svasdssvasds

ถอดวิธีคิด ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร รู้เขา รู้เรา รบกี่ครั้งก็ชนะ

ถอดวิธีคิด ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร รู้เขา รู้เรา รบกี่ครั้งก็ชนะ

กรณีศึกษา การจองฉีดวัคซีนโควิด-19 เฟสแรก ภายใต้การบริหารจัดการของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ทำให้นึกถึงคำกล่าวที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ในตำราพิชัยสงครามซุนวู ที่มีการนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ จนประสบความสำเร็จ

“รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” มีที่มาจากตำราพิชัยสงครามซุนวู (The Art of War) ที่อายุกว่า 2,600 ปี แต่ก็มีการนำมาประยุกต์ใช้จนถึงทุกวันนี้

และจากการที่ SPRiNG ได้สัมภาษณ์ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ ลำปาง อย่างเจาะลึก (เปิดวิสัยทัศน์ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เตรียมแผนฉีดวัคซีนโควิด ให้ชาวลำปาง 70 %) จากกรณีที่ลำปาง มียอดผู้จองวัคซีนโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ (แต่ถ้าเทียบเป็นอัตราส่วน ลำปางมียอดจองฉีดวัคซีนมากที่สุด) โดยผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ได้เน้นถึงความรู้ ความเข้าใจในด้านต่างๆ เมื่อนำมาประมวลผล และปรับวิธีการ วางกลยุทธ์ ก็ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

ทำให้คำกล่าวว่าที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ลอยขึ้นมาในหลายครั้งๆ ระหว่างการสัมภาษณ์  ซึ่ง SPRiNG ขอนำมาแจกแจง โดยใช้การจองฉีดวัคซีนของชาวลำปาง เป็นกรณีศึกษา ดังต่อไปนี้

1. รู้เป้าหมาย ตั้งเป้าหมาย

แม้ตำราพิชัยสงครามซุนวู จะถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นกลยุทธ์ในการทำศึกสงคราม  แต่ก็มีการประยุทธ์มาใช้ในการบริหารในโลกยุคใหม่ จนได้รับการยกย่องว่า เป็นสุดยอดแห่งศาสตร์ด้านการจัดการ ที่ผู้บริหารต้องเรียนรู้

โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการทำงานต่างๆ ไม่ว่างานเล็ก หรืองานใหญ่ นั่นคือว่า เป้าหมายของเราคืออะไร ? และสิ่งแรกที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ขบคิด ซึ่งคำตอบก็คือ การทำให้ชาวลำปางจองฉีดวัคซีนได้มากที่สุด โดยมีการตั้งเป้าหมายไว้ 70 % ของผู้ได้รับสิทธิ์

“การที่เราจะทำงานอะไรก็ตาม ต้องมีการวางแผนที่ดีก่อน เป้าหมายของเราก็คือ ต้องการให้ชาวลำปางฉีดวัคซีน (ให้ได้มากที่สุด)”

ซึ่งกลุ่มผู้มีอายุเกิน 60 ปี และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ในลำปาง คือผู้ได้รับสิทธิ์ในเฟสแรก มีประมาณ 2.5 แสนคน เป้าที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ วางไว้ในเวลานั้นก็คือ จะต้องมีผู้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน 2 แสนรายขึ้นไป  

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร

2. รู้เขา : รู้อุปสรรค และการแก้ไข   

เมื่อรู้เป้าหมายแล้ว อันดับต่อมาก็คือ การรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด โดยสิ่งแรกที่เห็นก็คืออุปสรรคในการลงทะเบียนจองวัคซีนโควิด-19  ผ่านระบบหมอพร้อม ซึ่งเป็นได้ลำบาก เพราะผู้ได้รับสิทธิ์เฟสแรก เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ กับผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหลายรายเป็นผู้ป่วยติดเตียง

“อย่างผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง คนสูงอายุ (กลุ่มที่ได้รับสิทธิ์จองฉีดวัคซีนเฟสแรก) กลุ่มคนเหล่านี้เขาจะลงทะเบียนในระบบหมอพร้อมเป็นไหม (หรือได้ไหม)”

เมื่อเห็นอุปสรรคตรงนี้ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ และทีมทำงาน จึงได้มีการปรับกลยุทธ์ ใช้แนวทางลงพื้นที่เคาะประตูบ้านเป็นหลัก ผ่านเครือข่าย อสม. ที่มีอยู่ในแต่ละชุมนุม  ทั้งเพื่ออธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ ว่าการฉีดวัคซีนมีความสำคัญอย่างไร และใช้เป็นช่องทางหลักในการลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงเปิดคอลเซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง เพื่ออธิบายข้อสงสัยต่างๆ ให้กระจ่าง และให้บริการลงทะเบียนด้วยเช่นกัน

“คุณเชื่อไหม ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม ประมาณสัก 10 % แต่ลงผ่านคอลเซ็นเตอร์ กับ อสม.ลงพื้นที่พบปะประชาชน ประมาณ 90 %” ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์กล่าว

