svasdssvasds

"Waltz with Bashir" เมื่ออิสราเอลรู้เห็นการสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์ปี 1982

"Waltz with Bashir" เมื่ออิสราเอลรู้เห็นการสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์ปี 1982

ภาพยนตร์แอนิเมชั่น จากผู้กำกับชาวอิสราเอล ที่เสียดสีประเทศตัวเอง ถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 3,500 ในค่ายลี้ภัยช่วงสงครามเลบานอนปี 1982

สืบเนื่องมากจากความขัดแย้งระหว่าง "อิสราเอล" และ "ปาเลสไตน์" กลับมาปะทุอีกครั้ง และถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งกระทรวงกลาโหมของอิสราเอลได้เตรียมพร้อมที่จะส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปในฉนวนกาซา เพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาสให้หมดสิ้น ซึ่งถ้าปฏิบัติการยึดฉนวนกาซาเกิดขึ้นจริงเมื่อไหร่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือพลเรือนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรที่ต้องรับเคราะห์กรรมไปด้วย

เพื่อให้เข้าใจความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ มากยิ่งขึ้น ทีมข่าวสปริงขอชวนรู้จัก “Waltz with Bashir” ภาพยนตร์แอนิเมชันเชิงสารคดีของ “อาลี โฟร์แมน (‎Ari Folman)” ผลงานจากผู้กำกับชาวอิสราเอลที่เคยเป็นอดีตทหารผ่านศึก โดยเนื้อเรื่องจะเล่าถึงประสบการณ์สุดสะเทือนใจของเขากับเพื่อนทหารในสงครามเลบานอน ปี 1982

Waltz with Bashir 2008

ภาพยนตร์เรื่องนี้ สร้างจากคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริงทั้งหมด แม้แต่ทหารที่ปรากฏตัวในเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ก็ได้เจ้าตัวมาพากย์เสียงให้ ส่วนเหตุผลว่าทำไมอิสราเอลถึงเข้าไปรบในเลบานอน เพราะปี 1982 ผู้นำเลบานอน คือ “บาชีร์ เกมาเยล (Bachir Gemayel)” นับถือศาสนาคริสต์ จึงมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอิสราเอล เมื่อเกิดความขัดแย้งกับชาวมุสลิม อิสราเอลจึงส่งกองกำลังทหารเข้าไปช่วยรบในเลบานอน แต่กลายเป็นว่าสงครามครั้งนี้ได้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้น ซึ่งโฟร์แมนและเพื่อนร่วมรบได้เป็นประจักษ์พยานถึงความโหดร้ายในสงครามที่กองทัพอิสราเอลเข้าไปมีส่วนร่วม และไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็ต้องเล่าเหตุการณ์นี้ให้ชาวโลกฟังให้ได้

(ด้านล่างมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์)

เนื้อเรื่องเริ่มต้นเมื่อ “โฟร์แมน” ในวัยกลางคน (ตัวแทนชีวิตจริงของผู้กำกับ) ที่สูญเสียความทรงจำบางส่วนไปในสงคราม แต่สิ่งเดียวที่ชัดเจนคือความฝันที่ตามหลอกหลอนเขาอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเป็นภาพของตัวเขากับเพื่อนทหารอีกสองคนขึ้นจากทะเลด้วยร่างกายเปลือยเปล่า แต่ในมือยังคงถือปืนประจำกายมุ่งหน้าผ่านชายหาดเข้าสู่เมืองเบรุตของเลบานอนที่ผุพังจากสงคราม ทั่วทั้งท้องฟ้ากลางคืนอาบไปด้วยพลุสีเหลือง เหมือนเป็นปฏิบัติการอะไรบางอย่าง และเมื่อเดินลึกเข้าไปในเมือง ทั้งสามเดินผ่านกลุ่มผู้หญิงชุดดำที่กำลังร่ำไห้จำนวนมาก

Waltz with Bashir 2008

 

โฟร์แมนต้องการทราบว่าทำไมตัวเองถึงจำเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองเมืองเบรุตไม่ได้ เขาจึงตัดสินใจออกตามหาเพื่อนทหารคนอื่นๆ เพื่อตามหาชิ้นส่วนความทรงจำที่หายไป และหลังจากที่ได้ฟังประสบการณ์ของเพื่อนที่เผชิญเหตุสะเทือนใจด้วยกันในสงครามสมัยยังหนุ่ม ภาพในหัวของเขาจึงค่อย ๆ กลับมาปะติดปะต่อกัน ทำให้โฟร์แมนพบว่า “เขาอาจไม่ได้ลืม” แต่กลไกสมองได้ปิดกั้นความทรงจำนี้เพราะเจ้าของมันไม่อยากยอมรับว่าบางอย่างเคยเกิดขึ้นจริง ซึ่งคือเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ที่ ค่ายลี้ภัย “ซาบา และ ชาติลา (Sabra and Shatila massacre 1982)” ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,500 คน

ระหว่างเนื้อเรื่องเต็มไปด้วยฉากไฮไลท์มากมายที่แสดงให้เห็นถึงความบ้าคลั่งของสงคราม ช่วงต้นเรื่องจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ทหารอิสราเอลขึ้นฝั่งที่เมืองเบรุต พวกเขากราดยิงทุกอย่างที่ขยับตรงหน้าโดยไม่สนว่าจะเป็นอะไร แม้แต่รถของชาวบ้านที่บังเอิญขับผ่านมาพวกเขาก็ยิงพรุนจนไม่เหลือใครรอดในนั้น หรืออีกฉากที่กองทัพอิสราเอลไล่ล่ารถของผู้ก่อการร้าย แต่พวกเขากลับถล่มเกือบทั้งเมืองเพื่อพยายามสังหารผู้ก่อการร้ายเพียงไม่กี่คน สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการไร้ความรับผิดชอบของกองทัพอิสราเอลได้อย่างชัดเจน

