svasdssvasds

ร่วมถอดบทเรียน ลดและควบคุมโรคไตเรื้อรัง

ร่วมถอดบทเรียน ลดและควบคุมโรคไตเรื้อรัง

กรมการแพทย์ และสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ร่วมถอดบทเรียนการดำเนินงานการลดและควบคุมโรคไตเรื้อรังใน 2 จังหวัด พบสถานบริการที่จัดการที่มีประสิทธิภาพ เตรียมขยายผลและนำ 4 ปัจจัยความสำเร็จสู่การปฏิบัติ หวังลดผลกระทบทุกระดับ

วันนี้ (20 มิถุนายน 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมาย นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2561 ร่วมกับสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมการแพทย์ และสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ โดยการนำของนายแพทย์ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงานเพื่อการลดและควบคุมโรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรังจัดเป็นภาวะแทรกซ้อนอันดับ 1 ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมสภาวะของโรคได้ ผนวกกับปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรม อาทิ การกินเค็ม การใช้ยาแก้ปวดเกินความจำเป็น ส่งผลไตทำงานผิดปกติ และเข้าสู่ภาวะไตวาย ทำให้ต้องเข้ารับการรักษา ส่งผลกระทบทั้งระดับครอบครัว สังคมและประเทศจากการแลกเปลี่ยน ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน จาก 4 สถานบริการใน 2 จังหวัด ได้แก่

1.โรงพยาบาลพิจิตร

2.โรงพยาบาลโพทะเล จ.พิจิตร

3.โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

4.โรงพยาบาลบางปะอิน จ.อยุธยา

ที่มีรูปแบบการดำเนินงานและกลวิธีการบริหารจัดการที่ดี (Best practice) มีประสิทธิภาพ มีโอกาสในการขยายผล เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการกำหนดทิศทางในการป้องกันและควบคุมโรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease: CKD) เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป โดยพบว่า 4 ปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินงาน ได้แก่

1. ใช้การจัดบริการลดเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรังเป็นจุดเข้าในการจัดการปัญหาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

2.การตั้ง “คลิกชะลอไตเสื่อม” สามารถชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานได้มากกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานถึง 6 เท่า

3.การดูแลร่วมกับชุมชนและทีมหมอครอบครัว สามารถเพิ่มศักยภาพและสร้างความมั่นใจในการดูแลตัวเองให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

4.ความสามารถของผู้นำและการให้ความสำคัญของผู้บริหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการลดและชะลอไตเสื่อม

สถานการณ์โรคไตเรื้อรังในปัจจุบัน มีผู้ป่วยสะสมร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย 2 แสนคน โดยย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2556-2560) มีผู้ป่วยโรคไตที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตเพิ่มมากอย่างต่อเนื่อง จากปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 667.3 เป็น 1,198.8 ต่อล้านประชากรในปี 2560 ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว รวมไปถึงภาครัฐที่ต้องลงทุนกว่าปีละหมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล

related