svasdssvasds

"หมอธีระ" ห่วงผู้ป่วยโควิดกักตัวที่บ้านเกิดอาการคงค้าง แนะวางแผนดูแล

"หมอธีระ" ห่วงผู้ป่วยโควิดกักตัวที่บ้านเกิดอาการคงค้าง แนะวางแผนดูแล

"หมอธีระ" ชี้การให้กักตัวอยู่ที่บ้านหรือ home isolation นั้นจะมีโอกาสเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ตามมา ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด และหมั่นสังเกตอาการของสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกันทุกวัน หากไม่สบายก็ต้องรีบไปตรวจ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ประเด็น การให้กักตัวอยู่ที่บ้านหรือ home isolation นั้นจะมีโอกาสเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ตามมา โดยระบุว่า

  จากยอดรายงานของไทยเมื่อวานนี้ จำนวนติดเชื้อใหม่ของเราสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก โดยมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติตอนนี้ถึง 2,783 คน มากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก และมีเคสสะสมในระบบดูแลรักษากว่า 85,000 คน 

 การตัดสินใจเรื่องการให้กักตัวอยู่ที่บ้านหรือ home isolation นั้นจะมีโอกาสเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ตามมา ซึ่งประชาชนต้องตระหนักและเตรียมรับมือให้ดี เพราะมีคนจำนวนน้อยที่จะมีที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่เพียงพอในการแยกออกจากสมาชิกในบ้าน ดังนั้นการติดเชื้อแพร่เชื้อกันภายในบ้าน หอพัก คอนโด แฟลต หรือชุมชนต่างๆ จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด และหมั่นสังเกตอาการของสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกันทุกวัน หากไม่สบายก็ต้องรีบไปตรวจ

 Blomberg B และคณะ ตีพิมพ์ผลการศึกษาในนอร์เวย์ ติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กักตัวอยู่ที่บ้านจำนวน 247 คน ณ 6 เดือน พบว่ามีถึง 55% ที่รายงานว่ายังมีอาการผิดปกติคงค้างอยู่ โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่ อาการอ่อนเพลียพบได้ถึง 30%, ดมกลิ่นหรือลิ้นรับรสผิดปกติ 27%, ไม่มีสมาธิ 19%, สูญเสียความจำ 18%, เหนื่อยหอบ 15%

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• "หมอธีระ" แนะล็อกดาวน์ทั้งประเทศ 1 เดือน ควรปรับ ครม.เปิดทางประเทศฝ่าวิกฤต

• "หมอธีระวัฒน์" แจงปมพยาบาลดับแม้ฉีด "วัคซีนซิโนแวค" ครบ 2 เข็ม

• หมอธีระวัฒน์ โพสต์ โควิดวิกฤตนานแล้ว ฉีดวัคซีนโควิด 2 เข็มก็แพร่เชื้อ

ทั้งนี้พบว่าเด็กที่อายุ 0-15 ปี จะพบอาการคงค้างน้อยกว่าช่วงอายุอื่น โดยมีเพียง 13%

 อาการคงค้างที่เราเรียกว่า Long COVID หรือ Post-acute COVID หรือ Chronic COVID syndrome นั้น มีงานวิจัยที่รายงานมากขึ้นเรื่อยๆ พบได้ตั้งแต่ 10-55% ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากรและลักษณะทางคลินิก

ไทยเราอาจต้องวางแผนเพื่อจัดระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการคงค้างนี้ด้วย

คงดีที่สุด หากสามารถป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อ

ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เรื่องนี้สำคัญมาก

ด้วยรักและห่วงใย

related