svasdssvasds

EPR หนทางรอดปัญหาขยะพลาสติก เมื่อผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ตัวเอง

EPR หนทางรอดปัญหาขยะพลาสติก เมื่อผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ตัวเอง

เมื่อขยะมูลฝอยไม่มีวี่แววว่าจะลดน้อยลงแต่อย่างใด ทำให้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมกันหาทางออกเพื่อจำกัดปัญหาขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ จึงเป็นที่มาของหลักการ EPR เมื่อผู้ผลิตต้องมีส่วนรับผิดชอบต้องสินค้าของตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

ปัจจุบันประเทศไทย นับว่ามีปัญหาขยะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยอยู่ราว 28.71 ล้านตัน ซึ่งแน่นอนว่าการกำจัดขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่คือวิธีการฝังกลบ

หากนับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทั่วประเทศ จะพบว่าประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะอยู่ราว 2,137 แห่ง แต่สิ่งที่ย้อนแย้งกับตัวเลขดังกล่าวคือ กว่า 95% ยังเป็นการกำจัดขยะแบบไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง

คำถามถัดมาคือ แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? หากเรากวาดสายตาไปดูประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งต้องประสบกับปัญหาขยะมูลฝอยไม่ต่างจากประเทศไทย จะพบว่า บางประเทศสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วย ตัวภาษาอังกฤษ 3 ตัว คือ EPR วันนี้ Spring News ชวนรู้จัก วิธีคิดเรื่อง EPR คืออะไร? และจะช่วยแก้ไขปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ได้อย่างไร?

EPR คืออะไร?

EPR หรือ Extended Producer Responsibility คือ แนวคิดในการดึงผู้ผลิตให้เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองผลิตและจำหน่าย ซึ่งนั่นร่วมถึงหลังจากที่ผลิตภัณฑ์กลายเป็นขยะด้วย ไม่ใช่สิ้นสุดแค่กระบวนการขายเท่านั้น

ซึ่งหากทำสำเร็จจะสามารถทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในบางประเทศเช่นเยอรมัน ได้มีการทำกฎหมาย EPR ไปใช้ ผลปรากฏว่า อัตราการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ของผู้ผลิตเพิ่มขึ้น หลาย ๆ ประเทศจึงได้ปฏิบัติตามเพื่อนำมาจัดการกับขยะที่จัดการได้ยากเช่น ยางรถยนต์ หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์

หลักการ EPR Cr. สมาคมการพิมพ์ไทย

หลักการทำงานของ EPR

ต้องบอกว่า หากประเทศไทยสามารถออกกฎหมาย EPR จะทำให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำเป็นต้องรับผิดชอบและดูแลสินค้าของตัวเอง และจัดการบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้อง เพื่อให้ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติตาม 3 แนวทางดังนี้

  • ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่น ลดการใช้พลาสติก ไม่สกรีนสีลงบนขวดพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งอาจทำให้ยากต่อการนำไปรีไซเคิล
  • ใช้วัสดุที่รีไซเคิลจากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่ตัวเองผลิต
  • สร้างระบบการขนส่งบรรจุภัณฑ์ที่ดี เพื่อให้ง่ายต่อการแยกขยะเช่น จำเป็นต้องมีตัวกลางในการรับคืนซากบรรจุภัณฑ์จากผู้บริโภค ซึ่งผู้ที่หน้าที่ตรงนี้เราเรียกว่า Producer Responsibility Organization หรือ PRO

หากทำได้ดังนี้ ปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่ชุมชนก็จะน้อยลง และทำให้ขยะที่ส่งไปยังกระบวนการเผา หรือผังกลบอาจลดน้อยลงไปด้วย เฉกเช่นที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้สั่งห้ามผู้ผลิตออกแบบหรือผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติกให้มีสีสัน เพื่อป้องกันปัญหาในกระบวนการรีไซเคิล

เรียกได้ว่าหากผู้ผลิตหันมาปรับใช้แนวคิดนี้กับแบรนด์และวิธีการผลิตสินค้าของตัวเอง และการออกแบบผลิตภัณฑ์มีกฎหมายสักตัวมาควบคุมผู้ผลิตเอาไว้ 

ผลกระทบนอกจากจะทำให้ผู้ผลิตเร่งปรับตัวเพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

แผน EPR ช่วยไม่ให้เกิดขยะตกค้าง Cr. สมาคมการพิมพ์ไทย

ระบบ EPR ในประเทศไทย

ต้องบอกว่าผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทย หรือภาคเอกชนเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องการรับคืนบรรจุภัณฑ์จากผู้บริโภคกันบ้างแล้วเช่น ขวดพลาสติก หรือกล่องเครื่องดื่มต่าง ๆ แต่ในขั้นแรกเริ่มจะเป็นการดำเนินงานในลักษณะ CSR เสียส่วนใหญ่

อีกหนึ่งท่าทีที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจต่อแนวคิด EPR คือ การที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจ และเก็บข้อมูลจากต่างประเทศที่ใช้ระบบ EPR ในการจัดการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อยู่

ส่วนในฝั่งของภาครัฐ ทางกรมควบคุมมลพิษได้วางแผนการพัฒนากฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ ไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570)

