svasdssvasds

4 ประเทศ ออกกฎหมายห้ามซื้อขายสัตว์เลี้ยง มีข้อดีอย่างไร ไทยควรเอาบ้างไหม?

4 ประเทศ ออกกฎหมายห้ามซื้อขายสัตว์เลี้ยง มีข้อดีอย่างไร ไทยควรเอาบ้างไหม?

จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ตลาดศรีสมรัตน์ คร่าชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ไปจำนวนมาก สปริงนิวส์ชวนตั้งคำถามว่า หากประเทศไทยมีกฎหมายด้านสวัสดิภาพสัตว์จะช่วยปกป้องน้อง ๆ ได้อย่างไร โดยมองผ่านกฎหมายจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ สเปน อังกฤษ

SHORT CUT

  • จากเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ มีคนจำนวนมากตั้งคำถามถึงต้นตอเพลิงไหม้ อีกทั้งยังถามหาสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง รวมถึงมาตรการความปลอดภัยที่ควรเข้มงวดและรัดกุมกว่านี้
  • 4 ประเทศที่ออกกฎหมายแบนการซื้อขายสัตว์เลี้ยง ได้แก่ ฝรั่งเศส สเปน สหรัฐฯ อังกฤษ มีโทษปรับตั้งแต่ 500 ยูโร ถึง 10,000 ยูโร
  • หันกลับมามองไทย ควรมีกฎหมายที่ดูแลจัดการสวัสดิภาพสัตว์บ้างหรือไม่ เพื่อตัดปัญหาและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ซ้ำอีกในอนาคต

จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ตลาดศรีสมรัตน์ คร่าชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ไปจำนวนมาก สปริงนิวส์ชวนตั้งคำถามว่า หากประเทศไทยมีกฎหมายด้านสวัสดิภาพสัตว์จะช่วยปกป้องน้อง ๆ ได้อย่างไร โดยมองผ่านกฎหมายจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ สเปน อังกฤษ

ช่วงเช้ามืดของวันนี้ (11 มิ.ย. 67) ตลาดศรีสมรัตน์เต็มไปด้วยคราบน้ำตา หลังเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ กว่า 118 ห้องถูกไฟเผาจนวอด และที่น่าเศร้าสลดคือสัตว์เลี้ยงจำนวนมากถูกย่างสดอย่างน่าเวทนา

มีคนจำนวนมากเข้ามาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับตั้งคำถามถึงต้นตอเพลิงไหม้ อีกทั้งยังถามหาสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง รวมถึงมาตรการความปลอดภัยที่ควรเข้มงวดและรัดกุมกว่านี้

จากกรณีที่เกิดขึ้น สปริงรวบรวมข้อมูลจาก 4 ประเทศ ที่ออกกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ สั่งแบนการซื้อขายสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว หรือกระต่าย จากนั้นผู้อ่านทุกคนลองพิจารณาดูว่าประเทศไทยควรคลอดกฎหมายนี้หรือไม่

หากหากกฎหมายนี้คลอดออกมาใช้งานจริงจะเกิดผลกระทบใดบ้าง และนอกเหนือจากสุนัข แมว หรือกระต่าย มีสัตว์ชนิดใดบ้างที่คุณคิดว่าควรสั่งห้ามขาย (นอกจากผู้ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น)

เกิดเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ สัตว์ตายนับไม่ถ้วน Credit ภาพ Nation Photo

เกิดเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ สัตว์ตายนับไม่ถ้วน Credit ภาพ Nation Photo

เกิดเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ สัตว์ตายนับไม่ถ้วน Credit ภาพ Nation Photo

ฝรั่งเศสผ่านกฎหมายการจัดการสัตว์เลี้ยงในปี 2564

ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ในยุโรป หากพูดถึงสถิติการครอบครองสัตว์เลี้ยง รายงานของ FEDIAF ปี 2565 ระบุว่าฝรั่งเศสมีแมวราว 15 ล้านตัว มีสุนัขราว 7.5 ล้านตัว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ 3.6 ล้านตัว ยิ่งไปกว่านั้น ครัวเรือนในฝรั่งเศสถูกประมาณการว่า 33% เป็นเจ้าของแมว และ 20% เป็นเจ้าของสุนัข

ทำไมฝรั่งเศสถึงแบนการซื้อขายสัตว์เลี้ยงอย่างจริงจัง?

