svasdssvasds

เบส-สุเมธ ทองด้วง: มือถือเครื่องเดียว บันทึกชีวิตปลาน้ำจืดภาคใต้

เบส-สุเมธ ทองด้วง: มือถือเครื่องเดียว บันทึกชีวิตปลาน้ำจืดภาคใต้

มือถือเครื่องเดียวกับแว่นดำน้ำคู่ใจ คืออาวุธของ "สุเมธ ทองด้วง" หรือ "เบส" นักสำรวจใต้น้ำรุ่นใหม่ ที่กำลังบันทึกชีวิตปลาน้ำจืดในภาคใต้ ก่อนจะหายไปด้วยฝีมือมนุษย์

สุเมธ ทองด้วง กับวันแรก ๆ ที่ “ปลา” เข้ามาในชีวิต

เด็กสุราษฎร์ฯ ใคร ๆ ก็ต้องจับปลามาเลี้ยง หนุ่มนักสำรวจบอกกับเราอย่างนี้ เบส-สุเมธ ทองด้วง คือผู้อยู่เบื้องหลังเพจ Fish in Southern Thailand ที่หยิบเรื่องใต้น้ำมาเล่าสู่กันฟัง ทั้งเรื่องปลา พืชน้ำ ฯลฯ

เบส-สุเมธ ทองด้วง: มือถือเครื่องเดียว บันทึกชีวิตปลาน้ำจืดภาคใต้

เขาเพิ่งอายุ 20 ปี ศึกษาอยู่ที่คณะประมง สจล. ชั้นปีที่ 2 วิทยาเขตชุมพร กำลังศึกษาเรื่องปลา โดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่เขาสนใจเป็นพิเศษ จุดเริ่มต้นที่ชักชวนให้เขาเข้าสู่เส้นทางนี้คือ คนในครอบครัว เบสเล่าว่าตั้งแต่อายุได้สี่ขวบ พ่อก็พาออกไปดูปลาที่ลำธารใกล้ ๆ บ้าน แถมพี่ชายก็เลี้ยงปลา พูดให้เลี่ยนคือ เขามีปลาเป็นเพื่อน

แต่เชื่อไหมว่า คนในครอบครัวที่บอกว่าจับปลาอยู่บ่อย ๆ ไม่มีใครสักคนที่ว่ายน้ำเป็น เบสก็ด้วย เขาอาศัยลอยตัวในน้ำ (ตื้น) ส่วนหนึ่งก็เพราะบ้านของเขาตั้งอยู่ในโซนภูเขา ไม่มีแหล่งน้ำใหญ่ให้ฝึกสกิลเป็นฉลามทางเรียบ

“เมื่อก่อนผมดำน้ำได้ ลอยตัวได้ แต่ว่ายน้ำไม่เป็น บ้านผมอยู่กลางเขา ไม่ค่อยมีแหล่งน้ำให้หัดว่าย มีแค่ห้วยที่น้ำเท่าเอวนั่นแหละ อีกอย่างคือที่บ้านไม่มีใครว่ายน้ำเป็นเลย จนผมเข้ามหาลัยต้องเรียนวิชาว่ายน้ำ เป็นวิชาบังคับ นักศึกษาต้องลงทุกคน ตอนนี้ว่ายน้ำเป็นแล้ว”

การที่บ้านอยู่ในโซนภูเขา แน่นอนว่าหนีไม่พ้นในการสนใจปลาน้ำจืด ไม่มีทะเล ไม่มีปลาน้ำเค็มให้ศึกษา และนี่ก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่เขาตั้งเพจ Fish in Southern Thailand ขึ้นมา “ผมอยากเป็นอีกหนึ่งเสียง ที่บอกว่าระบบนิเวศฝั่งน้ำจืดมีอะไรให้ศึกษาเยอะมาก ไม่ต่างจากน้ำเค็ม ปลาในธรรมชาติน้ำจืดมีคุณค่าในตัวของมัน”

