svasdssvasds

เชื่อหรือไม่ว่าการงีบหลับตอนกลางวันดีกับสุขภาพหัวใจ

เชื่อหรือไม่ว่าการงีบหลับตอนกลางวันดีกับสุขภาพหัวใจ

หลายคนอาจเคยงีบหลับในช่วงพักเที่ยง โดยเฉพาะเมื่อออฟฟิศปิดไฟสลัวเพื่อประหยัดพลังงาน และเมื่อหนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน อันที่จริง ออฟฟิศหลายแห่งยอมรับการงีบหลับช่วงหลังอาหารกลางวันโดยไม่แอบไปเม้าท์ลับหลังว่าเป็นเรื่องของความขี้เกียจแต่ประการใด ที่ผ่านมา เราอาจรู้สึกแค่ว่าร่างกายกระปรี้กระเปร่าขึ้นเมื่อตื่นขึ้นมาทำงานในช่วงบ่าย แต่แท้จริงแล้ว การงีบหลับนี้มีผลการศึกษารองรับว่าดีต่อสุขภาพ

การศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Heart พบว่าการงีบหลับไม่ใช่นิสัยของคนขี้เกียจ แต่หากนำมาใช้อย่างเหมาะสม กลับมีประโยชน์ต่อหัวใจ

นักวิจัยพบว่าคนวัยผู้ใหญ่ชาวสวิสที่งีบในช่วงกลางวัน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจน้อยกว่าคนที่ไม่ได้งีบหลับเลย การนอนไม่เพียงพอเป็นปัจจัยเสี่ยงของปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ รวมถึงปัญหาด้านหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้น การงีบหลับเพื่อชดเชยการนอนที่ขาดหายไปในช่วงกลางคืนจึงกลายเป็นนิสัยที่ก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ

งานวิจัยชิ้นนี้ใช้เวลา 8 ปีในการเก็บข้อมูลชาวสวิส 3,500 คนที่อยู่ในวัยระหว่าง 35-75 ปี กลุ่มคนเหล่านี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนิสัยการงีบหลับในช่วงกลางวัน นิสัยการนอนในตอนกลางคืน ข้อมูลด้านภูมิประชากรศาสตร์ และข้อมูลการใช้ชีวิต รวมถึงการตรวจร่างกายทางการแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพโดยรวม ผู้เข้าร่วมงานวิจัยมากกว่าครึ่งหนึ่งบอกว่า เขาไม่เคยงีบหลับระหว่างสัปดาห์ก่อนที่งานวิจัยจะเริ่มต้น แต่มีอยู่ 667 คนที่งีบหลับ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ 411 คนบอกว่างีบหลับ 3-5 ครั้ง และเพียง 370 คนบอกว่างีบหลับเกือบทุกวันคือ 6-7 ครั้งต่อสัปดาห์

ในจำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัยทั้งหมด มี 155 คนมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอยู่แล้ว นักวิจัยพบว่าคนที่งีบหลับ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดน้อยกว่าคนที่ไม่ได้งีบหลับเลย แม้ต่อมาจะมีการปรับไปนอนกลางวันเพิ่มขึ้น ปรับช่วงเวลานอนในตอนกลางคืนและปรับการใช้ชีวิต นอกจากนี้ ยังไม่พบความเชื่อมโยงเด่นชัดระหว่างการงีบหลับนานขึ้นกับสุขภาพของหัวใจ

งานวิจัยยังระบุอีกว่า การงีบหลับช่วงสั้นๆเป็นวิธีที่ดีในการผ่อนคลายความตึงเครียดและชดเชยการนอนที่ไม่เพียงพอในช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นการปกป้องหัวใจจากปัญหาสุขภาพ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริการะบุว่า การนอนหลับที่ไม่พอเพียงเป็นปัจจัยเสี่ยงของสภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วนผิดปกติ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจวาย โรคหัวใจ หรือความเจ็บป่วยด้านจิตใจ ดังนั้น การงีบหลับในช่วงกลางวันจึงเป็นสิ่งที่ช่วยคนอเมริกันประมาณ 33% ที่ไม่ได้นอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อคืนซึ่งถือว่าเป็นระยะการนอนที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม การศึกษาชิ้นใหม่นี้พบข้อยกเว้นในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 65 ปี คือไม่พบว่าการงีบหลับมีประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับสุขภาพของหัวใจ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะอยู่ในวัยที่มีปัญหาหัวใจมากขึ้น และใช้เวลาในการงีบหลับนานกว่าคนที่อายุน้อยกว่า

เราควรงีบหลับนานเท่าไรถึงจะได้ผลดีที่สุด ถึงแม้ว่าการศึกษาชิ้นใหม่นี้จะไม่ได้ตอบคำถามนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่บอกว่า การงีบหลับครั้งละ 20 นาทีเพียงพอที่จะเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย เช่นทำให้รู้สึกตื่นตัวมากขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น และอารมณ์ดีขึ้น