svasdssvasds

แนะเทคนิคคน introvert เมื่อต้องออกไปปาร์ตี้ ทำอย่างไรให้สนุกและไม่อึดอัด

แนะเทคนิคคน introvert เมื่อต้องออกไปปาร์ตี้ ทำอย่างไรให้สนุกและไม่อึดอัด

หลักการ Party ฉบับคน introvert เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นคนรู้จัก และเปลี่ยนคนรู้จักให้เป็นเพื่อน เมื่อฝึกหัดจนเคยชินกลายเป็นความชำนาญ เมื่อถึงคราวจำเป็น สามารถแปลงร่างเป็น extrovert ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

Party ให้ประสบความสำเร็จในแบบฉบับของคน Introvert

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่ามนุษย์ Introvert มักสูญเสียพลังงานได้ง่ายเมื่อต้องเจอคนจำนวนมาก แต่ด้วยหน้าที่การงานทำให้หลายคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนเยอะ ๆ ได้ ถึงแม้เราจะเลือกทำงานในอาชีพที่เจอคนน้อยแล้ว แต่ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงงานที่ต้องพบปะผู้คน เช่นงานเลี้ยง โดยเฉพาะงานเลี้ยงปีใหม่ ที่ทำงานหลายที่มีงานเลี้ยงปีใหม่ของทีม ของแผนก และของบริษัท คน Introvert อย่างเราแค่คิดก็แทบหมดแรงแล้ว

คำถามคือไม่ไปได้มั้ย?

ก็อาจจะได้นะแต่ก็คงดูไม่ค่อยดี ถ้าไปแล้วเรานั่งหลบมุมเงียบๆ หล่ะ ก็ได้อีกเหมือนกัน ถ้าคุณไม่ได้เป็นตัวเลือกที่จะได้รับการโปรโมทให้เป็นหัวหน้าหรือผู้บริหาร คุณจะนั่งหลบมุมคนเดียวก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณเป็นตัวเลือกที่จะได้รับการโปรโมทการทำตัวแปลกแยกแบบนั้นคงดูไม่ดีแน่

เมื่อคน Introvert ต้องออกจากเซฟโซน เพื่อ Party ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

จากประสบการณ์งานด้าน HR มาเกือบ 20 ปี บอกได้เลยว่าต่อให้เราทำงานเก่งขนาดไหน แต่ถ้าถูกมองว่าเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้หรือมนุษยสัมพันธ์ไม่ดี ไม่มีทักษะเรื่องคน (People Skill) โอกาสที่จะได้รับการโปรโมทนั้นเป็นเรื่องยาก ที่ต้องใช้คำว่า “ถูกมอง” เพราะที่จริงแล้วคน Introvert ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเข้ากับคนอื่นหรือมนุษยสัมพันธ์ไม่ดี เพียงแต่พวกเราไม่ชำนาญกับการพูดคุยกับคนแปลกหน้า ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร คุยเรื่องอะไร จับจังหวะการพูดไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะพูดตอนไหนอย่างไรดี หรือจะสนุกสนานกับบทสนทนาตรงหน้าได้อย่างไร

แต่ถ้าได้รู้จักกันแล้ว เป็นเพื่อนกันแล้ว การพูดคุยจะเป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกอึดอัด หรือทำตัวไม่ถูก บางคนพูดน้ำไหลไฟดับ แทบจะดูไม่ออกเลยว่ามีพื้นนิสัยเป็นคน Introvert ความไม่ถนัดที่ว่ามา เราสามารถเรียนรู้ ฝึกหัดจนเคยชินกลายเป็นความชำนาญได้  เรื่องนี้พิสูจน์ได้จากตัวผู้เขียนที่เป็นมนุษย์ Introvert หลังจากผ่านการฝึกฝน ทดลองใช้เทคนิคต่างๆ ในชีวิตการทำงานที่เลี่ยงการเจอคนไม่ได้ ทำให้สามารถแปลงร่างเป็น Extrovert ได้อย่างเป็นธรรมชาติเมื่อถึงคราวจำเป็น ซึ่งเคล็ดลับและเทคนิคที่เคยฝึกฝนตอนเข้าสู่โลกของการทำงาน HR ใหม่ๆ ถูกสรุปไว้ในบทความนี้

หลักการง่ายๆ ที่ทำให้คน Introvert ดูเหมือนคนเป็น Extrovert ที่ใช้ได้ผลมาตลอดคือ เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นคนรู้จักและเปลี่ยนคนรู้จักให้เป็นเพื่อนเท่านี้ก็ช่วยให้เราพูดคุยกับคนตรงหน้าได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาของหลักการนี้คือเราจะเปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นรู้จักได้อย่างไร

เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นรู้จัก ทำได้ไม่ยาก ด้วยหลักการ Small Talk

“Small Talk” หรือการเริ่มพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องทั่วๆ ไป

การจะเปลี่ยนคนแปลกหน้าให้เป็นรู้จัก ทำได้ไม่ยาก เคล็ดลับในการเริ่มต้น Small Talk ที่เล่าให้ฟังนี้รวบรวมมาจากประสบการณ์การทำงานที่ต้องสัมภาษณ์ผู้สมัครจำนวนมากและบางส่วนนำมาจาก Matt Abrahams ผู้เขียนหนังสือ Think Faster, Talk Smarter: How to Speak Successfully When You're Put on the Spot ที่ให้สัมภาษณ์กับ Harvard Business Review  ซึ่งรับรองว่าเหมาะกับการนำไปใช้ช่วงปาร์ตี้ปีใหม่ที่กำลังใกล้เข้ามา

  1. เริ่มคุยด้วยเรื่องง่ายๆ เช่น ปีนี้อากาศหนาวมาเร็วกว่าทุกปีนะคะ คุณชอบอากาศหนาวหรือเปล่าคะ เริ่มบทสนทนาด้วยเรื่องง่ายๆ ทั่วๆ ไป ช่วยให้ทุกคนสะดวกใจที่จะคุยกับเราและไม่รู้สึกถูกจู่โจมหรือละลาบละลวงเรื่องส่วนตัว
  2. ชวนคุยในสิ่งที่เหมือนกัน เช่น ชุดธีมเจ้าหญิงเหมือนกันเลยนะ ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเธอเป็นแฟนคลับเจ้าหญิงดิสนีย์เหมือนกัน การชวนคุยด้วยเรื่องที่เหมือนกันจะช่วยให้ต่อบทสนทนาได้ง่าย อย่างบทสนทนาที่ยกตัวอย่างมาเราสามารถชวนคุยต่อว่าซื้อชุดหรือเช่าชุดมาจากที่ไหน
  3. เมื่ออุ่นเครื่องได้สักนิดหน่อยแล้วให้ชวนคุยด้วยคำถามปลายเปิด เช่น "ช่วงนี้กำลังยุ่งกับโปรเจคอะไรอยู่คะ" คำถามปลายเปิดเป็นเทคนิคการถ่วงเวลาที่ดีสำหรับการคิดว่าเราจะชวนคุยเรื่องอะไรต่อไป ถ้าโชคดีเจอคนที่ช่างพูด ช่างคุย เราแทบจะไม่ต้องถามอะไรต่อเลย แค่ตั้งใจฟัง พยักหน้า หรือเออออด้วยการเอยชมง่ายๆ  “ฟังดูน่าสนุกจังเลย” แล้วตามด้วยคำถามสั้นๆ “แล้วยังต่อคะ?” เทคนิคของการชวนคุยแบบนี้คือเราต้องมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องที่ฟัง แสดงออกทั้งน้ำเสียงและหน้าตาว่าเรารู้สึกสนุกไปกับเรื่องที่กำลังฟังอยู่
  4. ตั้งใจฟังแล้วนำสิ่งที่คู่สนทนาเล่ามาถามต่อ เช่น "แล้วคุณรับมือกับลูกค้ารายนั้นอย่างไรบ้าง" พอจับประเด็นเนื้อหาได้ทุกอย่างก็ง่ายแล้ว เพราะเราสามารถถามคำถามต่อเนื่องจากสิ่งที่ได้ยิน หรือถ้าเรามีทักษะการฟังที่ดีเราจะสามารถจับอารมณ์ความรู้สึกจากเรื่องที่ฟังได้ เราสามารถแสดงอารมณ์คล้อยตามไปด้วย เช่น ไม่น่าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเลย ฟังแล้วรู้สึกเสียดายแทนจริงๆ

การถามต่อเนื่องจากเรื่องที่ได้ยินและการโต้ตอบที่สอดคล้องกับอารมณ์ ความรู้สึก จะทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าเราให้ใส่ใจ ตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูด ในทางจิตวิทยาคู่สนทนาจะรู้ว่าตัวเองได้รับการยอมรับ มีความสำคัญ ซึ่งนั่นจะทำให้เราจะกลายเป็นคู่สนทนาที่มีเสน่ห์

หลักการ Small Talk การสื่อสารที่ดี "เราต้องเป็นทั้งผู้ให้สารและรับสาร"

นอกจากนี้การตั้งใจฟังยังช่วยให้เราประเมินได้ว่าจะตอบคำถามหรือความเห็นของคู่สนทนาที่ถามมาได้อย่างไร เลือกใช้คำพูดแบบไหนที่จะตรงใจเราแต่ไม่บาดใจคนฟัง ซึ่งคน Introvert มักไม่เก่งในเรื่องแบบนี้ ถ้าเรายังไม่รู้ว่าจะตอบว่าอย่างไรก็ทวนสิ่งที่เขาถามมาด้วยการปรับคำพูดนิด ๆ หน่อย ๆ ถ่วงเวลาเหมือนตอนนางงามต้องตอบคำถามบนเวทีประกวด