จุดเริ่มต้นการสั่งห้ามซื้อ-ขายสัตว์เลี้ยงของฝรั่งเศสต้องย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 รัฐสภาฝรั่งเศสได้รับรองการแก้ไขพระราชบัญญัติการจัดการสัตว์ โดยในเนื้อหาระบุไว้ว่าการซื้อขายสัตว์เลี้ยงตามห้างหรือร้านขายสัตว์เลี้ยงจะถูกสั่งห้ามตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป  

นอกจากนี้ การซื้อขายสุนัขหรือแมวผ่านช่องทางออนไลน์ก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้แล้วเช่นเดียวกัน หลายคนอาจสงสัยว่าฝรั่งเศสคงไม่มีสัตว์เดินว่อนให้เห็นแล้วสิ ต้องบอกว่าประชาชนยังสามารถซื้อขายสัตว์เลี้ยงได้

แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นร้านที่ได้รับใบอนุญาติจากทางการแล้วเท่านั้น หรือจะไปติดต่อรับสัตว์เลี้ยงจากสถานสงเคราะห์ก็ได้เช่นเดียวกัน

ทำไมฝรั่งเศสต้องใช้กฎหมายเข้ามาจัดการ?

เหตุผลหลักคือต้องการลดจำนวนสุนัขและแมวจรจัด ข้อมูลจากกลุ่มพิทักษ์สัตว์ในฝรั่งสัตว์ระบุว่ามีน้องสุนัขและแมวถูกทอดทิ้งกว่า 1 แสนตัวต่อปี สาเหตุเพราะว่าเจ้าของ (ส่วนใหญ่) รู้สึกลำบาก และต้องแบกภาระเพิ่มในการเคลื่อนย้ายหรือหาที่พักให้กับสัตว์เลี้ยง จึงตัดสินใจทิ้งน้อง ๆ ไว้ข้างถนนแทน

สุนัขในปารีส วิถีชีสิตประจำวันที่พบเห็นได้ทั่วไป

ประกอบกับช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนถูกล็อคดาวน์อยู่บ้าน จึงได้ซื้อสัตว์เลี้ยงมาอยู่เป็นเพื่อน แต่เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ทุกคนกลับเข้าออฟฟิศ สัตว์จึงถูกทอดทิ้งมากขึ้น

35 รัฐในสหรัฐฯ ออกกฎหมายสั่งห้ามซื้อขายสัตว์เลี้ยง

เว็บไซต์ statista ระบุว่าสหรัฐฯ มีร้านขายสัตว์เลี้ยงทั่วประเทศราว 17,800 ร้าน และคาดว่าภายใน 5 ปีนี้ ตัวเลขจะพุ่งแตะ 18,500 ร้าน นอกจากนี้ กว่า 35 รัฐในสหรัฐฯ ได้สั่งแบนการซื้อขายสัตว์เลี้ยงไปเรียบร้อยแล้ว

“สุนัข แมว และกระต่ายทั่วนิวยอร์กสมควรได้รับความรักและการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม ฉันภูมิใจที่ได้ลงนามในกฎหมายนี้ ซึ่งนี่จะช่วยให้ปกป้องสวัสดิภาพของสัตว์ได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น” เคธี โฮชู ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก กล่าว

เคธี โฮชู ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก จากพรรคเดโมแครต

เคธี โฮชู ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ได้ลงนามในกฎหมายการจัดการสัตว์เลี้ยง เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564 โดยกฎหมายดังกล่าวระบุไว้ว่าหมา แมว กระต่ายไม่ได้รับอนุญาตให้มีการซื้อขายในร้านขายสัตว์เลี้ยงอีกต่อไป โดยมีผลบังคับใช้เดือนธันวาคม ปี 2567

ขณะเดียวกัน ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ก็เป็นหนึ่งในรัฐที่ร่วมแบนการซื้อขายสัตว์เลี้ยง ผู้ใดที่ละเมิดกฎหมายลักลอบซื้อขายสัตว์เลี้ยงมีโทษถูกปรับ 500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8 หมื่นบาท

สเปนออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์

Ley de Bienestar Animal” หรือกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 กันยายน ปี 2566 แต่สำหรับเคสของดินแดนกระทิงดุ ความเคลื่อนไหวเชิงกฎหมายถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นวงกว้าง

กฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยงในสเปนถูกประท้วง

ผู้ประกอบการหลายรายออกมาเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายใหม่ เพราะเกรงว่าจะกระทบกับธุรกิจ และที่โหดร้ายกว่านั้น มีคนเตือนถึงขั้นว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการซื้อขายสัตว์เลี้ยงในตลาดมืดของสเปนได้

สเปนมีร้านขายสัตว์มากแค่ไหน?

