svasdssvasds

วิโรจน์ ชี้ ตรวจ Rapid Antigen Test แล้ว ต้องเข้าถึงการรักษา เข้าถึงยาได้เลย

วิโรจน์ ชี้ ตรวจ Rapid Antigen Test แล้ว ต้องเข้าถึงการรักษา เข้าถึงยาได้เลย

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์ถึงปัญหา การตรวจ Rapid Antigen Test ที่แม้ผลจะออกมาว่าติดเชื้อโควิด แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิ์การเข้าถึงการรักษา เข้าถึงยา เพราะมีข้อกำหนด ต้องใช้ผลการตรวจ RT-PCR แล้วอย่างนี้ จะปลดล็อก Rapid Antigen Test ทำไม ?

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กชำแหละปัญหาด้านการตรวจโควิด แม้รัฐจะอนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้ Rapid Antigen Test แต่ไม่สามารถใช้สิทธิได้ ต้องรอ ก็ยังต้องรอคิวตรวจ RT-PCR ก่อน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปัจจุบัน รัฐบาลได้อนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้ Rapid Antigen Test (RAT) ในการตรวจตนเองได้แล้ว และเริ่มใช้มาตรการกักตัวรักษาตนเอง หรือ Home Isolation (HI) แล้วเช่นกัน คำถาม คือ ทั้ง RAT และ HI มีวัตถุประสงค์อะไร

1. Rapid Antigen Test (RAT) มีเป้าหมายสำคัญ คือ

1.1 ให้ผู้ติดเชื้อตรวจพบการติดเชื้อ (ผลเป็นบวก) ของตนอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้กันตัวเองออกมาจากครอบครัว และชุมชน เพื่อลดการแพร่ระบาดต่อไปยังผู้อื่น

1.2 ให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ที่ยังมีอาการไม่มากนัก เพื่อป้องกันไม่ให้อาการหนักขึ้น จากเชื้อไวรัสลงปอด และปอดอักเสบ ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

ปัจจุบัน ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีจำนวนผู้รอเตียงตกค้างสะสมเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน มีผู้ป่วยจำนวนมากต้องรอคอยโดยเข้าไม่ถึงการรักษา กว่าจะได้เตียงก็มีอาการหนักขึ้น บางรายถึงกับอยู่ในสภาวะวิกฤตต้องใส่ท่อช่วยหายใจ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2. เป้าหมายของการกักตัวรักษาตนเอง หรือ Home Isolation (HI) ที่ถูกต้อง

2.1 เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษา เข้าถึงยา และเวชภัณฑ์ อย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้อาการของโรคทุเลาลง และมีโอกาสหายป่วยได้ มีระบบในการติดตามอาการ การจัดส่งอาหารระหว่างกักตัว และระบบการไปรับตัวมารักษาที่โรงพยาบาลหากพบว่าอาการหนักขึ้น

2.2 เพื่อจะได้จัดสรรเตียงที่โรงพยาบาล เอาไว้ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนักปานกลาง อาการหนัก และภาวะวิกฤติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย และป้องกันไม่ให้ระบบสาธารณสุขของประเทศล้มเหลว

3. สิ่งที่ประชาชนต้องประสบ

แต่สิ่งที่ประชาชนประสบอยู่ในปัจจุบัน กลับตรงกันข้ามกับหลักการดังกล่าว ประชาชนที่ใช้ RAT ตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง แล้วพบว่าติดเชื้อ เมื่อติดต่อไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิ ก็ยังต้องรอคิวตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันผลอีก 1-2 วัน ตรวจแล้วต้องรอผลทาง SMS อีก 2-3 วัน และยังต้องรอผลที่เป็นเอกสารอีก 1-2 วัน เบ็ดเสร็จแล้วประชาชนอาจจะต้องรอถึง 5-6 วัน หลังจากที่ทราบว่าตนเองติดเชื้อจาก RAT แล้ว

ทั้งๆ ที่ การตรวจแบบ RAT ก็มี False Positive (ตรวจพบว่าติดเชื้อ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ติด) ต่ำมาก เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล ก็เข้าใจความทุกข์ยากของประชาชนเป็นอย่างดี แต่ก็ยืนยันว่า ถ้าไม่มีผลตรวจ RT-PCR จะไม่สามารถเบิกได้ ทำอะไรไม่ได้ ต้องรอผลตรวจ RT-PCR

กระบวนการราชการ ที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรต่อภาวะวิกฤติ เช่นนี้ มีแต่จะทำให้อัตราการเสียชีวิตของประชาชนเพิ่มมากขึ้น เพราะหากประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้รับยาต้านไวรัส Favipiravir ก่อนที่จะประสบกับภาวะปอดอักเสบ ก็จะสามารถลดโอกาสการเสียชีวิตได้

