svasdssvasds

Dead Poets Society วิญญาณขบถ ทำให้เราเจ็บปวด ?

Dead Poets Society วิญญาณขบถ ทำให้เราเจ็บปวด ?

เรื่องราวของ “ครูคีทติ้ง” ผู้ปลุกวิญญาณขบถของเหล่านักเรียน ให้กล้าลุกขึ้นทำตามความใฝ่ฝัน ทำให้พวกเขาได้พบกับบทเรียนของชีวิตที่เจ็บปวด แต่ก็เปี่ยมล้นด้วยความหมาย และทรงคุณค่าเป็นยิ่งนัก

แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่มีอายุกว่า 34 ปีแล้ว แต่ Dead Poets Society ผลงานกำกับของ “ปีเตอร์ เวียร์” ก็ยังถูกคงหยิบยกขึ้นมารำลึกอยู่เสมอ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่อาจเคยปลุกวิญญาณขบถของใครหลายๆ คน ด้วยการกระตุ้นให้กล้าที่จะค้นหาและเลือกเส้นทางเดินให้กับชีวิตของตัวเอง แม้ระหว่างทางจะสุ่มเสี่ยง เหน็บหนาว และปวดร้าวก็ตามที  

ซึ่งในโอกาสวันไหว้ครูปี 2566 นี้ SPRiNG ก็นำเรื่องราวของ “ครูคีทติ้ง” และเหล่าสมาชิก “ชมรมกวีไร้ชีพ” มาเล่าสู่กันดังต่อไปนี้  

Dead Poets Society เล่าเรื่องราวผ่านกลุ่มนักเรียน 7 คนที่ประกอบด้วย 1. นีล เพอร์รี่ (โรเบิร์ต ชอน เลโอนาร์ด) 2. ทอดด์ แอนเดอร์สัน (อีธาน ฮอว์ก) 3. น็อกซ์ โอเวอร์สตรีท (จอช ชาร์ลส์) 4. ชาร์ลี ดาลตัน (เกล แฮนเซน) 5. ริชาร์ด แคเมรอน (ดีแลน คุสแมน) 6. สตีเวน มีคส์ (อัลเลลอน รัจเจียร์โร) และ 7. เจราร์ด พิตส์ (เจมส์ วอเทอร์สตัน)

โดยทั้ง 7 คนอยู่ในโรงเรียนชายล้วนที่เคร่งครัดเข้มงวดตามหลักจารีตนิยม ให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ ด้วยความเชื่อที่หล่อหลอมและปลูกฝังกันมาอย่างยาวนานว่า ระบบแบบแผนเหล่านี้จะทำให้นักเรียนของที่นี่สามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติ และประสบความสำเร็จในชีวิต

Dead Poets Society วิญญาณขบถ ทำให้เราเจ็บปวด ?

บทความที่น่าสนใจ

“ครูคีทติ้ง” ผู้ปลุกวิญญาณขบถ

แต่แล้วการเข้ามาของคุณครูคนใหม่ “จอห์น คีทติ้ง” (โรบิน วิลเลียมส์) ซึ่งมีสไตล์การสอนสุดแหวกแนว เปิดโอกาสให้นักเรียนตั้งคำถาม อาทิเช่น ทำไมต้องท่องจำตำรับตำราเกี่ยวกับบทกวีที่น่าเบื่อ ยึดแบบแผน แต่ไร้รสนิยมทางศิลปะ “ครูคีทติง” จึงบอกให้นักเรียนฉีกมันซะ แล้วกระตุ้นให้พวกเขาเขียนบทกวีของตัวเอง ที่กลั่นออกมาจากภายใน 

ภาพของเหล่านักเรียนแต่ละคนที่ฉีกตำราด้วยอากัปกิริยาที่แตกต่างกัน ก่อนขยำกระดาษปาเล่นอย่างสนุกสนาน ซึ่งเป็นอีกฉากที่ทรงพลัง และวิพากษ์ระบบการศึกษาได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

หรือการที่เขานำเหล่านักเรียนขึ้นยืนบนโต๊ะเรียน เพื่อให้ได้สัมผัสกับมุมมองใหม่ๆ ทำให้ “ครูคีทติ้ง” ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มนักเรียนทั้งเจ็ด ฟื้นฟู “ชมรมกวีไร้ชีพ” (Dead Poets Society) ขึ้นมา ซึ่งเป็นชมรมที่ “ครูคีทติ้ง” และผองเพื่อนก่อตั้งไว้ขณะที่ยังเป็นนักเรียนของสถาบันแห่งนี้

Dead Poets Society วิญญาณขบถ ทำให้เราเจ็บปวด ?

