SHORT CUT
ฝ่ายค้านไทย ไม่ใช่ฝันร้ายแต่คือสมรภูมิ "อุดมการณ์" ปะทะ "ผลประโยชน์" วิเคราะห์บทบาทพรรคประชาชนในสายตา อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และ เทพไท เสนพงศ์
ในสมรภูมิการเมืองไทยที่อำนาจและผลประโยชน์มักเป็นตัวแปรสำคัญ การยืนหยัดในฐานะ "ฝ่ายค้าน" ถูกมองว่าเป็นเส้นทางที่โรยด้วยขวากหนามและเต็มไปด้วยความท้าทาย ตั้งแต่การขาดแคลนงบประมาณไปจนถึงการเผชิญหน้ากับกลเกม "งูเห่า" ที่พร้อมจะฉกกัดอุดมการณ์ให้สั่นคลอน หรือบางคนมองว่ามันเป็นเป็นฝันร้ายทางการเมือง
Spring News มีโอกาสได้สนทนากับ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ นักการเมืองหญิงผู้ยืนหยัดในเส้นทางสายนี้มาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ สู่พรรคก้าวไกล จนถึงพรรคประชาชนในปัจจุบัน และ เทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราชพรรคประชาธิปัตย์ ผู้คร่ำหวอดในวงการการเมืองเพื่อเจาะลึกถึงมุมมองและความเชื่อของทั้ง 2 คน ต่อบทบาทฝ่ายค้านในยุคสมัยที่หลายคนเรียกว่า "ฝันร้าย"
หลายคนมองว่าการเป็นฝ่ายค้านในยุคนี้เปรียบเสมือนฝันร้ายที่ต้องเจอปัญหาทุกวัน คุณเห็นด้วยหรือไม่?
อมรัตน์ “ไม่เห็นด้วยกับคำที่บอกว่าการเป็นฝ่ายค้านคือฝันร้าย แต่เธอกลับรู้สึกว่าการเป็นฝ่ายค้านช่วงหลังๆ มานี้ทำอะไรได้มากกว่ารัฐบาลด้วยซ้ำ ถ้าฝันร้ายหมายถึงการไม่มีงบประมาณไปลงพื้นที่ หรือโหวตอะไรก็แพ้ ไม่ได้มองแบบนั้น แต่มองว่าเป็น ‘ความท้าทาย’ มากกว่า”
แต่ปฏิเสธอไม่ได้ว่าการเมืองยุคปัจจุบันเป็นการแจกผลประโยชน์หรือที่เรียกกันว่าแจกกล้วยซื้อเสียง สส. ในสภา
แต่ในมุมของ อมรัตน์ “เรื่องพวกนี้ต้องใช้เวลา มันไม่มีทางลัด ไม่มีปุ่มกดที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้ในทันที ต้องใช้ความทุ่มเท ความอดทน และรอให้คนกลุ่มใหญ่ในสังคมเกิดการตระหนักรู้ร่วมกัน มันเป็นกระบวนการพัฒนาทางการเมืองในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งต้องค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไป
โชคดีที่วันนี้เรามีพรรคการเมืองอย่างพรรคประชาชน ที่เป็นตัวอย่างของพรรคฝ่ายค้านคุณภาพให้สังคมเห็นว่า การจะเป็นรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องทิ้งเกียรติยศ ศักดิ์ศรี หรือตระบัดสัตย์ทั้งหมด มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยราคาขนาดนั้น” อมรัตน์กล่าว
อมรัตน์ ชี้ให้เห็นว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือพรรคการเมืองต้องมีชุดอุดมการณ์และคาแรกเตอร์ของตัวเอง ไม่อย่างนั้นจะมีหลายพรรคไปทำไม ความท้าทายคือการทำให้คนมายึดถือแนวคิดของพรรคเราให้ได้
มันก็พิสูจน์แล้ว จากการที่พรรคก้าวไกลทำงานเป็นฝ่ายค้านเพียง 4 ปี ในการเลือกตั้งปี 66 กลับได้รับความไว้วางใจจากประชาชนกว่า 14 ล้านเสียง กลายเป็นพรรคอันดับ 1 ของประเทศ นี่คือคำตอบว่าการเป็นฝ่ายค้านก็สร้างผลงานและชนะใจประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาล”