Waltz with Bashir 2008

อีกหนึ่งฉากสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ โฟร์แมนรู้ว่าเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ค่ายลี้ภัย ซาบา และ ชาติลา เกิดขึ้นจริง แต่เขากลับไม่รู้ว่าตัวเองมีส่วนร่วมไหม ซึ่งนักจิตวิทยาหญิงที่เขาบำบัดด้วยจึงยกตัวอย่างว่าประสบการณ์ของโฟร์แมน ก็คล้ายกับช่างภาพสงคราม เพราะระหว่างมองโลกผ่านเลน เราจะรู้สึกเหมือนนักท่องเที่ยว ที่มองสงครามจากวงกลมรอบนอก แต่เมื่อกล้องถูกทำลายเราจะเริ่มรู้ตัวว่านี่คือสงครามของจริง ๆ ก็ต่อเมื่อต้องมองผ่านดวงตาของเราเพียงเท่านั้น และเมื่อนั้นเราก็จะก้าวเข้าสู่วงกลมด้านในของสงคราม ซึ่งอาจทำให้ความรู้สึกของเราเปลี่ยนแปลงจากอาการตื่นเต้น เป็นความหดหู่แทน

สิ่งนี้ตรงกับประสบการณ์ของ โฟร์แมน ในสงครามนี้ เพราะเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่นั้นโดยตรง เพียงแต่เขาคือผู้เฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นในฐานะผู้ชมที่อยู่วงกลมด้านนอก เนื่องจากกลุ่มที่ลงมือคือ “กองกำลังคริสเตียนในเลบานอน (Lebanese Forces)” ที่สนับสนุน “บาชีศาสนาคริสต์ เกมาเยล”และเป็นพันธมิตรกับอิสราเอลในสงครามครั้งนั้น

ในคืนที่เกิดการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ขึ้น ผู้บังคับบัญชาของโฟร์แมนก็ไม่ได้สั่งการห้ามปรามอะไร แต่สั่งให้เขากับเพื่อนทหารจุดพลุไฟสีเหลืองให้ท้องฟ้าสว่างวาบ โดยที่เขาไม่รู้ว่าทำไปทำไม หรือกองทัพอิสราเอลต้องการช่วยให้กองกำลังคริสเตียนในเลบานอนฆ่าชาวมุสลิมได้สะดวกขึ้นท่ามกลางความมืดหรือเปล่า เขาก็ไม่อาจทราบได้แน่ชัด แต่ที่แน่นอนคือมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตประมาณ 3,500 ในคืนนั้น

Waltz with Bashir 2008

 

ในช่วงสงคราม โฟร์แมนสวมบทบาทเป็นทหารที่ทำตามคำสั่ง เขาจึงรู้สึกเหมือนยืนอยู่วงกลมด้านนอกของเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ตัวเขาไม่ต้องรับผิดชอบ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาไม่ต้องถือปืน ไม่ต้องสวมชุดทหาร เมื่อเหลือแต่ความเป็นมนุษย์ เขาจึงเข้าใจว่าตัวเองมีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนั้นโดยตรง ทำให้เขาในวัยกลางคนต้องเดินกลับวงกลมด้านในของมันในที่สุด ซึ่งโฟร์แมนก็รับผิดชอบด้วยการบอกเล่าเหตุการณ์จริงผ่าน ภาพยนตร์แอนิเมชัน Waltz with Bashir เพื่อให้ชาวโลกรับรู้ความจริงอีกมุมหนึ่ง

Waltz with Bashir ถือเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสารคดีเรื่องแรก ๆ ของโลก ที่เล่าด้วยภาพแอนิเมชัน อาจด้วยเพราะภาพฟุตเทจในสมัยนั้นหายาก โฟร์แมนจึงเลือกเล่าด้วยลายเส้นการ์ตูนแทน แต่ถึงกระนั้นการสื่อถึงอารมณ์ความรุนแรงและความน่าเวทนาของผู้บริสุทธิ์ในสงครามก็ยังคงอยู่ครบถ้วน และอาจทำให้ผู้ชมเกิดอาการหดหู่ยิ่งกว่าหนังสงครามเรื่องอื่นบนโลกนี้เสียด้วยซ้ำ ซึ่งภาพยนตร์ยังได้รับรางวัล Best Film of 2008 ในอิสราเอลอีกด้วย

ถือเป็นความกล้ามากที่ โฟร์แมนเลือกที่จะหยิบประเด็นที่ตัวเขาเองก็ยากจะยอมรับมาพูดถึงแบบไม่ปิดบัง ซึ่งตราบใดที่ยังมีสงครามอยู่ ไม่ว่าจะทหาร ผู้ก่อการร้าย หรือผู้บริสุทธิ์ ก็ต้องถูกดึงเข้ามาในวงเวียนแห่งการประหัตประหารอย่างไร้เหตุผลเหมือนกันหมด เหมือนกับชาวอิสราเอล กับ ชาวปาเลสไตน์ ที่ทุกความขัดแย้งที่พวกเขาสร้าง คือการปลูกฝังความเกลียดชังระหว่างกัน เพื่อนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงครามใส่กันครั้งต่อๆ ไป แบบไม่มีวันจบสิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง