ช่วงนี้ก็ต้องลุ้นให้วัคซีนโควิด -19 มาถึงไทยเร็ว ๆ และให้มีประสิทธิภาพที่ดี เพราะนอกจากจะสงสารผู้คนที่กลัวติดโรคแล้ว และยังทำมาหากินลำบาก ที่สำคัญยังต้องสงสารภาคธุรกิจไทยด้วยที่บาดเจ็บไม่แพ้คน ล่าสุด ธปท. ออกมาเผยว่าครั้งนี้ผลกระทบจะไม่เท่าครั้งที่ 1 แต่ 28 จังหวัดที่คุมเข้มก็สาหัสเหมือนกัน
แผลเก่ายังไม่สมานแผล แผลใหม่มาอีกแล้วจ้าสำหรับเศรษฐกิจไทยของเราที่ต้องเจอกับโควิด -19 ระลอกแล้ว ระลอกเล่า โดยระลอกใหม่ หรือรอกสองนี้ก็ทำเอาเศรษฐกิจการท่องเที่ยว การบริการสาหัสแบบสุด ๆ มีธุรกิจเริ่มเจ๊งแล้วหลายที่ประกาศปิดกิจการ คนเริ่มตกงาน
อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวในระยะต่อไปจะต่างกัน ทั้งในเชิงพื้นที่ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มแรงงาน โดยพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวด 28 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมสัดส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงเกินครึ่งของประเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่ด้านกลุ่มธุรกิจจะมีกลุ่มที่เปราะบางเพิ่มเติมจากรายได้ที่ลดลงในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจภาคบริการ นอกจากนี้ บางกลุ่มที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว เช่น ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่นี้เพิ่มเติม ส่วนผลกระทบด้านแรงงาน คาดว่ากลุ่มแรงงานในพื้นที่สีแดงที่มีมาตรการการควบคุมเข้มงวด มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 4.7 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวันและผู้มีอาชีพอิสระ ที่จะมีชั่วโมงการทำงานลดลงและมีรายได้ลดลงมาก
ทั้งนี้แบงก์ชาติ ยังมองอีกว่า ในระยะข้างหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน โดยมีปัจจัยมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การกระจายวัคซีนในไทยและแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงมาตรการภาครัฐที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ อีกทั้งในปัจจุบัน หลายภาคธุรกิจและครัวเรือนมีฐานะการเงินที่เปราะบางมากขึ้นจากการระบาดระลอกแรก ทำให้ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจน้อยลง ดังนั้น การช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงานอย่างทันการณ์เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และต้องเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางให้ทั่วถึงและตรงจุดมากที่สุด ซึ่งภาครัฐได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
ในขณะเดียวกันนางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธปท. เปิดเผยว่า ได้ขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ โดยสถาบันการเงินบางแห่งได้มีการขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่มาก่อนแล้ว และมีมาตรการช่วยเหลือที่มากกว่ามาตรการขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนด โดยยังมีบางแห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่ง ธปท. ได้ติดตามและประสานงานให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยเร็วแล้ว