“เรื่องงูเห่า ถ้าเปรียบพรรคเป็นโรงงานผลิตสินค้า มันก็ต้องมีของที่ ‘ผิด QC’ บ้างเป็นธรรมดา ซึ่งมันไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมดของพรรค เป็นแค่ค่าเบี่ยงเบนที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ ถ้าพรรคมี ส.ส. 151 คน แล้วมีงูเห่าสัก 1-2 คน มันไม่ใช่เรื่องใหญ่จนหักล้างอุดมการณ์หลักได้ อมรัตน์ กล่าว
อีกอย่างคือตอนนี้ประชาชนเข้าใจ และกระบวนการเรียนรู้มันเกิดขึ้นแล้ว เราเห็นว่า ‘งูเห่า’ ทุกรุ่นที่ผ่านมา พอถึงเวลาเลือกตั้งก็สอบตกกันหมด บางคนได้คะแนนแค่หลักพัน จากที่เคยชนะเป็นหมื่น สังคมได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเขาไม่ยอมรับ”
อมรัตน์ กล่าวว่า “คนที่ก้าวเข้ามาในพรรคนี้ (พรรคประชาชน) ตั้งแต่เสนอตัวเป็นผู้สมัคร เชื่อว่าเขาถูกคัดกรองโดยสถานการณ์มาแล้วในระดับหนึ่ง พวกเขาต้องมีความหนักแน่นและรู้ว่าเส้นทางนี้มันลำบาก ไม่ใช่คนที่เข้ามาเพื่อหวังลาภยศแล้วจะมาผิดหวังง่ายๆ ทุกคนตระหนักรู้ร่วมกันว่ามันมีอุปสรรค
แน่นอนว่ามนุษย์ย่อมมีช่วงเวลาที่เหนื่อยหรือท้อ แต่เมื่อเรามารวมกลุ่มกัน อยู่ในบรรยากาศที่มีอุดมการณ์หนักแน่นเหมือนกันมันช่วยได้ เวลามีคนหนึ่งห่อเหี่ยว กระบวนการของกลุ่มก็จะช่วยฉุดดึงและเติมกำลังใจให้กัน มันทำให้เราฟื้นฟูใจกันและกันได้เสมอ”
แต่คำถามที่มักเจอคือการเป็นฝ่ายค้าน ไม่มีงบพัฒนาพื้นที่ ในมุมมองของ อมรัตน์ มองว่า “ยอมรับว่าเป็นงานยาก เพราะเราอยู่ใน ‘รอยต่อ’ ระหว่างการเมืองเก่ากับการเมืองใหม่ สิ่งที่ต้องทำคือใช้ความทุ่มเทอธิบาย ให้พี่น้องประชาชน ‘คาดหวังให้ถูก’ ว่าควรคาดหวังอะไรจาก สส. และอะไรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
หน้าที่ของ สส. คือการออกกฎหมาย ตรวจสอบการทำงานในกรรมาธิการ ไม่ได้มีงบประมาณในมือ ส่วนเรื่องความเจริญทางวัตถุ ถนน น้ำไหล ไฟสว่าง ต้องคาดหวังจาก อบจ. หรือเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองต้องใชทุนทรัพย์ ในมุมมองของ อมรัตน์ มองว่า “เราพยายามหาเงินเข้าพรรคหลายวิธีตั้งแต่สมัยอนาคตใหม่ ทั้งการขายของออนไลน์ที่ถูกสกัดกั้น หรือการกู้เงินที่คุณธนาธรให้กู้ (เพื่อไม่ให้เป็นหนี้บุญคุณ) ก็ถูกตัดสินยุบพรรคหาว่าเป็นรายได้
ทุกวันนี้เราอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากประชาชนจริงๆ ตอนยุบพรรคก้าวไกล เดือนเดียวเราได้เงินบริจาคมา 30 ล้านบาท และยังมีเงินอุดหนุนพรรคการเมืองจาก กกต. ที่ประชาชนผู้เสียภาษีมอบให้เราเป็นอันดับ 1 มาตลอด มันทำให้คนรู้สึกเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน
แม้การเบิกเงินจาก กกต. จะมีระเบียบหยุมหยิมและยากมาก แต่เราก็จะเดินหน้ารณรงค์ต่อไป เตรียมจัดทำแคมเปญบริจาครายเดือนผ่านการตัดบัญชี และกำลังจะมีงานระดมทุนโต๊ะจีนในเร็วๆ นี้”
“รางวัลของเรามันอาจจะจับต้องไม่ได้ มันคือเรื่องอุดมการณ์ คือการได้เห็นประเทศมีพัฒนาการทางการเมืองที่ดีขึ้น การได้เห็นสังคมค่อยๆ ‘กระเถิบ’ ไปข้างหน้าทีละนิด นั่นก็คือรางวัลแล้ว
เราเห็นรางวัลอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากเสียงสะท้อนในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เวลาไปลงพื้นที่ การต้อนรับและกำลังใจที่ได้รับจากประชาชนมันชัดเจนมาก รวมถึงผลโพลทุกสำนักที่ชี้ตรงกันว่าถ้าเลือกตั้งวันนี้ พรรคประชาชนคือพรรคอันดับ 1 นี่คือสิ่งที่ทำให้รัฐบาลไม่กล้ายุบสภา เพราะกลัวการเลือกตั้ง นี่คือรางวัลที่สง่างามของเรา” อมรัตน์ กล่าว