ทำไมทั้งๆ ที่ประชาชนรู้ผลจาก Rapid Antigen Test แล้วแท้ๆ ทำไมต้องให้เขารอคอยความตาย จากกระบวนการธุรการของระบบราชการถึง 5-6 วัน

และถ้าสภาพยังคงเป็นแบบนี้ คือ ประชาชนที่รู้ผลตัวเองจาก RAT ยังคงถูกละเลยให้ดูแลตัวเองตามยถากรรมแบบนี้ ตัวเลขจริงของผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ตัวเลขดังกล่าวจะถูกกลบด้วยการที่พวกเขาเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข รัฐบาลต้องการเช่นนั้นหรือ

สำหรับระบบ Home Isolation (HI) ที่ให้ประชาชนโทรศัพท์เข้าไปที่ 1330 แล้วกด 14 หรือ Add LINE @covcovid-19 ที่มีการตั้งงบประมาณค่าอุปกรณ์วัดไข้ อุปกรณ์วัดออกซิเจนให้ผู้ป่วยไปใช้ที่บ้าน 1,100 บาท ค่าอาหาร 3 มื้อ วันละ 1,000 บาท เป็นหลักการที่ดี

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องตระหนักก็คือ การเข้าถึงยารักษาโรค ซึ่งต้องย่นย่อกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่เริ่มมีอาการเข้าถึงยา Favipiravir อย่างทันท่วงทีให้ได้

4. ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล 4 ข้อ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชน

4.1 เมื่อมีผลตรวจจาก RAT ว่าติดเชื้อ ต้องลงทะเบียนผู้ป่วย โดยได้เลขผู้ป่วยนอก HN (Hospital Number) ทันที

4.2 ให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ Home Isolation ได้ทันที เมื่อทราบผลจาก RAT โดยให้นายกรัฐมนตรี ออกประกาศตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเว้นงานธุรการที่ทำให้ประชาชนต้องรอความตายในภาวะวิกฤตให้หมด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้เร็วที่สุด

4.3 ให้การตรวจ RT-PCR เป็นการยืนย้นผลตรวจเท่านั้น แต่ไม่ควรเป็นคอขวดขวางการเข้าถึงการรักษาของประชาชน

4.4 ระหว่างกระบวนการลงทะเบียน Home Isolation ซึ่งต้องใช้เวลาในการจัดหาอุปกรณ์วัดไข้ อุปกรณ์วัดออกซิเจน และลงทะเบียนในระบบจัดหาอาหาร หากพบว่าผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง เริ่มมีอาการ ควรออกประกาศที่ชัดเจน ให้แพทย์สามารถจ่ายยาตามคำวินิจฉัยได้ รวมทั้งยา Favipiravir ให้กับผู้ติดเชื้อในฐานะผู้ป่วยนอก (OPD) ได้ทันที ก่อนที่จะมีอาการหนัก (ภายใน ~5 วันนับวันที่เริ่มมีอาการ)

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

5. ฝากให้รัฐบาลดำเนินการควบคู่กัน คือ การมีวิสัยทัศน์ต่อยา และเวชภัณฑ์

5.1 ปัจจุบันมียาต้านไวรัสไม่ได้มีเฉพาะ Favipiravir มียาหลายตัว โดยเฉพาะยาที่เรียกว่า “Monoclonal Antibody หรือภูมิคุ้มกันสังเคราะห์” ที่ผ่านการขึ้นทะเบียน FDA EUA (Emergency Use Authority) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีการใช้งานจริงแล้ว และคาดว่าน่าจะมีประสิทธิผลในการรักษาที่สูงกว่า Favipiravir เช่น

- Casirivimab/imdevimab (REGEN-COV) ได้ขึ้นทะเบียน FDA EUA 21 พ.ย. 20

- Sotrovimab ขึ้นทะเบียน FDA EUA 26 พ.ค. 21

ฯลฯ

กระทรวงสาธารณสุข ควรติดตามวิวัฒนาการของยาที่มีประสิทธิผลเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และเร่งจัดหามาให้แพทย์ได้เลือกใช้ตามข้อบ่งชี้ ตามการวินิจฉัย ที่หลากหลายเพียงพอ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนให้ลดลงกว่าที่เป็นอยู่นี้ให้ได้

5.2 ยาสำคัญอื่นๆ เช่น ยารักษาภาวะปอดอักเสบ เช่น Tocilizumab ฯลฯ และยาที่จำเป็นต้องใช้ในห้อง ICU เช่น Nimbex, Propofol และยา Midazolam เพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ในสภาวะหลับลึก เพื่อที่จะได้นอนคว่ำนิ่งๆ ได้ รวมทั้งยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นอื่นๆ

ก็ขอความกรุณาให้รัฐบาลช่วยติดตามสต๊อกของยาเหล่านี้ด้วยครับ เพื่อให้แพทย์ได้เลือกใช้ตามการวินิจฉัยอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยชีวิตของประชาชนให้ได้มากที่สุดครับ

ที่มา Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

related