SHORT CUT
เพราะเหตุใด Tomorrowland ถึงกลายเป็นเทศกาลดนตรีระดับโลก คอเพลง EDM ต้องมาเยือนสักครั้งในชีวิต เทศกาลดนตรีนี้ คือวิหารศักดิ์สิทธิ์ที่คอเพลง EDM ต้องมาแสวงบุญตัวโน้ตให้ได้สักครั้ง
จากเหตุการณ์ ไฟไหม้เวทีหลักของงาน "Tomorrowland" เทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ที่เมืองบูม ทางตอนใต้ของเมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม ก่อนที่งานจะเริ่มต้นในวันศุกร์ที่จะถึงนี้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ เทศกาล Tomorrowland เกิดเหตุการณ์ฝันร้ายแบบนี้ เพราะเมื่อปี 2017 ก็เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ Santa Coloma de Gramenet ใกล้กับเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน มาแล้ว เช่นกัน
ภาพที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนฝันร้ายของนักฟังเพลงของคนรักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เพราะไฟที่เผาไหม้ลุกลามเวที ไม่ต่างอะไรกับการเผาหัวใจคนรักเสียงดนตรี คนรักการไปเฟสติวัล ,
SPRiNGPOP ขอพาไปทำความรู้ Tomorrowland: จากเทศกาลดนตรี และ โลกแฟนตาซี เหนือจินตนาการ
Tomorrowland ไม่ใช่เป็นเพียงเทศกาลดนตรี แต่นี่คือ วิหารศักดิ์สิทธิ์ที่คอเพลง Electronics - อิเล็กทรอนิกส์ หลายคนอยากจะเดินทางไปเข้าร่วมสักครั้งหนึ่งในชีวิต
Tomorrowland เป็นประสบการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ มันคือโลกแฟนตาซีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ เมืองบูม ประเทศเบลเยียม นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2005 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเทศกาลดนตรี Mysteryland หนึ่งในเทศกาลดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์
หัวใจสำคัญที่ทำให้เทศกาลนี้แตกต่าง จากเทศกาลดนตรีอื่นๆ นั่นคือการผสมผสานองค์ประกอบต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว :
สถาปัตยกรรมเวทีอันเป็นเอกลักษณ์: ในแต่ละปี เวทีหลัก (Main Stage) จะถูกออกแบบภายใต้ธีมเทพนิยายเหนือจินตนาการ สร้างความรู้สึกให้ผู้เข้าร่วมงาน หรือที่เรียกว่า "People of Tomorrow" ได้หลุดเข้าไปในอีกโลกหนึ่ง
งานโปรดักชันมาตรฐานโลก: ระบบแสง สี เสียง และเทคนิคพิเศษ ถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อสร้างประสบการณ์ทางดนตรีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
ศูนย์รวมศิลปินระดับโลก: รายชื่อดีเจและโปรดิวเซอร์ที่ขึ้นแสดงบนเวที Tomorrowland คือบทพิสูจน์ถึงสถานะของเทศกาล การันตีคุณภาพทางดนตรีที่หาจากที่ไหนไม่ได้
การรวมตัวของผู้คนจากทั่วโลก: ผู้เข้าร่วมงานหลายแสนคนจากกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเดินทางมายังเบลเยียม ภาพธงชาติที่โบกสะบัดเหนือฝูงชนคือสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวทางวัฒนธรรม
เส้นทางการเติบโตของ Tomorrowland น่าทึ่งไม่แพ้ความอลังการของเวที สองพี่น้อง Manu และ Michiel Beers ได้รับแรงบันดาลใจจากเทศกาลในเนเธอร์แลนด์และตัดสินใจสร้างเทศกาลของตนเองในเบลเยียม
ปี 2005: จัดขึ้นครั้งแรกด้วยผู้เข้าร่วมงานประมาณ 10,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่นในเบลเยียม
ปี 2011: จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงเมื่อวิดีโอ "Aftermovie" ถูกเผยแพร่บน YouTube ทำให้ชื่อเสียงของเทศกาลโด่งดังไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน นี่คือเครื่องมือทางการตลาดที่เปลี่ยนเทศกาลท้องถิ่นให้กลายเป็นไวรัลระดับโลก มันขายภาพของความสามัคคี การเฉลิมฉลอง และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนโหยหาในโลกที่แตกแยก
ปี 2014: ความต้องการบัตรพุ่งสูงจนต้องขยายการจัดงานเป็น 2 สุดสัปดาห์ รองรับผู้เข้าร่วมงานกว่า 500,000 คน ตอกย้ำสถานะการเป็นเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่างสมบูรณ์
ตอนนี้ Tomorrowland ยังมีช่องทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เช่น อินสตาแกรมที่มีผู้ติดตามกว่า 10.1 ล้านคน แพลตฟอร์ม X (ชื่อเก่าคือ ทวิตเตอร์) ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.2 ล้านคน และยอดซับใน YouTube 11.3 ล้าน และเคยขยายไปจัดที่ สหรัฐฯ , ฝรั่งเศส , บราซิล
ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งการสร้างแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีผู้ติดตามหลายสิบล้านคน และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับแบรนด์ระดับโลก เช่น แพ็กเกจ "Global Journey" ที่ร่วมกับสายการบิน Brussels Airlines ซึ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างตั้งแต่ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และบัตรเข้าชมงาน
ในช่วงปี 2023 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น - เคยเดินทางไปเจรจาเพื่อดึงเทศกาลดนตรีระดับโลกนี้ มาจัดที่บ้านเราเป็นเวลานานถึง 10 ปี , และในช่วงมิถุนายน 2025 ที่ผ่านมา , แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็เพิ่งให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นแก่ Mr. Bruno Vanwelsenaers ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ Mr. Filip Teelinck ผู้บริหารระดับสูงจาก “Tomorrowland” (ทูมอร์โรว์แลนด์) และได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิด และหารือแนวทางความร่วมมือในการจัดงาน Tomorrowland in Thailand ในอนาคต ซึ่งคาดว่า จะมีการจัดในไทย ที่ ชลบุรี ในปี 2026