ด้านเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส. ผู้คร่ำหวอดในวงการการเมือง เริ่มต้นสนทนากับเราด้วยการทลายมายาคติที่ว่าการเป็นฝ่ายค้านคือฝันร้าย เขามองว่าในทางกลับกัน มันคือ "โอกาส" ที่จะสร้างผลงานและเรียกความเชื่อถือจากประชาชนได้
"คนที่เป็นฝ่ายค้านถ้าสร้างผลงานดี มันก็สร้างความเชื่อถือให้กับสังคม... เราจะเห็นพรรคประชาธิปัตย์ฟื้นขึ้นมาทุกครั้งหลังจากเป็นฝ่ายค้าน เพราะเขามีฝีมือในการค้านและค้านจริงจัง ทุกครั้งที่เป็นฝ่ายค้าน เขาเกิดทางการเมือง"
เทพไทฉายภาพให้เห็นว่า ในอดีต พรรคประชาธิปัตย์ใช้บทบาทฝ่ายค้านเป็นเวทีแจ้งเกิด พิสูจน์ฝีมือในการตรวจสอบอย่างเข้มข้น จนได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้กลับมาเป็นรัฐบาลในที่สุด รางวัลของการทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบคือ "คะแนนเสียง" ที่ประชาชนมอบให้
เทพไทมองว่าเมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายค้านในปัจจุบัน (พรรคประชาชน) เห็นถึงความท้าทายที่แตกต่างออกไป ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การขาดงบประมาณ แต่อยู่ที่ "ความน่าเชื่อถือ" ที่สังคมยังคงตั้งคำถาม
เทพไท กล่าวว่า "บังเอิญว่าฝ่ายค้านชุดนี้... มันมีข้อสงสัยจากสังคม จากพื้นฐานของพรรคที่คนมองว่ามี DNA เดียวกับพรรคเพื่อไทย และพฤติการณ์หลายอย่างทำให้คนคิดว่ายังแตะมือกันอยู่หรือเปล่า ทำให้คนมองว่าเป็นฝ่ายค้านไม่ 100%"
ยิ่งไปกว่านั้น การประกาศตัวเป็น "ฝ่ายค้านเชิงสร้างสรรค์" ที่พร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลในเรื่องที่ดี และคัดค้านเฉพาะเรื่องที่ไม่เห็นด้วย แม้จะดูเป็นแนวทางใหม่ แต่ในมุมมองของคุณเทพไทกลับทำให้บทบาทไม่โดดเด่นและไม่สามารถเก็บคะแนนนิยมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
"บทบาทเขาไม่โดดเด่น คะแนนที่จะได้จากฝ่ายค้านมันไม่ได้ 100% เพราะไอ้สิ่งที่คุณเชียร์ มันกลายเป็นคะแนนของรัฐบาล... ทำให้สังคมเห็นว่าฝ่ายค้านยุคนี้มันไม่มีน้ำหนัก ไม่จริงจังเหมือนเมื่อก่อน"
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมือง คืออิทธิพลของ "เงิน" ที่เข้ามามีบทบาทเหนือ "อุดมการณ์" เทพไทกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าการเมืองยุคนี้ขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์เป็นหลัก
"การเมืองยุคนี้มันไม่ได้มีเรื่องอุดมการณ์อะไรมาเกี่ยวข้อง มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ล้วนๆ... นักการเมืองยุคนี้มันไม่มีอุดมการณ์ อะไรก็ได้ขอให้กูอยู่รอด"
ปรากฏการณ์ "งูเห่า" หรือ สส. ที่พร้อมจะย้ายขั้วสวนมติพรรค กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะบริบททางการเมืองและกฎหมายที่เปลี่ยนไป ในอดีต หาก สส. ถูกขับออกจากพรรคจะพ้นจากสมาชิกภาพทันที แต่ปัจจุบัน พวกเขาสามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ภายใน 30 วัน ทำให้พรรคการเมืองขาดอำนาจในการควบคุม สส. อย่างสิ้นเชิง
