีนเป็ดเพื่อเสริมดวง เสริมโชคลาภ ด้วยการปลูกไว้ที่ทิศเหนือของบ้าน หากไม่ได้รับการคำนวณ หรือวางแผนดี ๆ พื้นปูน หรือถนนระแวกนั้นอาจได้รับความเสียหายจากรากที่กัดเซาะได้

นอกจากนี้ ลำต้นที่สูงใหญ่ และใบไม้ของต้นตีนเป็ดอาจบดบังทัศนวิสัย ป้ายบอกทาง หรือสอดแทรกอยู่ตามสายไฟริมถนนด้วย ถึงตรงนี้ คุณคิดว่าต้นตีนเป็ดมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน?

ต้นตีนเป็ด ประโยชน์ สรรพคุณ

สำหรับเหลี่ยมแย่ ๆ ของต้นตีนเป็ด เราได้แจกแจงให้ทุกท่านทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอพามาดูเหลี่ยมในแง่ดีบ้างว่า อรรถประโยชน์ของ ต้นตีนเป็ด นั้นมีอะไรบ้าง ในแง่ของการรักษาอาการเจ็บป่วยของร่างกาย โดยอ้างอิงข้อมูลจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

  • เปลือกของต้นตีนเป็ด สามารถใช้เป็นยาขมช่วยให้เจริญอาหารได้
  • ใบอ่อนใช้ชงดื่มได้ ช่วยรักษาโรคเลือกออกตามไรฟัน
  • ดอกช่วยแก้โลหิตพิการ
  • เปลือกต้นช่วยขับน้ำเหลือง
  • เปลือกต้นช่วยขับระดูของสตรี
  • ใบใช้พอกเพื่อดับพิษต่าง ๆ
  • เปลือกใช้ต้มอาบเพื่อรักษาผื่นคัน

ต้นตีนเป็ด ประโยชน์ด้านอื่น ๆ

  • เนื้อไม้สามารถใช้ทำฟืน หรือทำโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ของบ้านได้
  • สารสกัดจากน้ำมันหอมระเหยของดอกพญาสัตบรรณสามารถใช้ไล่ยุงได้
  • ในหมู่เกาะบอร์เนียวมีการนำเนื้อไม้ไปทำทุ่นของแหและอวนได้
  • เนื้อไม้สามารถนำไปหีบใส่ของ หีบศพ โต๊ะ เก้าอี้ หรือไม้จิ้มฟันได้

หลังจากเสร็จสิ้นการอ่านบทความชิ้นนี้ ไม่ว่าทุกท่านมีภารกิจไปทำสิ่งใดต่อ ซื้อกับข้าว เลิกงงาน กลับบ้าน ไปดูหนัง หรือไปทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่

หากท่านมิได้เดินทางด้วยรถส่วนตัว Spring News ชวนสังเกตดูว่า สรุปแล้วประเทศไทยเข้าหน้าหนาวหรือยัง? พิสูจน์ด้วยการดมกลิ่นหอม (ฉุน) ฉวีวรรณของ ‘ต้นตีนเป็ด

ที่มา: pharmaoffice.kku

        dwr

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related