svasdssvasds

กรุงเทพฯ ครองอันดับ 1 จังหวัดที่มีการใช้จ่าย "คนละครึ่ง" มากที่สุด

กรุงเทพฯ ครองอันดับ 1 จังหวัดที่มีการใช้จ่าย "คนละครึ่ง" มากที่สุด

คลังเผยยอดใช้จ่าย "คนละครึ่ง" ทะลุ 7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนใช้จ่าย 51% รัฐใช้จ่าย 49% จังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากสุด คือ กทม.13.93%

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการ "คนละครึ่ง" โดยยอดการใช้จ่ายล่าสุดเมื่อวานนี้ (21ม.ค.) อยู่ที่ 6.92 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นการใช้จ่ายโดยประชาชนประมาณ 51% ส่วนที่เหลือเป็นการใช้จ่ายโดยรัฐบาลประมาณ 49% สะท้อนว่า ประชาชนได้มีการใช้จ่ายเกินกว่าที่ภาครัฐสมทบให้ ช่วยให้การบริโภคในภาพรวมของประเทศดีขึ้น

สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการในขณะนี้มีอยู่จำนวน 13.66 ล้านคน จะครบ 15 ล้านคนทั้งสองเฟสต่อเมื่อประชาชนที่มาลงทะเบียนรอบเก็บตกจำนวนกว่า 1.3 ล้านคนเข้ามาใช้สิทธิในเวลาที่กำหนด คือ ในวันที่ 25 ก.พ.นี้(วันที่เริ่มใช้จ่าย)

ทั้งนี้ โครงการนี้ เริ่มต้นการใช้จ่ายตั้งแต่เฟสแรกวันที่ 1 ต.ค.2563 จนถึง ปัจจุบัน ซึ่งเป็นการดำเนินการในเฟสที่สอง จะสิ้นสุดระยะเวลาโครงการในวันที่ 31 มี.ค.นี้

สำหรับจำนวนร้านค้าที่ลงทะเบียนร่วมโครงการคนละครึ่งมีจำนวน 1.12 ล้านแห่ง ในจำนวนนี้เป็นร้านค้าที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว 7.5 แสนแห่ง รอดำเนินการตรวจสอบ 3.55 หมื่นแห่ง ไม่เข้าเงื่อนไขโครงการ 7.58 พันแห่ง ติดต่อไม่ได้/ไม่สนใจเข้าร่วมโครงการ 3.3 แสนแห่ง และยกเลิกการลงทะเบียน 900 แห่ง

ทั้งนี้ เมื่อแยกตามประเภทธุรกิจ จะพบว่า ร้านอาหารและเครื่องดื่มมีจำนวนมากที่สุด โดยมีถึง 4.26 แสนร้านค้า รองลงมาเป็นร้านค้าทั่วไปและอื่นๆ 2.57 แสนแห่ง ,ร้านธงฟ้าประชารัฐ 4.72 หมื่นแห่ง และร้านโอทอป 1.84 หมื่นแห่ง ทั้งนี้ เป็นร้านค้าที่มีหน้าร้าน 6.16 แสนแห่ง และไม่มีหน้าร้านหรือเป็นหาบเร่แผงลอยอยู่ 1.33 แสนแห่ง

เมื่อแบ่งตามพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านค้า พบว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง มากที่สุด คือ ภาคกลางจำนวน 4.61 แสนแห่ง , ภาคใต้ 2.01 แสนแห่ง , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.96 แสนร้านค้า , ภาคตะวันออก 1.07 แสนแห่ง , ภาคเหนือ 1.06แสนแห่ง และภาคตะวันตก 5.1 หมื่นแห่ง

จังหวัดที่มีร้านค้าเข้าร่วมมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร 1.8 แสนแห่ง ,ชลบุรี 5.1 หมื่นแห่ง , เชียงใหม่ 4.1 หมื่นแห่ง , สมุทรปราการ 4 หมื่นแห่ง , นนทบุรี 3.9 หมื่นแห่ง , สงขลา 3.7 หมื่นแห่ง , ปทุมธานี 3.6 หมื่นแห่ง , นครราชสีมา 3.2 หมื่นแห่ง , นครศรีธรรมราช 2.9 หมื่นแห่ง และ สุราษฎร์ธานี 2.8 หมื่นแห่ง

เมื่อแยกตามสัดส่วนการใช้จ่ายเงิน พบร้านค้าที่มีประชาชนมาใช้จ่ายเงินมากที่สุด คือ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 39% ,ร้านค้าทั่วไป มีสัดส่วนการใช้จ่ายเงินอยู่ที่ 35% , ร้านธงฟ้าประชารัฐ 18% และ โอทอป มีสัดส่วนการใช้จ่ายเงินอยู่ที่ 8%

สำหรับจังหวัดที่มียอดการใช้จ่ายเงินสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานครมียอดการใช้จ่ายเงินสะสม 9.22 พันล้านบาท 13.93% , สงขลา 2.65 พันล้านบาท 4% , ชลบุรี 2.58 พันล้านบาท 3.9% , เชียงใหม่ 2.34 พันล้านบาท 3.54% และ นครศรีธรรมราช 2.24 พันล้านบาท 3.38%

related