หมายเหตุ: สเปนมีร้านขายสัตว์เลี้ยงราว 3,000 แห่งทั่วประเทศ

กฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ของสเปนมีใจความอย่างไร?

ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ขาปล้อง ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นอกจากนี้ กฎหมายนี้ได้สั่งห้ามซื้อขายหมา แมว และพังพอน หากใครต้องการเลี้ยงสัตว์ก็สามารถทำได้ โดยจะต้องไปซื้อกับผู้เพาะพันธุ์ที่มีใบอนุญาติขายเท่านั้น

หากเจ้าของสุนัขพาน้องไปเดินในที่สาธารณะต้องอยู่ในสายตาตลอดเวลา ไม่งั้นถูกปรับ เครดิตภาพ Flickr

อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นไฮไลท์คือเจ้าของสัตว์เลี้ยงในสเปนต้องเข้ารับการฝึกอบรมออนไลน์เพื่อแสดงเจตจำนงว่าตัวเองเป็นเจ้านายที่มีความรับผิดชอบ ยิ่งไปกว่านั้น สุนัขทุกตัวต้องมีประกันคุ้มครอง และผู้ใดก็ตามที่ถูกสุนัขไว้ในที่สาธารณะ แล้วไปทำอย่างอื่นจะถูกปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 500 ถึง 10,000 ยูโร หรือประมาณ 1.9 หมื่น ถึง 3.9 แสนบาท

อังกฤษออกกฎหมาย Lucy’s Law สั่งห้ามซื้อขายสัตว์เลี้ยง

เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี 2563 รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายที่ชื่อว่า Lucy’s Law ถูกตั้งตามชื่อของสุนัขตัวหนึ่งชื่อ “ลูซี่” ที่ถูกผสมพันธุ์ขึ้นในฟาร์มลูกสุนัขในรัฐเซาท์เวลส์

"ลูซี่" เครดิตภาพ Pet Transport Service

ลูซี่เป็นสุนัขที่มีร่างกายไม่สมบูรณ์ เนื่องจากถูกอยู่ในกรง และถูกทารุณมาหลายปี กระทั่งจากโลกนี้ไปในปี 2559 เรื่องราวของลูซี่ทำให้อังกฤษต้องออกกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่อจัดการกับสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยงในประเทศ

เนื้อหาใจความของกฎหมาย Lucy’s Law ระบุไว้ว่าลูกสุนัข ลูกแมวจะถูกสั่งห้ามซื้อขาย ผู้ใดต้องการครอบครองสัตว์เลี้ยงที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน จะต้องไปติดต่อกับผู้เพาะพันธุ์ที่มีใบอนุญาติหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

อังกฤษสั่งแบนการซื้อขายสุนัข - แมวที่ข้ายในร้านขายสัตว์เลี้ยง

อย่างไรก็ตาม มีแผ่นดินอังกฤษจะมีกฎหมาย Lucy’s Law อยู่ แต่ผู้ค้าขายสัตว์เลี้ยงก็หาวิธีหลบเลี่ยง และลักลอบซื้อขายสัตว์เลี้ยงแบบลับหูลับตา หากใครต้องการเว็บไซต์ ManyPets ชี้แนะวิธีสังเกตก่อนซื้อไว้ดังนี้

  • สัตว์เลี้ยงได้รับการผสมพันธุ์และเลี้ยงดูในบ้าน
  • ต้องเห็นลูกสุนัขกับแม่ของมัน ณ สถานที่เลี้ยง
  • ลูกสุนัขต้องมีพฤติกรรมมั่นใจและอยากรู้อยากเห็น
  • ลูกสุนัขได้รับไมโครชิปและถ่ายพยาธิก่อนย้ายไปบ้านใหม่

คิดเห็นอย่างไรกันบ้าง หลังจากที่สปริงพาไปดูกฎหมายของ 4 ประเทศที่สั่งห้ามซื้อขายสัตว์เลี้ยง ไม่แน่ว่าจากเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ตลาดศรีสมรัตน์ อาจเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ทำให้เราฉุกคิดว่าควรมีมาตรการความปลอดภัยมากขึ้นกว่านี้หรือไม่ หรือควรออกกฎหมายแบนการซื้อขายสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำในอนาคต

 

ที่มา: NHK World JapanDogster, BBC, Puppyschool, bestfriends, syracuse, Global Pets

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related