อัพเดตล่าสุด มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมแล้ว โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยแม้ฟ้าหลวงให้เป็นผู้ดำเนินการยกร่างพรบ. และอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง

ส่อง EPR ของประเทศเพื่อนบ้าน

ฟิลิปปินส์

มีกฎหมายที่ชื่อว่า ‘Act Institutionalizing the Extended Producer Responsibility on Plastic Packaging Waste’ ซึ่งบอกไว้ดังนี้

  • คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (NEC) ได้ประกาศรายชื่อบรรจุภัณฑ์พลาสติกและสินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ควรถูกห้ามผลิต
  • ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 65 ล้านบาทขึ้นไป ต้องดำเนินโครงการ EPR สำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติก 
  • ผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของสินค้าจะต้องลดขยะพลาสติกที่ไปกำจัดหรือตกค้างในสิ่งแวดล้อมลงด้วยวิธีการต่างๆ ให้ได้ 20% ภายในปีค.ศ. 2023 ไปจนถึง 70% ภายในปีค.ศ. 2027

อินโดนีเซีย

มีกฎหมายที่ชื่อว่า Roadmap on Waste Reduction by Producer DECREEซึ่งบอกไว้ดังนี้

  • ให้ความหมายของ “ผู้ผลิต” ครอบคลุมหลายภาคส่วน ได้แก่

1) ผู้ผลิตอุตสาหกรรม

2) ภาคธุรกิจบริการอาหารและ

3) ผู้จัดจำหน่ายเช่น ห้างหรือตลาด

-  ผู้ผลิต จะต้องทำการวางแผน, ดำเนินการ, ติดตาม, ประเมินผลการลดขยะจากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง

- จะต้องลดขยะให้ได้ 30% ภายในปีค.ศ. 2029  

เวียดนาม

มีกฎหมายที่ชื่อว่า Decree detailing some articles on the Law on Environmental Protection-08/2022/ND-CP ซึ่งบอกไว้ดังนี้

• กำหนดเป้าหมายที่ในการเริ่มใช้ EPR กับบรรจุภัณฑ์เต็มรูปแบบในปีค.ศ. 2024

• ผู้ผลิตมีกินความหมายรวมถึง ผู้ผลิตสินค้า ผู้นำเข้าและผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์

• ให้มีการจัดตั้งองค์กรตัวแทนผู้ผลิต ที่เรียกว่า Producer Responsibility Organization (PRO) ซึ่งจะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 3 ราย หรือเลือกที่จะจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้กองทุนสิ่งแวดล้อมของรัฐแทน

• ผู้ผลิตจะต้องรีไซเคิลให้ได้อย่างน้อย 40% ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด

สิงคโปร์ 

มีกฎหมายที่ชื่อว่า Resource Sustainability Act 2019 Part 4 Reporting in relation to packaging ซึ่งบอกว่า 

  •  ให้ผู้ผลิตรายงานข้อมูลปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์และแผนการลดและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์
  • ให้พัฒนาระบบมัดจำคืนเงินของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม
  • ให้เริ่มระบบ EPR บรรจุภัณฑ์ภาคบังคับเต็มรูปแบบ

หลังจากได้ทำความรู้จักกับแนวคิด EPR ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว Spring News ชวนรู้จัก 'เม็ดพลาสติก' อีกหนึ่งเครื่องมือในการช่วยลดปัญหาขยะตกค้าง และแนวการนำเอาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว กลับมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ชิ้นใหม่ 

เม็ดพลาสติกคืออะไร?  

เม็ดพลาสติกเกิดจากไอเดียที่ว่า บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว ถูกทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ จากนั้นก็ถูกนำไปทิ้งที่กระบวนการฝังกลบ บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นจึงถูกนำกลับมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลใหม่

จนเกิดเป็น เม็ดพลาสติก ที่สามารถนำไปสร้างบรรจุภัณฑ์พลาสติกใหม่ได้เรื่อย ๆ แถมคุณภาพเทียบเท่ากับพลาสติกจากต้นทางอีกด้วย

ปัจจุบันเม็ดพลาสติกที่เรารู้จักกันมีอยู่ 2 ประเภทคือ

  • InnoEco PCR PET เป็นเกรดสัมผัสอาหาร
  • InnoEco PCR HDPE เป็นเกดสำหรับบรรจุภัณฑ์

บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล Cr. ENVICCO

อีกหนึ่งจุดเด่นของเม็ดพลาสติกคือ เป็นพลาสติกที่รับซื้อมาจากพลาสติกใช้แล้วของครัวเรือน จากนั้นนำมารีไซเคิลใหม่ด้วยมาตรฐานแบบยุโรป เพื่อให้ได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง โดยเม็ดพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิล พร้อมกับจุดเด่นอีกนับไม่ถ้วนเช่น

  • ความสม่ำเสมอของคุณภาพสี แข็งแรงด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง
  • สะอาดปลอดภัย ไร้สิ่งเจือปน
  • สามารถตรวจสอบย้อนถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้
  • ใช้ทรัพยากรหมุนเวียน
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related