เบส-สุเมธ ทองด้วง: มือถือเครื่องเดียว บันทึกชีวิตปลาน้ำจืดภาคใต้

เขาชอบเดินทางไปตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วด้านขวานไทย ทั้งยังโวด้วยว่าถ้าเป็นปลาน้ำจืดในภาคใต้ เขารู้จักทั้งหมด ดำน้ำไปเช็กแฮนด์ทำความรู้จักมาหมดแล้ว

“ส่วนใหญ่ผมจะสำรวจแหล่งน้ำในภาคใต้เป็นหลัก แต่ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นแค่ภาคใต้ ถ้าไปกรุงเทพฯ เจอแอ่งน้ำผมก็ลงได้เหมือนกัน ผมอยากบันทึกชีวิตของปลาพวกนี้เอาไว้ให้ได้เยอะที่สุด ก่อนมันจะหายไป" 

"แหล่งอาศัยของปลาถูกทำลายลงทุกวัน จึงอยากเก็บภาพเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไปเห็นว่าธรรมชาติของไทยสวยงามขนาดไหนมาก่อน"

อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 1970 ประชากรน้ำจืด ที่มีน้ำหนักตัวกว่า 27 กก. มีปริมาณลดลงในระดับหายนะ หรือราว 94% สถานการณ์ในเมืองไทยนั้น กรมประมงประกาศว่าขณะนี้มีสัตว์น้ำจืดราว 36 ชนิด ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์

 

บันทึกสวรรค์ใต้น้ำด้วยมือถือ 1 เครื่อง วิธีอนุรักษ์ฉบับคนตัวเล็ก

เบสเล่าว่าเขาไม่ชอบเขียนอะไรยาว ๆ ลงเพจ แต่ใช้ภาพกับวิดีโอช่วยเล่าเรื่อง พร้อมกับเขียนแชร์ประสบการณ์เหมือนเล่าให้เพื่อนฟัง เช่น วันนี้ไปไหนมา เจอปลาอะไร ระบบนิเวศเป็นยังไง ทั้งหมดเกิดขึ้นจากมือถือ 1 เครื่อง

“เวลาคนมาถามผมก็บอกเขาตรง ๆ ว่าใช้มือถือถ่าย คนก็เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ผมซื้อมือถือเครื่องนี้มาจากออนไลน์ ใส่เคสกันน้ำคุมมือถือทั้งเครื่อง เคสกันน้ำที่ผมใช้อยู่มีปุ่มสำหรับกดถ่าย เวลาถ่ายรูปสามารถกดปุ่มลดเสียงแทนปุ่มชัตเตอร์ได้เลย”

“ทีนี้ เวลาลงสำรวจใต้น้ำ ผมจะพกมือถือ เลนส์เสริม และหน้ากากดำน้ำ หน้ากากดำน้ำใช้แบบที่มีท่อสำหรับหายใจ เพิ่งซื้อมาใช้ได้ไม่นานนี้เอง เมื่อก่อนผมใช้แบบไม่มีท่อจนมันเกิดเรื่องคือผมใส่หน้ากากแล้วก็โดดลงน้ำ ทีนี้พอแรงดันมันต่างกัน แว่นแตกกระจุยเลย แต่มันแตกเป็นเศษเล็ก ๆ เหมือนกระจกรถ ผมเลยไม่เจ็บตัว”

เบส-สุเมธ ทองด้วง: มือถือเครื่องเดียว บันทึกชีวิตปลาน้ำจืดภาคใต้

เบสแนะนำว่าใครที่สนใจลงสำรวจใต้น้ำแล้วอยากเก็บภาพ ลองหามือถือที่กล้องมีคุณภาพดี เพราะถ่ายสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คนกล้องโฟกัสยาก ไหนจะต้องแหวกว่ายและทำตัวให้นิ่งที่สุด เพื่อจะได้ไม่รบกวนปลา ซึ่งเขาแชร์ทริคง่าย ๆ ไว้แบบนี้

“ลงสำรวจปลาแต่ละครั้ง ต้องทำตัวให้นิ่งที่สุด ค่อย ๆ ลอยเข้าไป อย่าว่ายตู้มต้าม ปลาจะได้ไม่ตกใจ ทำตัวให้เหมือนขยะลอยน้ำ (หัวเราะ)”