เทพไทเสริมว่า "ปรากฏการณ์งูเห่า ปรากฏการณ์แจกกล้วย มันมีเยอะในยุคปัจจุบัน" เพราะการ "ซื้อ สส." ที่มีตำแหน่งแน่นอน กลายเป็นเรื่องที่คุ้มค่าและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการทุ่มเงินมหาศาลเพื่อส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งโดยไม่มีหลักประกันว่าจะชนะ
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการคือ "คุณภาพของ สส." ในอดีต นักการเมืองที่เข้าสู่สภาฯ ได้มักเป็นผู้ที่มีทักษะในการปราศรัย มีฝีปากกล้า สามารถอภิปรายตรวจสอบได้อย่างโดดเด่น ทำให้แม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่ประชาชนในพื้นที่ก็รู้สึกภาคภูมิใจ
แต่ในปัจจุบัน เมื่อ สส. จำนวนมากเข้าสภาฯ มาได้ด้วยการ "ซื้อเสียง" ทำให้ขาดทักษะในการทำหน้าที่ในสภาฯ "พอเป็นฝ่ายค้านแล้วจะไม่มีผลงาน เหตุที่ไม่มีผลงานเพราะคนเหล่านี้มันพูดไม่เป็น ตรวจสอบไม่เป็น เพราะได้มาด้วยการซื้อเสียง... เขานั่งรอเป็นรัฐบาลแล้วก็รอเงินทอน รอเงินรับเหมาแค่นั้นเอง"
เทพไททิ้งท้ายว่า การเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว พรรคที่ขายอุดมการณ์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับ สส. ที่มาจากระบบอุปถัมภ์และการใช้เงิน เมื่อประชาชนคุ้นชินกับการเมืองแบบเก่าที่เน้นการพัฒนาในพื้นที่ การเป็น สส. ฝ่ายค้านที่ไม่มีงบประมาณไปพัฒนา ยิ่งทำให้ทำงานได้ยากลำบากขึ้น
บทบาทของฝ่ายค้านในวันนี้ จึงยืนอยู่บนทางแพร่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง ระหว่างการยึดมั่นในอุดมการณ์เพื่อสร้างศรัทธาระยะยาว กับการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์และเงินตรา ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่พรรคฝ่ายค้านยุคใหม่ต้องขบคิด เพื่อพิสูจน์ตัวเองในสนามการเมืองที่ไม่มีอะไรง่ายเหมือนเดิม
จากบทสนทนากับนักการเมืองสองรุ่น สองขั้วความคิด อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และ เทพไท เสนพงศ์ ได้สะท้อนภาพการเป็น "ฝ่ายค้าน" ที่แตกต่างกัน
ในมุมของ อมรัตน์ มองว่าการเป็นฝ่ายค้านไม่ใช่ฝันร้าย แต่คือ "ความท้าทาย" ที่จะพิสูจน์คุณค่า "อุดมการณ์" คือเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุด ส่วน "งูเห่า" เป็นเพียงสินค้าหลุด QC ที่พลังของประชาชนจะคัดออกไปเองในท้ายที่สุด โดยมีเงินบริจาคจากมวลชนเป็นท่อน้ำเลี้ยง และมี "ชัยชนะของประชาชน" กับความไว้วางใจที่ได้รับ เป็นรางวัลสูงสุดที่จับต้องไม่ได้แต่สง่างาม
ขณะที่มุมมองของ เทพไท มองว่าการเป็นฝ่ายค้านเป็น "โอกาส" ในการสร้างผลงานเช่นกัน แต่ฝ่ายค้านยุคใหม่กลับมีปัญหา "ความน่าเชื่อถือ" เพราะท่าที "ค้านเชิงสร้างสรรค์" ที่ไม่ชัดเจน ทำให้สังคมกังขาในบทบาท เขามองว่าการเมืองปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วย "ผลประโยชน์และเงินตรา" มากกว่าอุดมการณ์ ซึ่งทำให้ปรากฏการณ์ "งูเห่า" และ "แจกกล้วย" กลายเป็นเรื่องปกติ และเป็นความท้าทายที่พรรคการเมืองอุดมการณ์ต้องเผชิญอย่างยากลำบาก