วิญญาณขบถ โศกนาฎกรรม และความเจ็บปวด

เมื่อภาพยนตร์ดำเนินไปเรื่อยๆ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงตัวตนของเหล่าสมาชิก “ชมรมกวีไร้ชีพ” ที่ค่อยๆ เด่นชัดขึ้น  โดยหนึ่งในนักเรียนที่ได้ค้นพบตัวเองจากสไตล์การสอนของ “ครูคีทติ้ง” ก็คือ “ทอดด์ แอนเดอร์สัน" (อีธาน ฮอว์ก)

“แอนเดอร์สัน” ได้ถูกคาดหวังจากครอบครัวและอาจารย์ว่า จะต้องเก่งเหมือนพี่ชาย ที่เป็นนักเรียนตัวอย่าง เส้นทางเดินของเขา จึงเสมือนถูกกำหนดไว้แล้วด้วยรอยเท้าของพี่ชาย ส่งผลให้ “แอนเดอร์สัน” มีบุคลิกเป็นคนเก็บกด ขาดความเชื่อมั่น กระทั่งเมื่อเขาได้ตกหลุมรักการแต่งบทกวี ก็ทำให้รู้สึกได้ถึงความงดงามของความฝัน แต่ก็ยังคงเลือกอยู่ในกรอบที่กำหนดเอาไว้ ด้วยเกรงว่าความใฝ่ฝันของเขา จะทำให้ครอบครัวผิดหวัง

ในขณะที่ “นีล เพอร์รี่” (โรเบิร์ต ชอน เลโอนาร์ด) เด็กหนุ่มที่ถูกผู้เป็นพ่อวางแผนชีวิตให้เข้าศึกษาคณะแพทย์ฯ ในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อ “เพอร์รี่” ผู้หลงใหลศิลปะด้านการแสดงอย่างหมดหัวใจ ถูกบีบบังคับให้ละทิ้งความฝัน หลังจากเขาขึ้นแสดงละครเวที ก็นำไปสู่โศกนาฎกรรมอย่างไม่คาดคิด

Dead Poets Society วิญญาณขบถ ทำให้เราเจ็บปวด ?

“วิญญาณขบถ” ที่ไม่ดับสลาย

หลังจากการเสียชีวิตของ “นีล เพอร์รี่” ทางโรงเรียนก็ได้มีการสืบสวน และเพื่อรักษาชื่อเสียงของสถาบัน จึงเลือกที่จะหาแพะรับบาป โดยได้มีการขอความร่วมมือแกมบังคับนักเรียนให้เซ็นเอกสารซัดทอดการสอนที่แหวกแนวของ “ครูคีทติ้ง” ว่าเป็นสาเหตุให้ “เพอร์รี่” หลงผิด ซึ่งนักเรียนที่ไม่ยอมเซ็นเอกสาร ก็จะถูกไล่ออก

หลายๆ คนนอกจากถูกโรงเรียนบังคับให้ทำในสิ่งที่น่าละลายแล้ว ยังถูกครอบครัวกดดันอีกด้วย ร่วมถึง “ทอดด์ แอนเดอร์สัน” จึงทำให้ “ครูคีทติ้ง” ต้องถูกไล่ออกในเวลาต่อมา

ภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของชีวิต วิญาณขบถที่เจ็บปวด แต่ฉากสุดท้ายก็ทำให้หลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ไม่ใช่เพราะความโศกเศร้า แต่เป็นความตื้นตันใจ จากการที่ “ทอดด์ แอนเดอร์สัน” เด็กขี้อาย ขาดความเชื่อมั่น ได้กลายเป็นผู้นำของผองเพื่อน แสดงออกให้โรงเรียน โดยเฉพาะ “ครูคีทติ้ง” ได้รับรู้ว่า “วิญาณขบถ” เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า แม้จะต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด... ก็ตามที

ภาพจาก www.imdb.com

related