 

เบื้องหลังทริปในดวงใจ

นักสำรวจยกมาให้ 2 แห่ง ที่แรกคือ น้ำตกคลองเพรา อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร หนนั้นเขาว่าเดินทางไปพร้อมกับนักทำสารคดีชาวโปรตุเกสชื่อว่า Rodrigo Silva (เขามียูทูบของตัวเองด้วย https://www.youtube.com/@risilva)

เบส-สุเมธ ทองด้วง: มือถือเครื่องเดียว บันทึกชีวิตปลาน้ำจืดภาคใต้

“โรดริโกมารับผมที่หอพัก แล้วเราก็ขับรถไปกันเรื่อย ๆ สนุกมาก หนนั้นเจอปลาหลายชนิด เช่น ปลาพลวง ปลาค้อ พวกนี้คือปลาที่ชอบอาศัยอยู่ตามน้ำตก ที่มีกระแสน้ำแรง ๆ” แต่นี่ยังไม่ใช่ทริปที่เขาประทับใจที่สุด ทริปที่ชอบที่สุดคือ จังหวัดพังงา

“ที่ผมชอบเพราะได้เห็นปลาทะเลขึ้นมาอยู่รวมกับปลาน้ำจืด ตรงแหล่งน้ำจืดที่ผมไป มันไหลลงทะเลโดยตรง ทีนี้ ปลาทะเลบางชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดได้ ก็ขึ้นมาหากินในน้ำจืด โมเมนต์แบบนี้ไม่ได้หาดูง่าย ๆ ผมเลยชอบเป็นพิเศษเลย ตอนเอาหน้าจุ่มไปกรี๊ดเลย”

 

ดำน้ำ 1 ครั้ง เราเห็นอะไรบ้าง?

ด้วยความที่สนใจระบบนิเวศทางน้ำเป็นทุนเดิม เบสอธิบายความสำคัญของระบบนิเวศทางน้ำไว้ได้น่าสนใจและมีประเด็นให้ขบคิด เขาเล่าว่าระบบนิเวศทางน้ำ ไม่ว่าจะน้ำจืดหรือน้ำเค็ม ทุกอย่างสำคัญเท่าเทียมกัน

“ในระบบนิเวศ ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งหายไป มันอยู่ไม่ได้ มันจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ สมมติแหล่งน้ำหนึ่งมีปลาอาศัยอยู่ มีพืชน้ำ มีก้อนหิน แล้วอยู่ ๆ เราไปรื้อหินออกหมด ปลาบางชนิดที่ต้องพึ่งพาก้อนหินก้อนกรวดก็อยู่ไม่ได้”

น้ำตกคลองเพรา

“ในคลองสายหนึ่ง มีน้ำไหลแรง กระแสน้ำเปรียบเสมือนการหายใจ หินทำให้เกิดฟองอากาศในน้ำ เกิดออกซิเจนสำหรับหายใจ แล้วในคลองจะมีปลาชนิดที่ชอบอยู่ตามหิน อาศัยกินตะไคร่ หรือหลบอยู่ตามซอกหิน ถ้าเราเอาแมคโครไปจ้วงหินออก เหมือนเราทำลายที่อยู่กับแหล่งอาหารของมันไปเลย เหลือแต่พื้นทราย พื้นดิน ปลาก็ไม่มีที่อาศัย ไม่รู้จะกินอะไร แมลงน้ำก็หายไปด้วย”

แต่สำหรับใครที่สนใจดำน้ำแล้วไม่รู้จะดูอะไร เบสแนะนำให้มองหาปลา คอยดูว่าพวกมันทำอะไร เบสยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า ถ้าเห็นปลาอยู่รวมกันเป็นฝูง แสดงว่าชนิดพันธุ์นี้มีนิสัยขี้กลัว จึงต้องรวมกันป้องกันตัวเองจากนักล่า แต่ถ้าเห็นปลาว่ายอยู่ตัวเดียว นั่นแหละ “มันสุดในรุ่นแล้ว” ลองนำทริคนี้ไปใช้กันดู แล้วคุณจะสนุกกับการมองดูปลาในน้ำ