ฉีดวัคซีนฌควิด-19 ลำปาง

3. รู้เขา : รู้ปัญหาของเขา และสื่อสารกับเขา ในภาษาของเขา

อีกปัญหาหนึ่งที่ถือว่าเป็นโจทย์ใหม่มาก นั่นก็คือมีชาวบ้านในกลุ่มเป้าหมายจำนวนไม่น้อย กลัวการฉีดวัคซีน ไม่ต้องการจะฉีดวัคซีน รวมถึงที่จังหวัดลำปางเอง เคยเกิดเคสบุคลากรทางแพทย์หลายรายมีอาการข้างเคียง จนเป็นข่าวโด่งดังก่อนหน้านี้

“ถ้าชาวบ้านไม่อยากฉีด เพราะกลัว เพราะกังวล หากต้องการสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจ ก็ต้องพูดคุยด้วยภาษาบ้าน บ้าน โดย อสม.กับสาธารณสุข ใช้วิธีลงพื้นที่ เคาะประตู คุยกับชาวบ้านเลย 

“อธิบายกับพวกเขาว่า  การจองฉีดวัคซีนโควิด-19 คือสิทธิพึงมี ที่รัฐจัดให้ ถ้าไม่จอง หากวันข้างหน้าต้องการวัคซีนขึ้นมา ก็จะหาไม่ได้ จึงควรจองคิวไว้ก่อน แต่ถ้ายังกลัว ถ้าสละสิทธิ์ วัคซีนก็ยังอยู่ เราก็สามารถนำไปฉีดให้คนถัดๆ ไปได้”

โดยผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างการอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ ด้วยการเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัว เช่น การฉีดวัคซีนโควิด-19 กับลอตเตอรี่ว่า...

“ผมไปอ่านเจอมา เขาบอกว่า ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการแพ้รุนแรง เหมือนถูกลอตเตอรี่ รางวัลที่ 1

“ฉีดวัคซีนแล้วแพ้เล็กน้อย  ก็เหมือนถูกเลขท้าย 2 ตัว

แต่ถ้าไม่ฉีด หากติดเชื้ออาจป่วยหนัก... ก็เหมือนกับถูกหวยกิน”

4. รู้เรา : รู้ศักยภาพของตัวเอง

ตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ เป้าหมายในเฟสแรก ในกลุ่มผู้มีอายุเกิน 60 ปี และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง นั่นก็คือ ต้องมีผู้จองลงทะเบียนฉีดวัคซีน 2 แสนรายขึ้นไป ส่วนเป้าหมายในเฟสต่อไป นั่นก็คือ ชาวลำปางต้องลงทะเบียนฉีดวัคซีน 5 แสนรายขึ้นไป เพื่อให้เกิน 70 % ของจำนวนประชาชน เพื่อทำให้ลำปางปลอดจากโควิด-19

ซึ่งจากความสำเร็จของเฟสแรก ทำให้การลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนในเฟสต่อไปเพื่อให้ครบ 5 แสนรายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องหนักใจมากนัก  เพราะสามารถนำโมเดลจากเฟสแรก ที่ประสบความสำเร็จ มาประยุกต์ใช้ได้

ดังนั้นในวันนี้ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์จึง ได้มองข้ามช็อต ไปถึงฉีดวัคซีนให้กับชาวลำปาง 70 % ของจังหวัด หรือ 5 แสนให้ได้เร็วที่สุด โดยอันดับแรก ต้องรู้ศักยภาพของจังหวัดก่อน เพื่อประเมิน และหาวิธีเพิ่มศักยภาพ ในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย

“การฉีดวัคซีนให้ประชาชน 5 แสนโดส ก็ต้องประเมินว่า ศักยภาพของเรามีเท่าไหร่ (รู้เรา) โดยทุกโรงพยาบาลในจังหวัดจะให้บริการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลเฉพาะทาง ฯลฯ

“(เท่าที่ประเมินตรงนี้) กำลัง (ศักยภาพ) ของเราคือ ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้  5 พันรายต่อวัน

“ถ้าทำงาน 22 วันทำการ จะฉีดได้ 1.2 แสนราย ต่อเดือน

“แต่ถ้าฉีดวัคซีนทุกวัน (รวมเสาร์-อาทิตย์) ก็จะได้ 1.5 แสนราย ต่อเดือน

“และถ้าเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่านี้ วันหนึ่งอาจจะฉีดวัคซีนให้ได้ 6 พันรายต่อวัน เดือนหนึ่งก็ฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ 2 แสนราย และนี่คือเป้าหมาย ในการฉีดวัคซีน ที่เราวางไว้”

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร

และทั้งหมดนี้ ก็คือการถอดบทเรียน กรณีศึกษาในการจองฉีดวัคซีนในจังหวัดลำปาง ที่ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำ นักบริหารจัดการของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น  

related