svasdssvasds

จับ 5 สัญญาณตรวจเช็กคุณกำลังโดนคุกคามทางเพศจากคนในหน่วยงาน

จับ 5 สัญญาณตรวจเช็กคุณกำลังโดนคุกคามทางเพศจากคนในหน่วยงาน

การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน นอกจากส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้ที่โดนกระทำ ยังทำให้งานและบุคลากรสูญเสียผลประโยชน์ เช็กสัญญาณตัวเองและคนใกล้ตัวมีการคุกคามเกิดขึ้นกับใครและจะช่วยเหลือ ร้องเรียนทางไหน

จากกรณีข่าว ทหารลวนลามเพื่อนร่วมงานกลางสถานที่ราชการ  ทั้งยังเคยบุกบ้านหวังข่มขืน เสมียนธุรการหญิงคนดังกล่าว พร้อมมีคลิปแฉพฤติกรรม แต่หลังจากร้องเรียนกับผู้บังคับบัญชาหลายวันแล้วยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน จนเมื่อเผยแพร่ทางช่องทางโซเชียลมีเดียจึงทำให้เรื่องกลายเป็นประเด็นในสังคม  

จากวารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา ปีที่ 7 การคุกคามทางเพศในที่ทำงานในสังคมปัจจุบันมีแนวโน้มที่มากขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น จากสถิติการร้องเรียนและร้องทุกข์ทางโทรศัพท์ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ก.พ.ปรากฏว่าข้าราชการครูและบุคลากรในระดับมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มที่ถูกคุกคามทางเพศมากที่สุด โดยจากข้อมูลทั้งหมด 31 ราย
เป็นข้าราชการครูและบุคลากรในมหาวิทยาลัยถึง 18 ราย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สถิติการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานในปี 2022 ที่รวบรวมโดยเว็บไซต์ what to become พบข้อมูลที่น่าตกใจดังนี้ 

  • 71% ของผู้หญิงที่ทำงานในร้านอาหารเคยถูกคุกคามทางเพศอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
  • 44% ผู้หญิงในอุตสาหกรรมร้านอาหารเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้บริหารหรือตำแหน่งเจ้าของกิจการ
  • 17% พยาบาลชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่รายงานให้นายจ้างทราบ
  • 58% ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดในที่ทำงานที่ไม่ยื่นคำร้อง
  • 1% ของเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้นที่เผชิญหน้ากับผู้กระทำความผิด
  • 7 ใน 10 คนของผู้หญิงพิการเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน
  • 141 ประเทศมีกฎหมายว่าด้วยการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน
  • 31% ของเหยื่อทั้งหมดรู้สึกหดหู่และวิตกกังวลเมื่อประสบกับการล่วงละเมิดทางเพศหรือการทำร้ายร่างกาย
  • $22,500 ต่อคน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 8 แสนบาท) คือต้นทุนเฉลี่ยของการสูญเสียผลผลิต

การคุกคามทางเพศในที่ทำงานนอกจากเป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการดำรงชีวิตในสังคมเป็นปัญหาที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชน ยังเป็นการลดคุณค่าและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ซึ่งส่งผลเสียต่อองค์การและสังคม ทั้งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเกิดจากการถูกคุกคามเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกัน 

ส่อง 5 สัญญาณการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

  1. สัมผัสทางร่างกาย พฤติกรรมของอีกฝ่ายที่พยายามจับมือ ลูบแขนหรือขา โดยไม่มีความจำเป็นและเข้ามาใกล้ชิดเกินไป 
  2. พูดจาลวนลามใช้คำพูดคุกคามล่วงเกิน เล่าเรื่องเพศติดตลก หรือ พูดถึงสัดส่วนของร่างกายเรา
  3. การแสดงออกทางสายตา เช่น จ้องมองนานๆ มองไปถึงส่วนต่างๆ ของร่ายกาย ด้วยสายตาเล้าโลม
  4. ส่งข้อความหรือภาพลามกที่ส่อเรื่องเพศ
  5. กลั่นแกล้งถอดเสื้อผ้า เช่น ในงานเลี้ยงมีการดื่มของมึนเมา จนทำให้ขาดสติถูกแกล้งเปิดกระโปรง ดึงตะขอชุดชั้นใน

รูปแบบของการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน แบ่งออกเป็น

  1. การสร้างบรรยากาศที่ไม่พึงปรารถนา หรือ ก่อให้เกิดความรำคาญทางเพศในที่ทำงาน 
  2. การใช้ประโยชน์หรือโทษจากงาน แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือใช้อำนาจเพื่อมีเพศสัมพันธ์ แม้ยินยอม หรือจำยอม ขัดหลักธรรมาภิบาล หรือเรียกว่า “sexual blackmail

แนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน 

  1. ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน 
  2. หลีกเลี่ยงอยู่ในที่ลับตาหรือทำงานสองต่อสอง
  3. ช่วยกันสอดส่องและรายงานพฤติกรรม
  4. ถ้าต้องทำงานนอกสองต่อสองนอกสถานที่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้ง

ข้อมูลจาก กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่าจากการการสำรวจข้อมูล 136 หน่วยงาน มีแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แจ้งเข้ามาว่ามีการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศในการทำงาน ซึ่งทางรองอธิบดีมองว่าเป็นการประเมินที่น้อยกว่าความเป็นจริง 

การคุ้มครองการล่วงละเมิดหรือ คุกคามทางเพศในการทำงาน (Sexual Harassment) ป้องกันและคุ้มครองพนักงานทุกระดับไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติโดยเด็ดขาดในทุกกรณี ไม่ให้ถูกล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศเพื่อที่จะสร้างให้สถานที่ทำงานเป็นที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ตาม กฎ ก.พ.ว่าด้วยการกระทําการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศพ.ศ. 2553 กำหนดไว้ว่า ข้าราชการพลเรือนกระทำทางทางกาย วาจา หรือกิริยาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น จูบ โอบกอด จับ วิพากษ์วิจารณ์ร่างกาย พูดหยาบคาย รวมถึงการใช้สายตาลวนลาม เล้าโลม ไม่ว่าจะภายในหรือนอกสถานที่ ท้ั้งนี้ยังนับการแสดงหรือสื่อสารด้วย รูปภาพ หรือ ข้อความ ที่ผู้ถูกกระทำเดือดร้อนรำคาญให้ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ

สำหรับในภาคเอกชน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 16 "ห้ามกระทำการล่วงเกินคุกคามหรือก่อความรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง" ห้ามนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทำการล่วงเกินคุกคาม หรือก่อความรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง

ช่องทาง/วิธีการร้องเรียนสามารถร้องเรียนการกระทำดังกล่าวได้โดยวิธีการ/ผ่านช่องทาง ดังนี้

  1. ร้องเรียนด้วยวาจาโดยตรงต่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของผู้กระทำหรือทางโทรศัพท์ (กรณีไม่สามารถร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร)
  2. ร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร(จดหมาย/จดหมายอิเล็กทรอนิกส์) ถึงผู้บริหารกรมสุขภาพจิต โดยส่งเอกสารผ่านช่องทางรับเรื่องร้องเรียนช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ได้แก่
  • กล่องรับเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานทางไปรษณีย์ : ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำนักงานเลขานุการกรม กรมสุขภาพจิต80/20 หมู่ 4 ถนนติวานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
  • ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์: [email protected]
  • ทางเว็บไซต์รับเรื่องร้องเรียนกรมสุขภาพจิต:
  • https://secret.dmh.go.th/main/complain
  • ทางโทรสาร 02 149 5512

ที่มา

whattobecome

ocsc

กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 

related