ปลาในน้ำตกคลองเพรา

เบส-สุเมธ ทองด้วง: มือถือเครื่องเดียว บันทึกชีวิตปลาน้ำจืดภาคใต้

 

เมื่อปลาหายไปจากลำธาร

การอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของปลาเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องคุยกันอย่างเปิดอก มีคนไม่น้อยที่ช่วยกันส่งเสียงให้สาธารณะทราบว่าโปรเจกต์สร้างเขื่อน หรือฝายกั้นน้ำ เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ ดูเหมือนการผลาญงบเสียมากกว่า ! เบสเป็นหนึ่งในคนที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้

ลำธารแถวบ้านของสุเมธ

“สมัยก่อน ลำธารแถวบ้านผมน้ำเยอะ ปลาชุม อุดมสมบูรณ์มาก แต่หลังจากสร้างฝายน้ำก็น้อยลง จากเดิมที่สูงถึงเอว ทุกวันนี้น้ำอยู่ระดับหัวเข่า บางวันลงถึงตาตุ่ม ฝายนี้สร้างมาประมาณ 2 ปี เจอน้ำป่าเอาไม่อยู่ ตอนนี้พังไปแล้ว แล้วลำธารล่ะ มันไม่เหมือนเดิมแล้ว” เบสเล่าถึงลำธารแถวบ้านที่มักไปสำรวจใต้น้ำเป็นประจำ

ลำธารแถวบ้านของสุเมธ

“ปีหน้า แถวบ้านผมจะมีโครงการสร้างเขื่อน ผมทำใจไว้แล้ว คลองที่ผมสำรวจมาตั้งแต่เด็กจะหายไป ผมคิดดูแล้ว ยังไงเขาก็ต้องศึกษากันมาแล้วสิ ว่ามันมีผลเสียยังไง แต่เลือกที่จะทำต่อ ผมเศร้าที่สุดเลยเรื่องนี้"

สิ่งปลูกสร้างกำลังทำให้แหล่งธรรมชาติ ที่สำคัญต่อทั้งระบบนิเวศ รวมถึงนักสำรวจคนนี้ เลือนหายไป อันที่จริง นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมก็พูดกันมานานว่าสิ่งปลูกสร้างอย่างเขื่อนหรือฝายกั้นน้ำ สร้างความเสียหายมากกว่าเป็นผลดี แต่ภาครัฐยังคงเดินหน้าสร้างอย่างไม่รู้จบ

เบส-สุเมธ ทองด้วง: มือถือเครื่องเดียว บันทึกชีวิตปลาน้ำจืดภาคใต้

เราถามเบสต่อไปว่ามีอะไรอีกที่คิดว่าคุกคามระบบนิเวศทางน้ำ หรือสัตว์น้ำท้องถิ่น

“ความต้องการของมนุษย์ทำให้ระบบนิเวศเสียหายมีหลายอย่าง เช่น เอเลี่ยนสปีชีส์ (ปลาหมอคางดำ) มันคือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจากต่างประเทศ ที่พอมีการนำเข้ามาแล้วก็ทำหลุดไปในธรรมชาติ สัตว์พื้นถิ่นบ้านเราก็ถูกทำลาย เราก็เห็น ๆ กันอยู่”

“อีกอย่างคือ การใช้ไฟฟ้าช็อตปลาในแหล่งน้ำ โอเค ปลาที่ตายแล้วก็คือตาย แต่ที่คนไม่ค่อยรู้คือ ปลาที่รอดตายมาได้ จะไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้แล้ว เป็นหมันไปเลย ทำแบบนี้ผิดกฎหมายนะ แต่ลักลอบกันอยู่เสมอ เพราะมันง่าย แค่ใช้แท่งจี้ลงไปในน้ำ ปลาก็ลอยเกยขึ้นมา แล้วตักเอาสวิงใส่เรือได้เลย ไม่จำเป็นต้องลงแรงตกหรือหว่านแหเลย”

 

My Dad is my hero!