เคล็ดลับที่ว่ามาทั้งหมดช่วยเริ่มต้นการพูดคุยแบบที่ทำให้ตัวเราเองรู้สึกสนุกและมีส่วนร่วมกับเรื่องที่คุย ลดความวิตกกังวลว่าเราจะคุยเรื่องอะไรดีนะ จะต่อบทสนทนาอย่างไร กลายเป็นการโต้ตอบกันอย่างเป็นธรรมชาติเหมือนการตีเทนนิส เราแค่รักษาจังหวะการรับลูกไว้ไม่ให้หล่นซึ่งง่ายกว่าช่วงเริ่มต้นคุยกันในตอนแรกมาก

การพูดคุยแบบ Small Talk เป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง การสื่อสารที่ดีเราต้องเป็นทั้งผู้ให้สารและรับสาร

ดังนั้นเนื้อหาที่คุยกันควรเป็นเรื่องที่ทั้งคู่ให้ความสนใจ ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะไม่อยากฟังสิ่งที่เขาเล่ามาหรือไม่เขาก็อาจจะไม่อยากตอบสิ่งที่เราถาม ศิลปะของการพูดคุยจำเป็นต้องสังเกตว่าคำถามที่เราชวนคุย เขาอยากตอบมั้ย ถ้าตอบสั้นๆ แสดงว่าเขาไม่อยากคุยเรื่องนี้ ให้ลองเปลี่ยนเรื่องคุย แต่ถ้าตอบยาว ตอบด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น ตาเป็นประกาย นั่นเป็นเรื่องที่เขาอยากเล่าแน่นอน ที่นี้จะเขาจะพูดไม่หยุด คราวนี้กลับมาถามใจตัวเองว่าสนใจฟังเรื่องนี้หรือเปล่า? ถ้าเป็นเรื่องที่เราไม่ชอบ ไม่สนใจ แน่นอนเราย่อมไม่อยากฟัง แล้วจะทำอย่างไรดี???

Matt Abrahams แนะนำเทคนิคการหยุดบทสนทนาที่น่าสนใจว่า แทนที่เราจะขอตัวจากมาดื้อ ๆ ด้วยข้ออ้างอะไรสักอย่าง เช่น ขอตัวไปตักอาหารเพิ่มก่อนนะ เราควรให้สัญญาณเตือนคู่สนทนาเล็กน้อยว่า รู้สึกยังไม่ค่อยอิ่มเลย เดี๋ยวต้องไปตักอะไรมาทานเพิ่มสักหน่อย การส่งสัญญาณแบบนี้จะช่วยให้คู่สนทนารู้ตัวแล้วค่อยๆ จบสนทนาที่เขากำลังเล่าหรือคุยให้เราฟังอย่างออกรสได้อย่างลงตัว เรียกว่าไม่อารมรณ์ค้างกับเรื่องที่ยังเล่าไม่จบ

เคล็ดลับทั้งหมดที่เล่ามาอยากให้ลองนำไปทดลองใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเดินสวนกับเพื่อนพนักงานใหม่ นักศึกษาฝึกงาน หรือแม้กระทั่งรปภ.หน้าตึก ค่อยๆ เริ่มแล้วสังเกตปฎิกิริยาของตัวเราเองและคนคุยด้วย ที่ต้องสังเกตตัวเองเพราะหลายครั้งเราก็ตั้งใจเกินไปทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ และความไม่คุ้นเคยก็ทำให้เราติดขัด

ในจุดนี้สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการคิดว่าคนที่เราทักทายด้วยนั้นเป็นเพื่อนเรา น้องเรา หรือเป็นญาติพี่น้อง  เพื่อนบ้าน เท่านี้เราจะลดความตื่นเต้น ความกังวล ซึ่งจะทำให้ภาษาและน้ำเสียงที่เราใช้ รวมถึงสีหน้าของเราเป็นธรรมชาติเหมือนตอนคุยกับคนเหล่านั้น ลองไปใช้กันดูนะคะ

หมายเหตุ: เนื้อหาของบทความเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร สัมภาษณ์ตรงใจ ให้ได้คนที่ใช่สำหรับองค์กร ของผู้เขียน และช่อง Harvard Business Review (How to Get Good at Small Talk, and Even Enjoy It - YouTube)

ที่มาภาพ : Freepik

บทความอื่นที่น่าสนใจ

บทความ : เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ

ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant

related