svasdssvasds

“อนุดิษฐ์” ห่วงต่อ พรก.ฉุกเฉิน แนะรัฐใช้อย่างสมดุลและเหมาะสม

“อนุดิษฐ์” ห่วงต่อ พรก.ฉุกเฉิน แนะรัฐใช้อย่างสมดุลและเหมาะสม

“อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ห่วงต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แนะรัฐบาลใช้อย่างสมดุลและเหมาะสม ระวังถูกสังคมตั้งคำถามว่า รัฐบาลอยากได้อำนาจอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาไวรัสโคโรนามาใช้ด้วยใช่หรือไม่ ?

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันนี้ (29 เม.ย. 63) - น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่รัฐบาลต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือนว่า เป็นอำนาจของ ครม.ในการตัดสินใจ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย แต่คงแก้ไขอะไรไม่ได้ ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้แสดงความเห็นไปหลายครั้งแล้วว่า เมื่อรัฐบาลสามารถใช้มาตรการทางสาธารณสุขควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้แล้ว ก็ควรยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน และใช้อำนาจตาม พรบ.โรคติดต่อแทน เนื่องจากสามารถกำกับดูแลและควบคุมสถานการณ์ต่างๆที่จำเป็นในเวลานี้ได้เหมือนกัน แต่การต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินออกไปอีก จึงถูกสังคมตั้งคำถามว่า รัฐบาลอยากได้อำนาจอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคโควิด-19 มาใช้ด้วยใช่หรือไม่!

“ผมอยากให้รัฐบาลลองฟัง นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการของสหประชาชาติ (UN) ที่กล่าวเปิดรายงานนโยบายว่าด้วยความสำคัญของสิทธิมนุษยชนในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ว่า การใช้มาตรการต่างๆที่อ้างถึงวิกฤติด้านสาธารณสุขโดยไม่เกี่ยวกับโรคระบาดเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ รัฐบาลต่างๆจำเป็นต้องแสดงความโปร่งใส รับมือเหตุการต่างๆอย่างแข็งขัน และแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น โดยพื้นที่ประชาสังคมและเสรีภาพสื่อเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และไม่ว่าเราจะทำอะไรจงอย่าลืมว่า ภัยของเราคือไวรัสไม่ใช่ผู้คน ดังนั้นการประกาศภาวะฉุกเฉินต่างๆต้องใช้เพื่อมาตรการทางสาธารณสุข ที่มีเป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจนโดยก้าวก่ายประชาชนให้น้อยที่สุด”

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากเลขาธิการของสหประชาชาติจะออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้แล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์ ก็ได้เสนอข่าว "U.N. raises alarm about police brutality in lockdowns" อ้างความเห็นของ มิเชล บาเชเล (Michelle Bachelet) ข้าหลวงใหญ่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ที่แสดงความเป็นห่วงการที่รัฐบาลหลายประเทศนำการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเป็นมาตรการรุนแรง มาใช้เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 แล้วทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อประชาชน

“ในข่าวบอกว่าปัจจุบันมี 80 ประเทศ ที่ใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในจำนวนนี้มี 15 ประเทศ ที่น่าเป็นห่วงที่สุด แต่โชคดีที่ยังไม่มีชื่อประเทศไทยติดโผ ซึ่ง บาเชเล เตือนว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ควรถูกใช้เพื่อกำจัดผู้เห็นต่าง ควบคุมประชาชน และทำให้ตนเองอยู่ในอำนาจได้นานขึ้น ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินครั้งนี้ รัฐบาลจะใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมาเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินอย่างสมดุลและเหมาะสม ควบคู่ไปกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

related