svasdssvasds

ให้รางวัลกับความล้มเหลว เรียนรู้ความผิดพลาด ปรับตัวเริ่มต้นใหม่ได้ทันที

ให้รางวัลกับความล้มเหลว เรียนรู้ความผิดพลาด ปรับตัวเริ่มต้นใหม่ได้ทันที

ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการทำงาน การอ้าแขนเปิดรับความล้มเหลว นำเรื่องความผิดพลาดมาพูดคุยกันให้เป็นเรื่องธรรมดา จะส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้จากความล้มเหลว 

ขึ้นชื่อว่า “ความล้มเหลว” เชื่อว่าไม่มีใครอยากพบเจอ แต่เชื่อมั้ยว่ามีบางบริษัทที่ให้รางวัลกับความล้มเหลว บริษัทที่ว่าคือบริษัท Eli Lilly  บริษัทยารายใหญ่ที่สุดในสหรัฐที่กำลังมาแรงมูลค่าหุ้นทะยานจนเกือบแทนที่หุ้น Tesla ของมหาเศรษฐีอีลอน มัสก์ ที่นี่จัด “ปาร์ตี้ฉลองความล้มเหลว” ให้พนักงาน ส่วนบริษัท Merck & Co., Inc.  ซึ่งเป็นบริษัทยายักษ์ใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้สิทธิ์กับนักวิทยศาสตร์ที่ยอมรับว่างานวิจัยของตัวเองได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ

ไม่ใช่แค่บริษัทในแวดวงอุตสาหกรรมยาเท่านั้นที่สนับสนุนให้พนักงานกล้าออกนอก Comfort Zone กล้าเสี่ยงกับความล้มเหลว แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการโฆษณาชื่อดังอย่าง Grey  Advertising ก็ให้รางวัลกับพนักงานที่กล้าเสี่ยงทุกไตรมาส ทอร์ ไมห์เรน ประธานของ Grey Group ให้สัมภาษณ์กับ Wall Street Journal ว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่มากอย่าง Grey อาจจะทำให้พนักงานค่อนข้างหัวอนุรักษ์นิยมและไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควร 

คำถามคือบริษัทจะได้อะไรจากความล้มเหลวจากการทำงาน ทำไมถึงได้สนับสนุนให้ทำงานล้มเหลว?

ปีเตอร์ คิม อดีตหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัท Merck & Co., Inc ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า ยิ่งนักวิจัยยอมรับความล้มเหลวและปล่อยให้ความคิดเดินหน้าเร็วเท่าใด ก็จะได้หันไปเริ่มโครงการใหม่ที่มีศักยภาพมากกว่าได้เร็วขึ้นเท่านั้น หาไม่แล้วก็เท่ากับเอาเงินไปโปะความผิดพลาด เราเปลี่ยนแปลงความจริงไม่ได้ ทำได้เพียงปกปิดมันไว้ให้นานที่สุด ซึ่งนั่นเป็นความสูญเสียในรูปแบบที่ทำให้เราไม่มูฟออนสู่โปรเจคหรืองานวิจัยใหม่ 

ที่จริงแล้วบริษัทที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นไม่ได้สนับสนุนให้พนักงานทำงานผิดพลาด ล้มเหลว เพียงแต่ผู้บริหารเข้าใจดีว่าความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากการทำงาน การอ้าแขนเปิดรับความล้มเหลวและนำเรื่องความผิดพลาดมาพูดคุยกันให้เป็นเรื่องธรรมดา จะส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้จากความล้มเหลว 

อย่างไรก็ตามไม่ใช่พนักงานทุกคนจะเข้าใจ และยอมรับว่าความล้มเหลวเป็นบทเรียนปกติจากการทำงาน พนักงานที่มี Growth Mindset หรือกรอบความคิดแบบเติบโตจะเป็นคนที่ยอมรับและเรียนรู้กับความผิดพลาด และมีความยืดหยุ่นตามแนวคิด Resilience ทำให้เป็นคนที่ล้มเร็ว ลุกไว ไม่จมอยู่กับความผิดพลาด สามารถปรับตัวเริ่มต้นใหม่ได้ทันที

ดังนั้นในงาน HR หรือการบริหารทรัพยากรบุคคล บทบาทสำคัญจึงต้องการคัดเลือกและพัฒนาพนักงานในองค์กรให้มี Growth Mindset และ Resilience และยังต้องส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่ทุกคนสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดของกันและกัน ซึ่งต้องทำอย่างไรนั้นสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความก่อนหน้านี้

เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ 

ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม 

related