SHORT CUT
พาส่องเศรษฐกิจไทยไตรมาสสาม เดือดดาลดั่งงูไฟ นักเศรษฐศาสตร์ เผยการเมืองกดดันเศรษฐกิจ หลังนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9:0 รับคำร้องสว.ยื่นถอดถอน "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ขณะที่มติ 7:2 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวตั้งแต่1ก.ค.2568 เป็นต้นไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ให้ส่งเอกสารชี้แจงภายใน 15 วัน เรื่องนี้ความคิดเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ อย่าง ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวเข้าสู่ครึ่งหลังของปีงู ด้วยการเผชิญเรื่องร้อนๆ อย่างเต็มแรง และเสี่ยงเติบโตช้าลงช่วงครึ่งปีหลัง แต่สำนักวิจัยฯ ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2568 ไว้ที่ 1.8% แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับการคาดการณ์ไปสู่ระดับ 2.3% จาก 2.0% จากแรงส่งที่แรงกว่าคาดของ GDP ไตรมาส 1 ที่ขยายตัวถึง 3.1% และส่งที่เติบโตได้ดี
แต่หากพิจารณาสถานการณ์ไตรมาส 2 และแนวโน้มไตรมาส 3 แล้ว ยากจะเชื่อมั่นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะความเดือดดาลทางการเมืองระหว่างประเทศและในประเทศค่อนข้างฉุดรั้งความเชื่อมั่น นอกจากนี้ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.50% ปลายไตรมาส 3 และ 1.25% ปลายปีนี้ ส่วนค่าเงินบาทน่าอยู่ที่ระดับ 32.90 ปลายไตรมาส 3 และ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐสิ้นปีนี้
เศรษฐกิจไทยชะงักงัน
เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกเติบโต 3.1% จากกรณีพิเศษ จึงไม่อยากให้ดีใจมากนัก ทั้งมาจากมาตรการแจกเงินภาครัฐ และการเร่งส่งออกไปสหรัฐก่อนมาตรการภาษี แต่ย่างเข้าไตรมาส 2 เริ่มเห็นความเสี่ยงปะทุเข้ามาจากปัจจัยสงครามการค้า ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสเทียบไตรมาสไม่น่าจะขยายตัวเลย แต่ไตรมาส 2 ปีนี้เทียบปีก่อน น่าจะขยายตัว 2.2% ซึ่งสภาพัฒน์ฯจะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งวันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะชะงักงันลากยาวตลอดทั้งปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 แบบ YoY จะโตเพียง 1.1% และ 0.7% ตามลำดับ เป็นที่มาของการยืนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ 1.8% เทียบปีก่อนที่ 2.5% แล้วปัจจัยเสี่ยงมาจากไหนบ้าง
การท่องเที่ยว – พระเอกที่หลบซีน
นักท่องเที่ยวจีนหายไปราว 33% ช่วง 5 เดือนแรก นักท่องเที่ยวมาเลเซียเริ่มลดลง แม้นักท่องเที่ยวอินเดียและรัสเซียจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่อาจชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนได้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้ 34.5 ล้านคน ลดลงจาก 35.5 ล้านคน แม้รายจ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น แต่การท่องเที่ยวไม่ใช่ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พื้นที่กรุงเทพน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดตามด้วยพัทยาและเชียงใหม่ เพราะเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวจีน
ส่วนโซนภาคใต้ โดยเฉพาะภูเก็ต กระบี่ และสมุย น่าจะยังฟื้นตัวต่อได้ช่วงปลายปีซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของชาวยุโรป การที่รายได้ท่องเที่ยวแทบไม่เติบโต จะกระทบต่อกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร การใช้จ่ายด้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนส่ง ค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งการแข่งขันและต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น มาตรการท่องเที่ยวเมืองรองทำได้เพียงประคองสถานการณ์ไม่ให้ทรุดไปมากกว่านี้ หากเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่ใช้จ่ายน้อย ก็พอจะชดเชยกลุ่มนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จากจีนที่หายไปได้บ้าง
และกลุ่มโรงแรมประเภทสามดาวหรือโรงแรมประเภทประหยัดน่าได้ประโยชน์ แต่สิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้ดีน่าจะมาจากการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว สร้างความปลอดภัยในประเทศ ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดกับผู้กระทำผิดต่อนักท่องเที่ยว พร้อมกับหาเส้นทางบินใหม่ๆ และลดข้อจำกัดด้านวีซ่าแก่นักท่องเที่ยว
การเมืองกดดันเศรษฐกิจ หลังนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว
สำหรับความไม่แน่นอนทางการเมืองกำลังกดดันเศรษฐกิจไทย 3 เรื่องหลัก ได้แก่ (1) ความเชื่อมั่นภาคเอกชนถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศชะลอการลงทุน อีกทั้งเอกชนอาจระมัดระวังมากขึ้นโดยเฉพาะโครงการที่ต้องพึ่งพางบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องของนโยบายได้ ความเชื่อมั่นอาจไม่ลดลงมากนัก แต่ให้ระวังเสถียรภาพรัฐบาลหากพรรคร่วมมีแรงกดดันให้ทบทวนจุดยืนหรือเกิดการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล อาจนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด
แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่ผลกระทบในระยะสั้นในทันที (2) การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอาจจำกัดขึ้น แม้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ ไม่น่ามีผลต่อการเบิกงบประมาณรายจ่าย โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการระหว่างรอเลือกตั้ง รองนายกฯ สามารถผลักดันโครงการต่างๆ ได้ แต่การตอบสนองต่อเงินจากมาตรการทางการคลังที่ใส่ไปในระบบเศรษฐกิจอาจมีประสิทธิผลน้อยลงหากความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง
แต่หากการเมืองเดินหน้าไปสู่การยุบสภาฯ ก็อาจกระทบต่องบประมาณในปี 2569 ที่อาจล่าช้ากระทบเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ถึงไตรมาส 2 ปีหน้า และ (3) ผลกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาให้สหรัฐลดอัตราภาษีนำเข้าจากไทย แม้อาจจะไม่กระทบในระยะสั้น ซึ่งตัวแทนการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐน่าจะได้พบคุยกันตามกำหนดการเดิม แต่ห่วงว่าสหรัฐอาจใช้ประเด็นเสถียรภาพการเมืองไทยในการต่อรองเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น สำหรับทางออก รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนเรื่องการปรับเปลี่ยนผู้นำประเทศ ด้วยการแสดงวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้การเมืองกลายเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลาสำคัญนี้
กนง. ตรึงดอกเบี้ยไม่อยู่
นโยบายดอกเบี้ยของไทยอยู่ในภาวะที่ท้าทายอย่างมาก แม้อัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายมาต่อเนื่อง แต่ กนง. ยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย โดยให้เหตุผลเรื่องการรักษาเสถียรภาพในระยะยาวและความจำเป็นในการสะสม "ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย" เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการผ่อนคลายนโยบายอาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจริง
โดยเฉพาะในช่วงที่การบริโภคและการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และภาระหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเทศคู่ค้าในเอเชียหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง สำนักวิจัยฯ มองว่า ธปท. ควรพิจารณาน้ำหนักของเศรษฐกิจจริงมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ปัจจัยเชิงโครงสร้างและความเสี่ยงภายนอกกำลังกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงคาดว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.50% ในรอบการประชุมเดือนสิงหาคมและลดอีกครั้งเหลือ 1.25% ในรอบการประชุมธันวาคม
เศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะถดถอยไหม?
เศรษฐกิจไทยปีงูเผชิญแรงกดรอบด้านเดือดดาลเหมือนงูไฟ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ซบเซา นักท่องเที่ยวหาย การบริโภคแผ่ว ตลาดยานยนต์ซึม กำลังซื้ออ่อนแอ สินเชื่อหดตัว อัตราดอกเบี้ยสูง เงินบาทแข็งกระทบส่งออก การเมืองสั่นคลอน ปัจจัยต่างประเทศร้อนแรง ในฉากทัศน์นี้ กรณีฐาน (Base case) คาด GDP ปีนี้โตแค่ 1.8% เข้าข่ายเศรษฐกิจชะงักงัน และอาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หาก GDP หดตัวต่อเนื่องสองไตรมาสติดใน Q3 และ Q4 โดยเฉพาะหากปัจจัยลบหนักกว่าคาด เช่น สงครามน้ำมัน ราคาน้ำมันพุ่ง หรือการเมืองไทยยืดเยื้อ ยิ่งกดดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่ำสุดเหลือเพียง 1.4% กรณีดีที่สุด (Upside) หากส่งออกฟื้น มาตรการกระตุ้นกระจายตัวได้จริง การเมืองไม่ป่วน และน้ำมันลดราคา GDP มีโอกาสโตได้สูงสุดราว 2.3%
ไม่ว่าฉากทัศน์ไหน จะรุ่ง รอด หรือริ่ง สัญญาณชัดคือเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงโตต่ำต่อเนื่องไปถึงปีหน้า หากยังไม่เร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง และยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุนจากต่างชาติ
ข่าวเศรษฐกิจ
นายกฯ คุยตรง "ฮุนเซน-ฮุนมาเนต" เห็นพ้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ต้องการสนามรบ
Entertainment Complex - รัฐบาลชี้เป็นเครื่องยนต์ เศรษฐกิจตัวใหม่
เดินหน้าเช็กบิล ‘อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ’ ต่อ ทำเศรษฐกิจไทยพัง