ลูกคนนี้หลงรักปลาน้ำจืด ก็เพราะพ่อ

ได้ไปเล่นที่ลำธาร ใกล้ชิดธรรมชาติ ก็เพราะพ่อ

ตอนที่ยังลังเลว่าจะเรียนสาขาประมงดีไหม คนที่เชียร์ก็คือพ่อ

“ไม่ว่าทำอะไร พ่อสนับสนุนผมทุกเรื่อง ตอนคิดจะเข้าคณะประมง พ่อบอกเต็มที่เลยลูก ขอแค่เรียนแล้วมีความสุข สุดท้ายถ้าเข้าไปเรียนในสาขาที่ตัวเองไม่ได้ชอบตั้งแต่แรก คงยื้อไปได้ไม่นานหรอก พ่อซัพพอร์ตผมเสมอ”

“พ่อผมเสียไปเมื่อสามเดือนก่อน ผมหมดไฟมากเลยตอนนั้น ไม่อยากออกไปสำรวจใต้น้ำดูปลา ทั้ง ๆ ที่ผมชอบมันมาก เพจที่ทำอยู่เงียบไปเลยเป็นเดือน (เงียบ) มันเศร้าอ่ะครับ จู่ ๆ คนที่จุดประกายให้ผมรักสิ่งนี้ คนที่เชียร์ให้ผมมีกำลังใจทำสิ่งนี้ ไม่อยู่แล้ว

 

แล้วปลุกไฟตัวเองยังไง

“คนรอบตัว รุ่นพี่หลายคนก็ให้กำลังใจ พอได้สติ มันก็มีโมเมนต์ที่ผมคิดว่าตัวเองควรเปลี่ยนจุดมุ่งหมายในชีวิตใหม่ เมื่อก่อนจากที่ชอบไปหาปลาแล้วเอามาเพาะไปวัน ๆ ตอนนี้เลยหันมาสำรวจเพื่ออนุรักษ์แทน เปลี่ยนโจทย์ใหม่ให้ชีวิต พอได้มาสำรวจปลาผมมีความสุขมาก”

เบส-สุเมธ ทองด้วง: มือถือเครื่องเดียว บันทึกชีวิตปลาน้ำจืดภาคใต้

"อย่างตอนเด็ก ๆ ผมกับพี่ชายชอบจับปลามาเลี้ยงในตู้ที่บ้าน ตอนนั้นในสายตาเราปลาพวกนี้มันสวยมากในตู้ แต่พอได้มาดำน้ำแล้วเห็นปลาอยู่ในบ้านจริง ๆ ของมัน มันดูมีความสุขกว่าอยู่ในตู้เยอะเลย”

หลังผ่านพ้นช่วงหมดไฟมาได้ เบสบอกว่าได้เรียนรู้สำคัญต่อชีวิต อะไรสำคัญมาก อะไรสำคัญน้อย ตอนนี้เขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 กลางเดือนมิถุนายนต้องกลับไปเรียนแล้ว ถึงตอนนั้น คงไม่ได้ดำน้ำบ่อยเหมือนช่วงปิดเทอม แต่สิ่งที่แลกกันมาคือ เขาได้เรียนเรื่องปลาที่ตนเองสนใจ ได้ลองดำน้ำในทะเล และที่สำคัญคือ ได้มีช่องว่างกับสิ่งที่เขารัก

"ตอนที่ไปดำน้ำกับ Rodrigo Silva (นักทำสารคดีชาวโปรตุเกส) ผมดำน้ำอยู่อย่างนั้น 10 วัน มันเเริ่มเบื่อ ผมอยากกลับไปอยู่บ้านเฉย ๆ วินาทีนั้นผมรู้เลยว่าการสำรวจโลกใต้น้ำคงไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก ทำเป็นงานอดิเรกดีกว่า”

เบส-สุเมธ ทองด้วง: มือถือเครื่องเดียว บันทึกชีวิตปลาน้ำจืดภาคใต้

“ผมไม่ได้อยากไปดำน้ำทุกวัน ผมไม่อยากเบื่อสิ่งที่ผมรัก แค่นึกว่าต้องดำน้ำที่เดิมเป็นร้อยรอบ ผมต้องเบื่อแน่ ผมไม่อยากไปถึงจุดที่ไม่มีความสุขในการดำน้ำ จนมันเกิดคำถามว่าเรารักในสิ่งนี้จริงหรือเปล่า”

การเว้นช่องว่างต่อสิ่งที่รักไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร !

