svasdssvasds

สรุปให้ องค์กรวิชาชีพสื่อ แถลง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม.9 ข้อ 11 กระทบสิทธิประชาชน

สรุปให้ องค์กรวิชาชีพสื่อ แถลง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม.9 ข้อ 11 กระทบสิทธิประชาชน

6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลทบบทวน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม.9 ข้อ 11 ชี้ ปิดกั้นสื่อ กระทบสิทธิประชาชน ไม่มีความชัดเจน หวั่นมุ่งเน้นไปยังข้อมูลด้านความมั่นคงของรัฐ เพราะไม่มีการระบุ “สถานการณ์โควิด-19”

จากกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 มาตรา 9 โดยในข้อ 11 ระบุว่า “มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

"การเสนอข่าว หรือการทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดควาหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น...

"เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”

โดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ , สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย , สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย , สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย , สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ขอให้ทบทวนข้อกำหนดดังกล่าว โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. ข้อกำหนดไม่ชัดเจน การดำเนินคดีอยู่ในดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

จากการเปรียบเทียบกับข้อกำหนดก่อนหน้านี้ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และต้องเป็นการเสนอข่าว หรือเผยแพร่ข้อความอันไม่เป็นความจริง รวมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่ต้องเตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อน

แต่ข้อกำหนดล่าสุด ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม.9 ข้อ 11 ระบุแต่เพียงว่า “...ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดควาหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน...”

ซึ่งไม่ได้มีการระบุเงื่อนไขสำคัญนั่นก็คือ “สถานการณโควิด-19” อีกทั้งการดำเนินคดียังให้อยู่ในดุลยพินิจของงเจ้าหน้าที่

ฉะนั้นแล้ว หากข่าวสารนั้นเป็นความจริง แต่เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจว่า “..อาจทำให้ประชาชนเกิดควาหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิด...” ก็จะส่งผลกระทบกับการทำหน้าที่สื่อฯ และการรับรู้และเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องของประชาชน 

สื่อมวลชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2. มีความกังวลว่า รัฐบาลอาจมุ่งเน้นไปยังข้อมูลด้านความมั่นคงของรัฐ

ด้วยไม่มีการระบุถึง “สถานการณ์โควิด-19” ในข้อกำหนดดังกล่าว รวมถึงก่อนหน้านี้มีกฎหมายหลายฉบับที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ระงับยับยั้งหรือดำเนินคดีกับสื่อมวลชน หรือประชาชน ที่เผยแพร่ข้อมูลโดยมีเจตนาบิดเบือน อยู่แล้วหลายฉบับ

จึงเกิดความกังวลว่า การประกาศใช้ข้อกำหนดนี้ มุ่งเน้นไปยังสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐด้วย   

3. เรียกร้องให้รัฐใช้กลไกความร่วมมือ มากกว่ากลไกกฎหมาย

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีหลายครั้งที่ความสับสนของประชาชนและสื่อมวลชน เกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดของฝั่งรัฐ

ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ก็ได้ให้ความร่วมมือในการประสานงานเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ผ่านสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิก ไปยัง ศบค.

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงเสนอให้รัฐบาลใช้กลไกความร่วมมือในการขจัดปัญหาการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร มากกว่าที่จะใช้กลไกทางกฎหมาย

ปิดกั้นสื่อ

4. ขอให้ทบทวน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม.9 ข้อ 11

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม.9 ข้อ 11 เพื่อมิให้นำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ของประชาชน

และทั้งหมดนี้ก็ข้อเรียกร้องของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ (โดยสรุป) ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไร 

สมาคมสื่อ

สมาคมสื่อ

ภาพโดย Markus Winkler จาก Pixabay 

related