สตาร์ทอัพอิสราเอลและสิงคโปร์ร่วมกัน ผลิต "เนื้อปลาสังเคราะห์" ชิ้นแรกของโลก ทำจากเซลล์ปลาเก๋าและเครื่อง 3D Printer เพื่อเป้นทางเลือกให้กับคนไม่กินเนื้อสัตว์
เนื้อปลา ยังคงเป็นหนึ่งในเมนูจานเนื้อจากท้องทะเล หรือซีฟู้ดที่ผู้คนทั่วโลกยังคงนิยมชมชอบ แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมและบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป สัตว์ในอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคถูกปกป้องมากขึ้นในด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์
อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ผู้คนตระหนักถึงความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น ถ้าหากวันหนึ่งเราไม่สามารถดูแลสัตว์ในธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ ท่ามกลางปัญหาแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะแก้ไขความยั่งยืนด้านอาหารอย่างไรดี
นั่นจึงเป็นหนึ่งเหตุผล ที่นักวิทย์ได้เพิ่มทางเลือกอันสันติให้กับผู้ที่ต้องการบริโภคเนื้อสัตว์แต่ไม่อยากทำร้ายสัตว์ ด้วยการสร้างเนื้อวัวและเนื้อไก่สังเคราะห์จากห้องแล็บ โดยมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับเนื้อจริง ๆ รวมถึงเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชอย่างแพลนต์เบส (Plant-Based) ที่ก็เริ่มฮิตในกลุ่มชาววีแกนบ้างแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจ๋ง ! นักวิจัยพัฒนาแผ่นฟิล์มกินได้ ย่อยสลายง่าย ยืดอายุอาหารได้ 4เดือน
การแพทย์สุดล้ำ! นักวิทย์อิตาลีคิดค้น "แบตเตอรี่กินได้" ทำจากอัลมอนด์
เด็กไทยเจ๋ง! นวัตกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเสริมไคโตซาน ลดขยะจากเปลือกกุ้ง
แต่ในช่วงของการพัฒนาเนื้อสัตว์ที่ผ่านมา ยังมีน้อยบริษัทที่จะสนใจการผลิตอาหารสังเคราะห์จำพวกอาหารทะเล สิ่งนี้เองได้ดึงดูดให้ Steakholder Foods ของอิสราเอลร่วมมือกับ Umami Meats สตาร์ทอัพผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ในสิงคโปร์ ทำการออกแบบและผลิตเนื้อปลาสังเคราะห์ขึ้นมา โดยไม่ทำให้ปลาในท้องทะเลลดน้อยลง ซึ่งนี่คือ “เนื้อปลาสังเคราะห์” ชิ้นแรกของโลก
โดยเนื้อปลาชิ้นนี้ ได้ทำการสกัดเซลล์มาจากปลาเก๋า และเพาะเซลล์ให้กลายเป็นกล้ามเนื้อและไขมัน จากนั้นก็เปลี่ยนพวกมันให้กลายเป็นน้ำหมึกชีวภาพ ที่สามารถนำไปใช้ในเครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบพิเศษได้ และผลที่ได้คือ เนื้อสันในที่เลียนแบบคุณสมบัติของปลาในท้องทะเล ที่เมื่อคุณนำไปทอดหรือปรุงสุกก็ทำได้หมด
กลุ่มสตาร์ทอัพผู้ผลิตคาดหวังว่า ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาผลิตได้นี้จะเริ่มออกสู่ตลาดในปีหน้า โดยจะเริ่มจำหน่ายที่สิงคโปร์เป็นที่แรก จากนั้นก็เริ่มกระจายไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และระหว่างนี้ยังอยู่ในช่วงของการสร้างความมั่นคงด้านคุณภาพและรอการควบคุมกฎระเบียบเพื่อให้ปลอดภัยกับผู้บริโภค
ผู้บริหาร Steakholder Foods เผยว่า กระบวนการเพาะเซลล์เพียงอย่างเดียวมีราคาแพงเกินไปเมื่อเทียบกับต้นทุนของอาหารทะเลแบบดั้งเดิม ดังนั้น เนื้อปลาที่ได้ในตอนนี้จึงจะต้องเจือจางไปด้วยส่วนผสมอื่นด้วย เช่น จากพืชที่จะผสมลงไปในน้ำหมึกชีวภาพ
ตอนนี้พวกเขายังทำการทดลองการเพาะเซลล์ได้แค่ปลาเก๋ากับปลาไหลเท่านั้น แต่ในอนาคต พวกเขาหวังว่าจะสามารถเพิ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ไปอีก 3 สายพันธุ์ในไม่กี่เดือนข้างหน้าเพื่อให้มันทำหน้าที่แทนชีวิตของปลาจริง ๆ ที่กำลังลดจำนวนลง
สิ่งที่หวังที่สุดจากโปรเจกต์นี้คือ พวกเขาต้องการให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรสชาติ หรืออาหารของเขา ที่สามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกได้ด้วย หรือก็คือ ผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นหนึ่งในทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังสูญหายไปนั่นเอง
ที่มาข้อมูล