 

3 แหล่งสำรวจใต้น้ำ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ควรไปลองสักครั้ง

ช่วงท้าย ๆ ของการพูดคุยกัน เราขอให้เบสแนะนำแหล่งน้ำที่เหมาะแก่การไปใช้เวลาพักผ่อน ส่องดูปลา ระบบนิเวศใต้น้ำ ไหน ๆ ก็ได้เทคนิคดีดำน้ำมาจากเขาแล้ว และนี่คือ 3 สถานที่ ที่คุณสามารถไปตามรอยกันได้

คลองศก อ.พนม  ที่นี่มีปลาปักเป้า เป็นขาใหญ่ใต้น้ำคุมอยู่ โดนกัดแน่นอน แถวนี้มีธุรกิจล่องห่วงยาง แล้วปล่อยนักท่องเที่ยวใหลไปตามน้ำ มีเรื่องเล่าว่านักท่องเที่ยวมักโดนปลาปักเป้ากัดตูด ลองไปกันดูครับ เจ้านี่แหละที่ไล่กัดตูดคนอื่น

คลองศก อ.พนม

คลองศก อ.พนม

คลองศก อ.พนม

 

ป่าต้นน้ำบ้านน้ำราด อ.คีรีรัฐนิคม ที่นี่มีปูพื้นถิ่นใต้อยู่ชนิดหนึ่ง ปูลำห้วยถลาง น้ำใสน่าเล่น 

ป่าต้นน้ำบ้านน้ำราด อ.คีรีรัฐนิคม

ป่าต้นน้ำบ้านน้ำราด อ.คีรีรัฐนิคม

ปูเจ้าถิ่น

 

อ่างน้ำผุด อ.พระแสง ที่นี่มีพืชน้ำชื่อ คาบอมบ้า พืชน้ำต่างถิ่น ดีต่อระบบนิเวศ ดีต่อปลา มีแหล่งวางไข่ สวยมาก ๆ เป็นดงเขียวขจี มีพืชขึ้นอยู่สวยมาก เป็นพื้นที่ปิด 

อ่างน้ำผุด อ.พระแสง

อ่างน้ำผุด อ.พระแสง

เบส-สุเมธ ทองด้วง: มือถือเครื่องเดียว บันทึกชีวิตปลาน้ำจืดภาคใต้

สำหรับคนที่สนใจอยากไปดำน้ำดูปลา ช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูมรสุม ทางที่ดีควรให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน เพราะนอกจากน้ำจะขุ่นจนคุณไม่มองเห็นปลาแล้ว ยังมีความเสี่ยงเจอน้ำไปไหลหลากด้วย

เรื่องราวของเบส–สุเมธ ทองด้วง ไม่ได้เป็นเพียงแค่บันทึกของเด็กคนหนึ่งที่รักปลา แต่คือบทพิสูจน์ว่า "คนตัวเล็ก" ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อธรรมชาติได้อย่างมีความหมาย เขาตั้งใจเก็บชีวิตปลาน้ำจืดท้องถิ่นใต้เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษาเรียนรู้

ทำให้คิดว่าบางครั้ง การรักษาธรรมชาติอาจไม่ต้องเริ่มจากแคมเปญใหญ่โต แต่อาจเริ่มจาก “มองอย่างใส่ใจ” เหมือนอย่างที่นักสำรวจผู้นี้ มองเห็นคุณค่าที่ซ้อนอยู่ในปลาตัวเล็ก ๆ ใต้น้ำ ที่ใครหลายคนอาจมองข้ามไปแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related