svasdssvasds

มะเร็งไทรอยด์ รู้ทัน ตรวจพบเร็ว สามารถรักษาให้หายขาดได้

มะเร็งไทรอยด์ รู้ทัน ตรวจพบเร็ว สามารถรักษาให้หายขาดได้

มะเร็งไทรอยด์ เป็นโรคที่พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นโรคร้ายแรง หากตรวจพบโรคในระยะเริ่มแรกจะทำให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง

การตรวจพบก้อนของต่อมไทรอยด์เป็นความผิดปกติที่มีอุบัติการณ์สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมานี้พบผู้ป่วยใหม่ ที่เป็น มะเร็งไทรอยด์ (Thyroid Cancer) เพิ่มมากขึ้น

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่อยู่ด้านหน้าลำคอ เมื่อผิดปกติจะโตขึ้น และเห็นเป็นก้อน บางครั้งเห็นเป็นก้อนเดี่ยวๆ บางครั้งโตเป็นลักษณะหลายๆ ก้อนติดกัน และที่สำคัญคือ ก้อนที่เกิดบนต่อมไทรอยด์จะขยับเคลื่อนขึ้น-ลงขณะกลืนน้ำลาย

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรมศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย เราพบผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์รายใหม่ประมาณ 2800 ราย โดยส่วนใหญ่จะพบมะเร็งต่อมไทรอยด์ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย จัดอยู่ในอันดับ 7 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในเพศหญิง ส่วนในเพศชายแม้จะพบน้อยกว่าแต่ก็มีความเสี่ยงของการเกิดโรคเช่นกัน

มะเร็งไทรอยด์เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ และพัฒนาเป็นก้อนมะเร็งขึ้น และอาจจะขยายโตขึ้นเรื่อย ๆ สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่ามะเร็งไทรอยด์เกิดจากสาเหตุใด แต่มีหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยง เช่น การได้รับรังสีบริเวณลำคอหรือบริเวณต่อมไทรอยด์ เคยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ขาดธาตุอาหารไอโอดีน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

วิธีปฏิบัติในการดูแลตนเองเพื่อให้ห่างไกลจากโรค มะเร็งตับ

การรับประทานเนื้อแดงและอาหารแปรรูป เพิ่มความเสี่ยง มะเร็งลำไส้

 

มะเร็งไทรอยด์ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใดใด แต่เมื่อเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตขึ้น อาจสามารถคลำพบก้อนนูนใต้ผิวหนังบริเวณกึ่งกลางลำคอผู้ป่วย ซึ่งอาจพบเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ หรืออาจพบอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เสียงแหบ หายใจลำบากหรือหายใจมีเสียงหวีด กลืนลำบากหรือรู้สึกเจ็บขณะกลืน เจ็บบริเวณลำคอ ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอบวม

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมาพบแพทย์ เบื้องต้น แพทย์จะทำการซักประวัติ โรคประจำตัว และการสัมผัสปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการตรวจเลือด และหากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งไทรอยด์ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การทำอัลตราซาวด์ การตรวจด้วยไอโอดีนรังสี การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การทำไทรอยด์สแกน หรือการตรวจชิ้นเนื้อ

ผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์จะได้รับการดูแลรักษาจากทีมแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพ เพื่อวางแผนวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับชนิดและระยะโรคของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งการรักษามะเร็งไทรอยด์อาจทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัด การรับประทานไอโอดีนรังสี การรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ การฉายรังสี และการทำเคมีบำบัด

สำหรับการป้องกันโรค แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เราสามารถป้องกันได้จากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เลือกรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง และตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากตรวจพบโรคในระยะเริ่มแรกจะทำให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง

สนใจดูรายละเอียดข้อมูล มะเร็งไทรอยด์ สามารถดูได้ที่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

มะเร็งต่อมไทรอยด์